“สวนผักชุมชน” : พื้นที่สีเขียว(กินได้)ของเมืองหาดใหญ่
“สวนผักชุมชน” : พื้นที่สีเขียว(กินได้)ของเมืองหาดใหญ่
ชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลาคนเมืองเช่นหาดใหญ่มักซื้อผักหรือผลไม้จากตลาด หรือไม่ก็ศูนย์การค้า ผักผลไม้เหล่านั้นผ่านมือพ่อค้าคนกลางมากหน้า หลายพื้นที่ กว่าจะมาถึงครัวขึ้นกระทะแล้วเป็นอาหารลงท้อง ล้วนผ่านเวลาและระยะทางยาวไกล ผลิตผลส่วนใหญ่ถูกปลูกขึ้นโดยมือใครก็ไม่รู้ มีการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในกระบวนการผลิตมากน้อยเพียงใดไม่มีใครบอกได้
การทำ “สวนผักชุมชน” หรือ “สวนผักคนเมือง” จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำมาสู่การผลิตอาหารแบบพึ่งตนเองของคนเมืองที่ปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจ
ว่าไปแล้วการทำ “สวนผักชุมชน” ก็เป็นแนวทางหนึ่งของการทำเกษตรในเมือง(Urban Agriculture) ที่ Luc J.A. Mougeot, 2000 ได้ให้นิยามว่า “การปลูกหรือการเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และการกระจายสิ่งที่เป็นผลผลิตที่เป็นอาหารอย่างเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้นซึ่งเกิดขึ้นและมีอยู่ในและรอบๆพื้นที่เมืองกล่าวคือ พื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมและย่านพาณิชย์ตั้งอยู่ หรือในขอบเขตของพื้นที่ที่ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลาง โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นมุ่งเน้นดำเนินไปเพื่อตอบสนองคนที่อยู่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นเป็นสำคัญ”
เครือข่ายชุมชนเมือง
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาที่ศูนย์เรียนรู้สวนผักชุมชนบ้านบังสวาสดิ์ หมัดอาดัม ชุมชนริมควน ของเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิชุมชนสงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่ นำเครือข่ายชุมชนใกล้เคียงและชุมชนฝั่งคลองเตย อาทิ ชุมชนริมคลองร.1 เทศาพัฒนา วัดหาดใหญ่ใน พรุแม่สอน แม่ลิเตา โรงปูน คลองเตย นำสมาชิกร่วมห้าสิบคนมาร่วมเรียนรู้การปลูกผักคนเมือง
โดยมีครูไก่-วุฒิศักดิ์ เพ็ชรมีศรี นักวิชาการเกษตรอำเภอหาดใหญ่เป็นวิทยากรหลักประจำกิจกรรม ครูไก่เน้นความประหยัด ไม่สิ้นเปลือง ใช้วัสดุที่เหลือใช้ในครัวเรือน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพ
พื้นฐานคนเมืองต่างคนต่างอยู่ บ้านใกล้เรือนเคียงก็ไม่ได้รู้จักกัน การนำคนเมืองมาเรียนรู้การปลูกผักจึงเป็นช่องทางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน นำมาสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งต่อไป ชุมชนริมคลองเตยหาดใหญ่ต้องการฟื้นฟูคลองเตย สร้างชุมชนสีเขียวด้วยการเริ่มต้นปลูกผักและลดรายจ่ายในครัวเรือน หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการกำจัดมลภาวะจากแหล่งกำเนิดระดับครัวเรือน เป็นพื้นฐานก่อนขยับไปสู่ชุมชน
สมาชิกชุมชนริมควน
บังสวาสดิ์ หมัดอาหลี
การเรียนรู้เกิดขึ้นจากเรื่องง่ายๆ เช่น การเพาะถั่วงอกในขวด ที่สามารถทำได้ตลอดเวลา นำมาใส่ตู้เย็น ถั่วงอกเพาะเองจะมีราก ขณะที่ในตลาดมีการตัดราก ใส่น้ำส้มฆ่ายางแช่ไว้ทำให้เกิดความกรอบแต่ไม่มีรสชาติ มีการฟอกสีทำให้ขาวอันตรายต่อสุขภาพ
ถั่วเขียว 1 กก.สามารถเพาะถั่วงอกได้ 6 กก. วิธีการเพาะ เริ่มจากนำขวดน้ำที่ไม่ได้ใช้แล้วเปิดก้นขวดน้ำเป็นรูเล็กๆ เจาะข้างให้อากาศเข้าไปในขวด นำถั่วเขียวมาแช่ 1 คืนหรือ 12 ชม. นำมาเทใส่ขวดน้ำ ในปริมาณถั่วเขียวสัดส่วน 1 ใน 6 ส่วนของขวด รดน้ำเช้าเย็นด้วยการจุ่มลงในน้ำ ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ เช้า เที่ยง เย็น 3 วันสามารถนำไปรับประทานได้ โดยตัดขวดแบ่งครึ่ง การเพาะเองเราไม่ต้องตัดรากรับประทาน นอกจากนั้นยังสามารถเพาะในถาดหรือตะกร้าใส่ขนมจีน
เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ ลดภาระรายจ่ายในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็เข้าถึงความรู้ถึงต้นตอสาเหตุของการเกิดมลภาวะ เช่น น้ำเสีย กลิ่นเหม็น หรือผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนสารเคมีในท้องตลาด สร้างทางเลือกให้กับคนเมืองในการใช้ชีวิต
หรือจะลองของแปลก เช่นการปลูกมะเขือห้อยหัว ก็สามารถเรียนรู้ได้อาศัยหลักการที่ว่าต้นไม้ปลูกแบบใดก็ตามจะฝืนแรงโน้มถ่วงของโลก รากจะต้องลงสู่ดิน
วิธีการก็คือ นำกระถางมา 1 ใบ ใส่ดิน คว่ำลง ปักกิ่งกล้าไม้ที่จะปลูกลงในก้นกระถาง จนรากเริ่มโต จากนั้นก็จับตีลังกา ห้อยหัว ผักจะเริ่มโงหัวขึ้นตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันเราก็ปลูกต้นไม้หรือผักอื่น ลงบนกระถางไปด้วย เพื่อใช้ประโยชน์หน้าดินว่าง การปลูกเช่นนี้จะแก้ปัญหาแมลงรบกวน
หรือจะลองเลี้ยงไส้เดือน เลือกพันธุ์อัฟริกันที่มีคุณสมบัติสามารถย่อยเศษอาหารเพื่อเป็นปุ๋ยบริสุทธิ์ ปุ๋ยที่ได้จะมีจุลินทรีย์มากกว่าน้ำหมักชีวภาพ 3 เท่า วิธีการก็คือนำเศษผักผลไม้ในครัวเรือน ตามปริมาณไส้เดือน 1 กก.จะกินเศษอาหารได้ 3 กก. ให้ไส้เดือนย่อยจนได้ปุ๋ยอินทรีย์ไปปลูกผักอินทรีย์ 100%
บ้านบังสวาสดิ์ มีการเลี้ยงแพะ ไส้เดือนของที่นี่ได้กินมูลแพะเป็นอาหาร บังสวาสดิ์ได้เริ่มเรียนรู้การปลูกผักในปล้องบ่อ ต่อมาเห็นว่าล้อยางหาได้ไม่ยาก จึงนำล้อยางรถยนต์มาปรับใช้ในการปลูกผัก แล้วก็ป้องกันไม่ให้ไก่ที่เลี้ยงไว้มารบกวนผัก จึงได้ทำอุโมงค์ผัก คลุมด้วยตาข่ายเป็นที่ปลูกผัก และให้ผักได้เลื้อยขึ้นเกาะค้างบนอุโมงค์ ได้ประโยชน์หลายทาง
ปลูกผักในล้อยาง
การปลูกผักในล้อยางทำได้ไม่ยาก เริ่มจากนำล้อยางที่เหลือทิ้ง ล้อยาง 1 ล้อมาปลูกผักได้ 1 กก. เวลารดน้ำ น้ำจะขังในล้อด้วย สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย การกรีดยางให้กรีดด้วยมีดงอ(เคียวตัดหญ้า) ยางที่ใช้ไม่ควรเป็นยางตาย การปลูกเริ่มจากหากระสอบปุ๋ยมารองพื้น ให้โผล่ชายกระสอบไว้เพื่อดึงดิน มาคลุกใหม่(หลังดินเสื่อม) การวางล้อยางสามารถวางซ้อนได้หลายชั้น เตรียมดิน ใช้มะพร้าวสับรองพื้นเพื่อดูดซับน้ำ ใส่ดินด้านบนไม่มากเพราะรากพืชสั้น ไม่ยาว เติมขี้เถ้าแกลบเพื่อปรับสภาพ รดน้ำให้ชุ่ม (ทดสอบด้วยการใช้นิ้วจิ้มลงดูความเย็นในเนื้อดิน) ใส่ต้นกล้าผัก ปักรากลงในเนื้อดิน รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อผักโตให้เติมดินและปุ๋ย
หากมีแมลงมารบกวน ก็มีวิธีการกำจัดแมลงง่ายๆ แมลงทุกชนิดชอบสีเหลือง ให้นำไม้ใส่ขวดใส่ในถุงพลาสติกสีเหลือง นำกาวเหลืองสำหรับดักแมลงทาบนถุงพลาสติก แมลงทุกชนิดจะมาตอนเช้ามืดและกลางคืนตอนดึก จะบินไปติดกาวบนพลาสติก
ภาชนะอื่นที่นำมาปลูกผักได้ เช่น กล่องโฟม แกลลอน ขวดน้ำ กระถาง เหล่านี้ล้วนแต่สิ่งที่ถูกทิ้งไว้จนกลายเป็นขยะ
ชุมชนมาร่วม ได้ลองปลูกผักในล้อยาง และปลูกในกระสอบ นำกลับบ้าน
สวนปู่กับย่า
การทำเกษตรเมืองในอีกนัยหนึ่งก็คือการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เมืองใหญ่ๆล้วนต้องการพื้นที่สีเขียวไว้ฟอกอากาศ การสร้างพื้นที่สีเขียวที่กินได้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม มากกว่าจะเริ่มด้วยการลงทุนของภาครัฐหรือท้องถิ่นฝ่ายเดียว
สวนสมรมคนเมืองป้าสมหมาย
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สมาชิกอีกส่วนหนึ่งก็ได้ลงไปเรียนรู้ที่สวนปูกับย่า (สวนสมรมคนเมือง)ของป้าสมหมาย ตุกชูแสง ชุมชนวัดหาดใหญ่ใน ที่นี่มีฐานเรียนรู้ย่อยหลายฐาน
สมาชิกได้ร่วมเรียนรู้การนำผักขึ้นค้าง ที่ใช้เอ็นเส้นใหญ่ถักคลุมเหมาะสำหรับการให้พืชได้ทอดเลื้อยมีช่องให้เก็บที่ผลได้อาศัยช่องว่างอาศัย ปลูกพืชหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ถั่วพู แตงกวา มะระ ปลูกผสมผสานกันจะทำให้แมลงรบกวนน้อยกว่าปลูกพืชชนิดเดียว พืชจำพวกนี้จะยืดตัวขึ้นวันละ 5 ซม.
บริเวณชั้นล่าง ทำกะบะดินสำหรับปลูกพืชที่ใช้แสงน้อย น้ำน้อย สามารถเก็บกินได้ตลอดเวลา เช่น ผักกูด หรือขมิ้น ขิง ข่า
การปลูกผักขึ้นค้าง
ป้าสมหมายปลูกมะเฟือง อดีตประสบปัญหามีหนอนตลอดเวลา หนอนนี้เกิดจากแมลงวันทอง หรือแมลงผลไม้(ตามชนิดที่ปลูก) มาเจาะแล้วไข่ แม้จะห่อกระดาษกันแล้วก็ช่วยไม่ได้เพราะไปห่อในช่วงผลไม้ลูกใหญ่ หากจะห่อให้ได้ผลควรห่อตั้งแต่ลูกยังเล็ก
ครูไก่แนะนำให้ทำกับดับแมลง โดยใช้ฮอร์โมนเพศของแมลงวันทองเป็นตัวล่อ ฮอร์โมนชนิดนี้ทำจากกะเพราแดง นำมาขยี้แช่กับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 2-3 วันนำมาหยดใส่สำลี ใส่ไว้ในขวด ใส่น้ำ เจาะรู ตัดขวดที่มีเพียงหัวขวดและคอขวดใส่ในรู แมลงที่ตามกลิ่นฮอร์โมนเข้าไปจะตกอยู่ในน้ำในขวด หรือนำถุงพลาสติกสีเหลืองมาทากาวเหลืองดักแมลง ล่อแมลงมาติดกาว
กับดักแมลง
สวนป้าสมหมาย เคยเจอปัญหาดินเสื่อมสภาพ ครูไก่เลยแนะนำการห่มดิน เพื่อเป็นการพื้นสภาพดินให้กลับมาสมบูรณ์เช่นเดิม ด้วยการนำชานอ้อยมาคลุมดินไว้ประมาณ 2 เดือนคลุมให้ทั่วบริเวณดินที่เสื่อมสภาพ ดินจะฟื้นตัว ก่อนคลุมดินด้วยชานอ้อยให้ผสมมูลสัตว์รองพื้น แล้วรดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ 2 เดือน ทุกวันนี้ดินในสวนของป้าสมหมายพื้นตัวพร้อมที่จะปลูกพืชใหม่ๆ
การเลี้ยงไส้เดือน
ป้าสมหมาย เลี้ยงไส้เดือนพันธุ์อัฟริกาช่วยย่อยเศษอาหาร ไส้เดือนนี้ราคากก.ละ 1200 บาท การทำโรงเลี้ยงไส้เดือน พื้นด้านหนึ่งควรสูงกว่าอีกด้าน พร้อมเจาะรูให้น้ำผ่าน มีกะละมังรองรับน้ำเยี่ยวของไส้เดือน การทำโรงเลี้ยงนำกองดินและไส้เดือนมารวมกัน แยกดินเป็น 3 กอง กองเก่า กลาง และใหม่ เว้นช่องว่าง เติมอาหารไส้เดือนได้แก่เศษผักผลไม้ในกองดินใหม่ ไส้เดือนจะคลานมาหาเศษอาหาร เราจะได้นำดินเก่าไปทำปุ๋ย ไส้เดือนนี้จะมีอายุ 3-4 ปี หากเราฉีดน้ำให้ชุ่ม ไส้เดือนจะเยี่ยวออกมาให้เราได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์ เป็นน้ำที่มีคุณสมบัติดีกว่าน้ำหมักชีวภาพหลายเท่า เวลาใช้ฉีดรดผักให้ผสมน้ำ 2 ช้อนต่อน้ำ 5-10 ลิตร หากใส่ในดินจะช่วยพรวนดิน ขยันกว่าไส้เดือนพันธุ์ท้องถิ่นหลายเท่า
นอกจากนี้เหนือโรงไส้เดือนให้กั้นเป็นคอกไก่ เลี้ยงไก่ไข่ ขี้ไก่ปกติจะมีแอมโมเนีย หากเลี้ยงไว้ให้ไส้เดือนช่วยย่อยจะไม่มีกลิ่น บริเวณใกล้ๆคอกไก่ควรกั้นเป็นลานเพื่อให้ไก่ได้คลายเคลียด ไม่ควรขังนานเกิน 10 วัน
เหล่านี้คือความรู้ที่ชุมชนเมืองสามารถเรียนรู้ได้ เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่สุดก็ว่าได้ที่ได้ห่างหายไปจากชีวิตและเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างแรงจูงใจให้ลุกขึ้นมาปลูกผักหรือทำสวนผักชุมชนด้วยตนเอง
ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว(กินได้)ในชุมชนของตัวเอง พัฒนาไปสู่เมืองสีเขียวในอนาคต.
Relate topics
- กิจกรรมตรวจรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SGS PGS ปี 2567
- ภาคีเครือข่ายร่วมวางแผนนำอาหารปลอดภัยเข้าสู่โครงการลดโรค NCDs เมืองควนลัง
- ภาคเอกชนร่วมเรียนรู้จากภาคประชาสังคม ภาครัฐหนุนเสริม "งานบูรณาการความร่วมมือเครือข่ายสวนผักคนเมืองหาดใหญ่"
- "สวนผักคน(เมือง)พะตง"
- "ห้องเรียนสวนผักคนเมืองวาระพิเศษ"
- "ห้องเรียนสวนผักคนเมืองกับการเตรียมการรองรับสังคมสูงวัย"
- ห้องเรียนสวนผักคนบ่อยางประจำเดือนกรกฎาคม 2566
- "ห้องเรียนสวนผักคนเมืองหาดใหญ่" ประจำเดือนมิถุนายน 2566
- "ห้องเรียนสวนผักคนเมืองบ่อยาง" ประจำเดือนมิถุนายน 2566
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลัง เมืองบ่อยางและเครือข่ายสวนผักคนเมืองร่วมต้อนรับและหารือการทำงานร่วมกับเกษตรจังหวัดสงขลาคนใหม่