เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน ตอนที่ 1

by Little Bear @18 ส.ค. 52 19:08 ( IP : 61...2 ) | Tags : บทความ , เยือนอเมริกา , ดูงาน

โดย ชาคริต โภชะเรือง เล่าประสบการณ์มูลนิธิชุมชนในต่างแดน

เยือนอเมริกา

ฟังคำบรรยายภาพรวมของการดูงาน

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมกับพรรคพวกในมูลนิธิชุมชนสงขลามีโอกาสดีได้ไปดูงานที่อเมริกา เราไปดูต้นกำเนิดแนวคิดการทำมูลนิธิชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่อีกเรื่องที่เรากำลังจะดำเนินการ ทั้งหมดนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานร่วมกับหลายองค์กรในพื้นที่และนอกพื้นที่โดยเฉพาะ Nida ที่เป็นเ้จ้าภาพ ร่วนกันชักชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรธุรกิจที่มีใจทำงานเพื่อสังคม ร่วมกันพัฒนาแนวคิดเรื่องมูลนิธิชุมชนในประเทศไทย

มูลนิธิชุมชน หรือ Community Foundation ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1914 ณ เมือง Cleveland รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ในนาม Cleveland Foundation โดย Fredrick Goff นายธนาคารผู้มีชื่อเสียงแห่ง Cleveland Trust Company ปัจจุบัน “มูลนิธิชุมชน Cleveland” มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกา มีทรัพย์สินกว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการบริหารจัดการกองทุนเพื่อพัฒนา ชุมชนมากกว่า 800 กองทุน และกระจายทุนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนเป็นจำนวนเงินมากกว่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ความสำเร็จของมูลนิธิชุมชนในสหรัฐอเมริกาเป็นที่ยอมรับและแนวความคิดนี้แพร่ หลายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเชื่อกันว่า “มูลนิธิชุมชน” จะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของท้องถิ่น และเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทุนเพื่อชุมชนของตนเอง จากรายงานประจำปีของ WINGS แจ้งว่าในปี พ.ศ.2547 มีมูลนิธิชุมชนกระจายไปถึง 1,175 มูลนิธิ ใน 46 ประเทศ มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5%

มูลนิธิชุมชนเป็นองค์กรทุนที่ก่อตั้งขึ้นโดยชุมชนในพื้นที่นั้นๆ จาก 3 ภาค ส่วน คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคม ร่วมกันบริหาร เพื่อประโยชน์ของชุมชนนั้นๆ อาจจะระดมทุนเองจากภายในหรือภายนอก จากนั้นกระจายทุนหรือทรัพยากรที่ได้ไปช่วยคนในชุมชน หรืออาจจะเป็นแบบประสานเครือข่ายในชุมชนมารวมพลังกันไปช่วยในประเด็นต่างๆ มูลนิธิชุมชนมีการสร้างกองทุนสะสมเพื่อความยั่งยืน (Endowment Fund) และ มีกองทุนที่เจาะจงช่วยเหลือในประเด็นต่างๆได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค มูลนิธิชุมชนสามารถเป็นเวทีกลางสะท้อนปัญหาที่มีในชุมชน เพื่อระดมสรรพกำลังลงไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์

ในประเทศไทยแนวความคิดเรื่อง “มูลนิธิชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 – 2544) ที่รัฐได้ให้ความสำคัญต่อองค์กรชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 ที่เน้นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สถาบันซีเนอร์กอส (The Synergos Institute) จากสหรัฐอเมริกาได้จุดกระแสแนวคิดเรื่องมูลนิธิชุมชนในประเทศไทยในปี 2545

ต่อมานายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้เปิดให้ได้ประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับ 14 องค์กร คือ 1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 2) สถาบันคีนันแห่งเอเชีย 3) มูลนิธิรักษ์ไทย 4) มูลนิธิกองทุนไทย 5) มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย 6) มูลนิธิปูนซิเมนต์ไทย 7) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 9) กองทุนพัฒนาเมืองในภูมิภาค 10) ธนาคารออมสิน 11) วิทยาลัยการจัดการสังคม 12) สถาบันการจัดการความรู้ท้องถิ่น 13) ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ 14) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ของการเกิดมูลนิธิชุมชนในประเทศ ไทย

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทางศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ Nida อาศัยทุนทางสังคมซึ่งก็คือลูกศิษย์ทั้งหลายในแต่ละพื้นที่มาร่วมกันพัฒนาแนว คิดนี้ และล่าสุดจังหวัดสงขลาและสตูล ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้ และปัจจุบันทั้งสองจังหวัดอยู่ระหว่างการยื่นจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิ

ณ วันที่ผมกำลังเขียนบันทึกอยู่นี้ มูลนิธิชุมชนสงขลาได้จดทะเบียนก่อตั้งเรียบร้อยแล้ว และผมเองก็ได้เป็นกรรมการคนหนึ่งของมูลนิธินี้

หลายคนอาจจะสงสัย มูลนิธิชุมชนนี้จะมีความแตกต่างจากมูลนิธิทั่วไปอย่างไร? ทำไมจึงถูกมองว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาชุมชน? สำคัญอย่างไรทำไมเราจะต้องไปศึกษาเรียนรู้?

กล่าวโดยทั่วไป ลักษณะสำคัญของมูลนิธิชุมชนมีดังต่อไปนี้

  1. การก่อตั้งมูลนิธิชุมชน เป็นความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ร่วมกันก่อตั้ง และบริหารด้วยความเสมอภาคกัน
  2. มีพื้นที่ชุมชนชัดเจนที่จะดำเนินงาน (กรณีบ้านเราจะเลือกพื้นที่ระดับจังหวัด)
  3. มูลนิธิชุมชนมีบทบาทและหน้าที่ในการระดมทุน (Resource Mobilization) จากภายในและภายนอกชุมชน เพื่อนำมาช่วยเหลือโครงการที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เป็นการบริหารจัดการด้วยประชาชนในชุมชน
  4. มูลนิธิ ชุมชนมีหน้าที่ในการกระจายทุน และประสานงานกับองค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนด้านต่างๆ
  5. มูลนิธิชุมชนจะมีเงินกองทุนถาวร (Endowment Fund) สะสมไว้ และทำให้กองทุนถาวรนี้มีการเติบโตและยั่งยืน(บ้านเรายังไม่มีองค์กรใดทำอย่างจริงจัง)
  6. มูลนิธิชุมชนมีระบบการบริหารงานที่โปร่งใส และมีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้สาธารณชนรับทราบสม่ำเสมอ

เยือนอเมริกานั้นคือหลักการทั่วไป อย่างที่บอก แนวคิดนี้ว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก การส่งเสริมการให้เช่นนี้ในโลกตะวันออกเองผมว่าเรามีรูปแบบที่หลากหลาย มีลักษณะของการพึ่งพิงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น การแบ่งปันข้าวของเงินทอง การบริจาค การทำบุึญ การจัดงานเลี้ยงน้ำชาช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก การทำซะกาต ฯลฯ หากเราสามารถพัีฒนาหรือต่อยอดทุนเดิมนี้ขึ้นมาโดยประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบ การบริหารจัดการโดยมูลนิธิ ด้านหนึ่งนอกจากจะสร้างความเข้มแข็งบนฐานการพึ่งตนเองของชุมชนแล้วยังเป็น การพัฒนาศาสตร์ของการให้ในส่วนของความรู้ด้านนี้ด้วย

และแม้นว่าระหว่างขวบปีที่เราเตรียมตัวก่อตั้ง คณะทำงานมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้แนวคิดและร่วมพัฒนาแนวทางการทำมูลนิธิในสงขลามาระยะหนึ่งแล้ว การมีโอกาสได้ไปดูงานถึงอเมริกาก็ย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจและเปิดโลกการ เรียนรู้ได้อีกไม่น้อย

คณะดูงานในคราวนั้นทางประเทศไทยมี 6 ชีวิต ประกอบด้วยทีมงานของศูนย์สาธารณะประโยชน์ 3 คน และทีมงานจังหวัดสงขลาอีก 3 คน เ้ราใช้วิธีนัดหมายกันต่างคนต่างมา ผมเองนั้นเดินทางมากับคุณชิต ประธานกรรมการชุดก่อตั้ง คุณชิตเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดและศิษย์เก่า Nida

เราเริ่มออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 3 มีนาคม 2552 ไต่มิติเวลาจากอีกซีกโลกไปอีกซึกโลก

เยือนอเมริกา

สนามบินกรุงโซล เกาหลีใต้

ขึ้นเครื่องตอนเช้าของวันใหม่ ใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก ผมตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เป็นเวลาเช้าตรู่ของวันใหม่ ราวๆ 8.00 น. เรามาถึงกรุงโซล-ประเทศเกาหลีซึ่งที่นั่นเต็มไปด้วยหิมะ อากาศหนาวเยือก แต่เราอยู่ในสนามบินที่ควบคุมอุณหภูมิไว้ทำให้ไม่ได้สัมผัสความเย็นยะเยือกที่มองเห็นทะลุกระจกหนาอยู่ตรงหน้า

ทุกคนตื่นเต้นกับรูปปูนปั้นศิลาของสัตว์ตามราศีเกิด เดินสำรวจดูพบว่ามีครบทุกราศี เราต่างเข้าไปยืนทักทายชักชวนให้ถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก ผมนึกชมทีมงานด้านวัฒนธรรมของเกาหลีที่คิดเชิงรุก นำวิถีวัฒนธรรมของชาติมาให้ผู้มาเยือนสัมผัสสร้างความประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบย่างบนแผ่นดิน

เยือนอเมริกา

หิมะโปรยปรายเหนือสนามบินกรุงโซล

จนเวลา 12.30 น. เราขึ้นเครื่องอีกครั้งมุ่งหน้าไปที่เมืองแอตแลนต้า อเมริกา คราวนี้ทั้งหลับทั้งตื่น อาศัยหนังสือและรายการหนังที่ไว้บริการผู้โดยสารฆ่าเวลา ผมดูหนังจนแทบจะครบทุกเรื่องก็ว่าได้ สลับกับรายการอาหารของเกาหลีรสชาติแปลกลิ้น เครื่องบินไต่ตะเข็บเวลามาอีกกว่าสิบชั่วโมง เวลาในเมืองไทยกับเวลาที่อเมริกาห่างกัน 12 ชั่วโมงพอดี(ถ้าจำไม่ผิด) เรากำลังบินย้อนเวลา มารู้ตัวอีกทีก็มาถึงอเมริกาในวันที่ 3 วันเดียวกันกับที่เราเดินทางจากประเทศไทย

เราต่อเครื่องบินเล็กไปลงที่เมืองอินเดียนาโพลิสอีกครั้ง

รอกระเป๋าสัมภาระ ปีเตอร์ รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอินเดียน่ากับทีมงานมารอต้อนรับ น่าแปลกอากาศที่อเมริกาติดลบต่ำกว่าศูนย์องศา แต่กลับเต็มไปด้วยแสงแดดแจ่มใส ปราศจากหิมะ ทันทีที่เราผลักประตูออกร่างกายก็เริ่มสัมผัสความหนาว

16:30 น. เราได้พบกับ Tim Seiler อ.สอนเรื่องการระดมทุน ของสถาบัน the IU Center on Philanthropy เขาเล่าว่าการก่อตัวของสถาบันแห่งนี้ ทำหน้าที่เสริมศักยภาพให้กับมูลนิธิ หรือไม่ก็กลุ่ม NGOs เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงาน เนื้อหาหลักสูตรจะมุ่งเน้นในเรื่องการส่งเสริมการให้ทุน ที่น่าสนใจก็คือการก่อเกิดของสถาบันนั้นได้มีการดำเนินงานร่วมกับ IU (มหาวิทยาลัยอินเดียน่า)ในการจัดตั้งสถาบัน โดยมีนักศึกษาจากแต่ละมูลนิธิลงขันกันในการสนับสนุน

รัฐอินเดียน่าโพลิสแห่งนี้มีมูลนิธิชุมชนมากถึง 98 แห่ง นับว่ามากที่สุดในประเทศ การขยายตัวของมูลนิธิส่วนหนึ่งมาจากการมีสถาบันแห่งนี้ ได้ทำการอบรมให้มูลนิธิเหล่านี้มาถึง 15 ปี ต่อมาภายหลังเมื่อกระตุ้นให้เกิดมูลนิธิชุมชนขึ้นแล้วก็ทำหน้าที่เพียงที่ปรึกษา ให้คำแนะนำโดยเฉพาะในด้านกฎหมายสำหรับผู้บริจาค เนื่องจากมีสัญญาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเป็นจำนวนมาก

เราพบว่าในเรื่องกฏหมายนี้สำคัญมากสำหรับคนอเมริกา เนื่องจากในอดีตผู้ให้ของอเมริกามีจำนวนมาก มีความต้องการกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับรองรับทุนที่สนับสนุน ซึ่งมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย (เมืองไทยอาจจะมีปัญหาน้อยกว่า) รัฐบาลเห็นผลกระทบจากการมีมูลนิธิเหล่านี้ที่มีจำนวนมากถึง 400-500 แห่งทั้งประเทศจึงได้ออกกฎหมายรองรับการสนับสนุนมูลนิธิ ที่จะมีผลถึงการลดหย่อนภาษีของผู้ให้และผู้รับ ทำให้มีเอกสารและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องด้วยจำนวนมาก

นอกจากนั้นแล้ว IU ใน อดีตเป็นชุมชนเกษตร เมื่อมีมูลนิธิชุมชน จะเป็นตัวกระตุ้นให้ครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้หันมาให้ความสนใจดูแลชุมชนของตน เองมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อตัวของมูลนิธิชุมชนนั้นเบื้องหลังแล้วมีบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ของรัฐนี้ ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดมูลนิธิขึ้นในลักษณะของการให้ที่มาจากการร่วมสมทบ แต่การที่มีองค์กรสนับสนุนที่มั่นคงเช่นนี้ทำให้มูลนิธิไม่คิดพึ่งตนเอง เฝ้ารอการสนับสนุนของบริษัทใหญ่ จึงมีความพยายามพัฒนาศักยภาพของมูลนิธิควบคู่กันไปด้วย

เยือนอเมริกา

บรรยากาศมื้อค่ำ

จากการพูดคุยในช่วงเวลาสั้นๆ พบว่าขอบเขตพื้นที่ของมูลนิธิชุมชนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งใช้คนระดมทุนคนเดียวกัน แต่มีเมนูการให้ที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งและจุดยืนของมูลนิธิที่จะสื่อสารอัตลักษณ์ หรือการวางกลยุทธ์ในการเดินของมูลนิธิต่อชุมชนนั้นๆ

สำหรับโปรแกรมการอบรมนั้น จะมุ่งเน้นการให้ที่ครบวงจร มีการเรียนรู้เทคนิคการระดมทุน การบริหารจัดการต่างๆ เช่น เจ้าหน้าที่บุคคลทำอะไร กรรมการทำอะไร อาสาสมัครทำอะไร โดยทั้งหมดนี้เขาให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับคนที่ทำหน้าที่ระดมทุนสูง ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะทำหน้าที่นี้ คนระดมทุนจะเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวของมูลนิธิกับผู้ให้ จำเป็นต้องเป็นคนที่รู้จักมูลนิธิดี และพึงระวังการแข่งขันซึ่งกันและกัน ในการแสวงหาผู้ให้ที่ขัดแย้งกันเองในหมู่เครือข่ายมูลนิธิ

อุ่นเครื่องพอหอมปากหอมคอ ปีเตอร์พาเราเดินรับลมหนาวจากอาคารสำนักงานของสถาบัน ได้เวลามื้อค่ำ ปีเตอร์นำเราไปทานอาหารที่ร้านหรูแห่งหนึ่ง

8:30 น. ของวันที่ 4 มีนาคม 2552 เรามีโปรแกรมพบ Dwight Burlingame and Wolfgang Bielefeld ผู้เชี่ยวชาญของ the IU Center on Philanthropy เพื่อที่จะเรียนรู้แนวคิดของมูลนิธิชุมชนในอเมริกา

มาอยู่ในสถานที่ต่างถิ่นต่างแดน ผมรู้สึกราวกับว่าค่ำคืนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผมหลับสบายด้วยฤทธิ์ไวน์ อากาศในห้องพักอบอุ่นไม่ต้องกังวลกับสภาพอุณหภูมิที่แท้จริงภายนอก เราทยอยลงมาทานอาหารเช้า ผมไม่มีปัญหาการปรับตัว คุณชิตนั้นเตรียมตัวทุกอย่างมาดี แต่ก็ลืมพกอาวุธประจำตัว เดินหัวยุ่งออกมาถามหาหวี

ปีเตอร์มาตรงเวลา เขาเป็นคนจัดโปรแกรมการดูงานครั้งนี้ด้วยตนเอง แถมยังคอยบริการขับรถรับส่งให้อีก เราเดินขึ้นรถแต่ละครั้งเล่นเอาเราตัวอ่อนตัวนวลไปด้วยความเกรงใจประสาคนไทย

เขาพาเรามาส่งที่สถาบัน สิบนาทีต่อมาเราได้พบกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของที่นี่ 2 คน เขาให้ข้อมูลอันเป็นผลการวิจัยรูปแบบการให้ของคนอเมริกา ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของสถาบันแห่งนี้ เราโฟกัสเฉพาะในปี 2007 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่ามีผู้ให้ระดับบุคคลหรือครอบครัว คิดเป็นสัดส่วน 74.8% หรือเป็นเงิน 229.03 ล้านยูเอสดอลลาร์ ภาคธุรกิจ มีสัดส่วนเพียง 5.1% หรือ 15.69 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น ผู้ให้ส่วนใหญ่มีพื้นฐานความเชื่อด้านศาสนาคริสต์ที่สนับสนุนการให้(ให้ผ่านโบสถ์) เพื่อนำไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ สรุปง่ายๆก็คือว่าคนเคร่งศาสนาจะมีการให้สูงกว่าคนไม่เคร่งศาสนา และอีกส่วนหนึ่งนั้นซึ่งเราเห็นว่าสำคัญมากก็คือเกิดจากวัฒนธรรมทุนนิยมที่มีพื้นฐานการให้เพื่อสังคมควบคู่กันไปด้วย

บ้านเรามัวแต่หยิบฉวยแต่ด้านไม่ดีของทุนนิยมมาใช้ แต่ด้านดี ๆ เรามักจะมองไม่เห็น

เราเจาะลึกเฉพาะในส่วนของการให้ Foundation 2007 ที่ให้สำหรับ Community โดยทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 10% หากคิดเป็นเงินก็ประมาณ 4.1 ล้านดอลลาร์ แล้วก็ให้ในส่วนของมูลนิธิส่วนบุคคล 72% หรือคิดเป็นเงิน 30.9 ล้านดอลลาร์ ทั้งคู่บอกกับเราว่าหากดูแนวโน้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ารูปแบบการให้คนอเมริกา จะสนับสนุนให้มูลนิธิชุมชนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการกระตุ้นของมูลนิธิใหญ่ๆ ที่พยายามให้ชุมชนพึ่งตนเองมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพิงเงินสนับสนุนจากมูลนิธิหรือบริษัทใหญ่)

มูลนิธิทั่วไปมีสัดส่วนการให้ในด้านต่างๆ ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปในด้านสุขภาพ 23% ด้านการศึกษา 22.5% ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 13.8% ด้านศิลปะและวัฒนธรรม 12.2%

เฉพาะในส่วนของมูลนิธิชุมชนยังมี Global Status Report ให้เห็นการทำงานของเครือข่ายทั่วโลกอีกด้วย

หลังจากนั้นได้ฟังซ้ำเรื่องความเป็นมาของมูลนิธิชุมชนอีกครั้ง อย่างที่บอกว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 1914 ที่ Cleveland Foundation โดยพัฒนาการมาจากมูลนิธิส่วนบุคคลหรือครอบครัว ขยายไปสู่ชุมชน โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ต่อมาซบเซาลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เริ่มฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และในช่วงต่อมารัฐบาลเริ่มเข้ามาควบคุมเพราะเริ่มมีผลกระทบในวงกว้าง ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดที่จะลดภาษีให้กับมูลนิธิชุมชนเป็นตัวผลักดันให้เกิดผลกระทบในเชิงการขยายตัวอย่างกว้างขวาง

กล่าวย่อ ๆ อีกครั้ง ความแตกต่างระหว่างมูลนิธิชุมชนกับมูลนิธิส่วนบุคคลนั้น คือ มูลนิธิชุมชนผู้ให้มีมาจากหลายภาคส่วน มีคณะกรรมการบริหารที่มาจากความหลากหลาย มีรูปแบบการทำงานที่มีความโปร่งใส มีระบบรายงานผลต่อสาธารณะ เป็นต้น

ในพื้นที่ซึ่งมีภาคประชาสังคมเข้มแข็ง การก่อเกิดของมูลนิธิชุมชนจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งมาช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยความร่วมมือกันแสวงหาทุนทางสังคมนำมาใช้บนฐานการพึ่งตนเอง เป็นอิสระจากภาครัฐ แต่ก็ไม่แยกส่วน ไม่แตกแยก...

คนที่สนใจน่าจะมีการลองนำไปปรับใช้นะครับ

รูปแบบของการให้ ก็มีหลายหลาก เช่นจะแบ่งเป็นการระดมทุนที่มาจากหลายภาคส่วนของชุมชน หรือรูปแบบการเป็นร่มให้กับองค์กรเครือข่ายระดมทุนแล้วมากระจายให้มูลนิธิเล็กๆ หรือการรับทุนจากภาครัฐมากระจายให้ชุมชน

ในอเมริกาการที่ผู้ให้นิยมสนับสนุนทุนผ่านคนกลางอย่างมูลนิธินั้นเป็นเพราะต้องการทักษะของมูลนิธิในการบริหารจัดการทุนของผู้ให้ รวมไปถึงการตรวจสอบ การควบคุมดูแลให้ทุนของตนไปสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

ลงลึกไปอีก พวกเขาแนะนำเราว่าเราควรมีเมนูบริจาคที่หลากหลายเพื่อรองรับความต้องการของผู้ให้ พูดง่ายๆ ผู้ให้ก็มีมากมาย ผู้รับหรือคนกลางก็มีให้เลือกมากเช่นกัน รูปแบบบางอย่างพัฒนามาจากการให้ที่มาจากการให้ผ่านกองทุนรวม แล้วนำไปหักภาษี บริษัทกองทุนรวมเหล่านี้เริ่มหาพันธมิตรที่เป็นมูลนิธิ ทำให้ภายหลังผู้ให้มีทางเลือกในการให้มากขึ้น ทั้งนี้มูลนิธิชุมชนจะเป็นตัวกลางในการพิจารณาการให้ของผู้ให้ว่าจะไปสนับสนุนอะไร ไม่จำเพาะเจาะจงไปสู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ และควรให้การเรียนรู้ ชี้แนะผู้ให้ที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้จากความต้องการส่วนตัวไปสู่ความต้องการของชุมชน

มูลนิธิชุมชนมีจุดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของการให้ที่มีศักดิ์ศรีเท่ากันไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย และรู้สึกเป็นเจ้าของ เราควรมีความชัดเจนในจุดยืนของมูลนิธิ มีความเปิดเผย โปร่งใส มีรูปแบบของสื่อที่สามารถส่งตรงถึงผู้ให้ ขณะเดียวกัน ชุมชนก็มีส่วนร่วมในการสร้างวิสัยทัศน์ การให้คำปรึกษา กำหนดทิศทางการกระจายทุน  

เยือนอเมริกาชั่วโมงต่อมา เราเดินดูสภาพภายในสถาบันที่มีการจัดการที่ดี มีห้องสมุดของสถาบันทำหน้าที่รวมผลงานของคณะอาจารย์ทำงานวิจัยและตีพิมพ์เป็นเล่ม การดำเนินงานของสถาบันมีทั้งงานวิจัย มีการสอน มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ที่มีทุกอย่างครบวงจร ทั้งยังสนับสนุนให้นักเรียนของตนเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยงาน และลงไปเรียนรู้กับชุมชน ปัจจุบันกำลังจะมีนักศึกษาปริญญาเอกรุ่นแรก (ปกติสอนแค่ปริญญาโทและเอก) และกำลังจะเปิดรับปริญญาตรี

เราแวะเยี่ยมแผนกวิจัยและสื่อสาร เจ้าหน้าที่คนแนะนำบอกเราว่ามีความสำคัญในการสร้างการเรียนรู้กับสังคม กล่าวคือเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้และมูลนิธิและสถาบัน

ระหว่างเดินดูเราพบว่าพวกเขามักใช้รูปถ่ายของผู้ให้ที่สำคัญๆนำมาตกแต่งสถานที่เป็นการเชิดชูเกียรติผู้ให้ไปด้วย

สรุปก็คือสถาบันแห่งนี้เน้นการเรียนรู้จากการปฎิบัติ หล่อหลอมกับภาคทฤษฎีแล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่

เรามีเวลาก่อนพักเที่ยงอีกร่วมชั่วโมง เลขาฯของปีเตอร์พาเราไปแวะที่มหาวิทยาลัย ที่นี่มีนักศึกษาทั้งหมด 3 หมื่นคน พื้นที่อาณาเขตในรั้วมหาวิทยาลัยกว้างไพศาล

เราแวะไปดูร้านค้า เดินดูร้านหนังสือ ผมลองหาผลงานของนักเขียนมีชื่อที่พอจะรู้จัก ส่วนใหญ่ก็เป็นขาใหญ่ของอเมริกา อย่างเฮมมิงเวย์ จอห์นสไตน์เบค แต่ก็มีงานของมูราคามิวางอยู่หลายเล่มด้วย  

เรากลับมาทานอาหารเที่ยงในห้องประชุมใหญ่ ซึ่งนานๆครั้งจะเปิดรับผู้มาเยือน มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันนิดหน่อย เราพบว่าที่สถาบันแห่งนี้มีอาจารย์มากถึง 60 คน มาจากหลากหลายอาชีพ และมีเจ้าหน้าที่มากถึง 50 คน

สถาบันวิจัยแห่งนี้มีพันธกิจ ต้องการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการให้ นำไปสู่การปฎิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี 4 แผนกได้แก่ แผนกสอนวิชาการ แผนกวิจัย แผนกสื่อสาร แผนกทำความเข้าใจลักษณะการให้ เช่น ผู้หญิง ศาสนา มีความแตกต่างในการให้อย่างไร

ในการบริหารจัดการมีการระดมทุนกันเอง พึ่งตนเอง บนฐานความต้องการของมูลนิธิ

ทว่าปัจจุบันเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

เวลา 13: 30 น. เรามีแผนดูงาน Central Indiana Community Foundation มี Brian Payne เป็นประธานมูลนิธิให้การต้อนรับและบรรยาย 

เดินทางเข้าไปในเมือง ใช้เวลาไม่นานนักก็มาถึง ความสำคัญของมูลนิธิชุมชนแห่งนี้ก็คือมีอายุ 93 ปี โดยเริ่มตั้งมูลนิธิมาตั้งแต่ปี 1916 Brian บอกว่าการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ บนฐานวิถีของแต่ละชุมชนและภาวะการเป็นผู้นำขององค์กร และลักษณะของทุนในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ทำงานตามแนวทางของมูลนิธิชุมชนตลอดเวลา ต่อมาพบว่าบทบาทของมูลนิธิไม่ได้ให้ทุนเพียงอย่างเดียว ผนวกกับเริ่มมีทักษะ วิสัยทัศน์ มีทรัพยากร จึงก้าวมาเป็นองค์กรพัฒนาพื้นที่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ผู้นำองค์กรก็เห็นด้วยกับการมีจุดยืนหรือบทบาทของมูลนิธิเช่นนี้

ภารกิจที่ทำด้านการเป็นผู้นำการพัฒนา (Brian เป็นประธานมา 8 ปี) เขามีกลยุทธ์ที่อยากเห็นผลกระทบจากการให้ทุน จึงให้ความสำคัญกับการศึกษา ความสำเร็จของครอบครัวที่ยากลำบาก พยายามช่วยให้พึ่งพาตนเองได้ เด็กในครอบครัวได้รับการดูแลเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เขามีความคิดนำการพัฒนาว่าทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่ สวย ทุกคนอยากมาอยู่ ประชากรอยู่อย่างมีความสุข ตรงนี้เป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมือง เขาต้องการดึงคนดีๆมาอยู่ที่นี่ จะได้ร่วมกันพัฒนาเมือง(Brian ตั้งเป้าว่าอยากให้อินเดียน่าโพลิสเป็น 1 ใน 10 เมืองแรกที่คนอเมริกาอยากมาอยู่ แต่ทว่าตอนนี้ยังไม่ใช่)

เมืองแห่งนี้ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะดึงดูดคนมาอยู่ แต่ก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการนำเสนอด้วยเช่นกัน ในส่วนของที่นี่พวกเขานำเสนอในมุมของเส้นทางเดินของเมืองศิลปะ ประวัติศาสตร์ พยายามเปิดเส้นทางให้คนผ่านไปยังชุมชน หรือสิ่งดีๆ

การเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์ของเมือง กล่าวได้ว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการเสนอตัวเป็นผู้นำ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำทุกเรื่อง Brian บอกว่าเราควรค้นหาจุดเด่นของตนเองและเป็นองค์กรนำในด้านนั้น

ในส่วนบทบาทนอกจากให้ทุนแล้ว การเป็นองค์กรนำด้านวิสัยทัศน์ การให้คำปรึกษาผู้ให้(มีประมาณ 500 กองทุนที่ดูแล) เช่น มาทำงานร่วมกันว่าผู้ให้อยากเห็นอะไร มูลนิธิจะต้องมีคำแนะนำได้ว่าควรจะนำทุนไปใช้ประโยชน์อย่างไร โดยทั้งนี้จะมีโปรแกรมสำหรับพ่อแม่ที่มีใจสาธารณะให้การเรียนรู้สำหรับลูก เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันระหว่างครอบครัว การให้ของครอบครัวควรมีการวางแผน มีเป้าหมายอะไร สร้างผลกระทบอะไร

นอกจากนี้แล้วมูลนิธิยังมีระบบฐานข้อมูล มีงาน social mapping รองรับความต้องการของผู้ให้

พวกเขาพยายามอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะในด้านเอกสาร ทนาย การลดภาษี ฯลฯ

Brian ยังบอกข้อมูลที่เขาพบอีกว่า ผู้ให้ที่ไม่มีเงื่อนไขการให้ส่วนใหญ่(25%ของทุนในองค์กร) อยู่ในรูปแบบมรดก ส่วนผู้ให้ที่มีความต้องการระบุ มักจะเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่

เรามีความยืดหยุ่นพยายามตอบสนองผู้ให้ได้ดีที่สุด (ใช้สำหรับทุนขนาดใหญ่ หรือมีกองทุนที่มากพอ)

ในส่วนกองทุนย่อยในประเด็นต่างๆ หรือเป็นกองทุนรวมกลาง ก็สามารถทำได้ และช่วย NGOs ในการบริหารกองทุนด้วย ยิ่งเปิดกองทุนมากจะดีในการบริจาค แต่ยุ่งยากในการบริหารจัดการ จึงจำกัดจำนวนเงินในการให้บริจาค (25,000 เหรียญขึ้นไป) และไม่ทำให้ผู้ให้ทุกราย

สำหรับค่าบริหารนั้น คิดตามสัดส่วน หากให้มากจะคิดน้อย โดยคิดจากต้นทุนที่ต้องบริหารตามความเหมาะสม ดูความคุ้มค่า ดังนั้นในความเห็นของเขามูลนิธิชุมชนควรมีขนาดใหญ่พอสมควร 

ช่วงบ่ายเราดูงาน Nina Mason Pulliam Charitable Trust โดยมี Harriet Lvey ประธานมูลนิธิให้การต้อนรับและบรรยายสรุป

ปีเตอร์บอกเราว่าอยากให้มาดูมูลนิธิแห่งนี้ที่ไม่ใช่มูลนิธิชุมชนแต่ก็ทำประโยชน์เพื่อชุมชนเช่นกัน เพื่อจะได้เห็นรูปแบบที่หลากหลาย Harriet ประธานเล่าให้เราฟังว่าผู้ก่อตั้งมูลนิธิแห่งนี้เป็นผู้หญิง ชื่อ Mrs. Pulliam มีพื้นฐานมาจากอาชีพนักหนังสือพิมพ์ เธอได้มอบทรัพย์สินมาตั้งเป็นกองทุน โดยตั้งเป้าให้ความช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ มีองค์กรลูก 2 แห่ง มีผู้ดูแลกองทุน 3 คน และให้ผู้บริหารทำตามความประสงค์ของผู้ก่อตั้ง

รูปแบบองค์กรที่มี 2 แห่งนี้ทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยี ทั้งองค์กรมีพนักงานทั้งหมด 18 คน ที่นี่ไม่ต้องระดมทุนเนื่องจากมีทุนจากผู้ก่อตั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อชุมชนเช่นเดียวกัน

การให้ทุนจะเปิดกว้างให้องค์กรทั้งใหม่และเก่า ที่พวกเขาเห็นว่าตั้งใจทำงาน ไม่จำกัด และให้ทุนการศึกษาแก่คน/เด็กขาดโอกาส ทั้งนี้ได้สนับสนุนทุนมาแล้วกว่า 7 ล้านเหรียญ มีผู้ได้รับประโยชน์ 250 ราย (องค์กรนี้มีอายุ 10 ปี) ซึ่งปรัชญานี้คำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเติมเต็มให้กับชุมชน และไม่จำเป็นต้องทำเหมือนมูลนิธิหรือองค์กรอื่น

การทำงานพวกเขาแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สงเคราะห์เด็ก ผู้หญิง คนชรา อีกส่วนหนึ่งคุ้มครองสัตว์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส การให้โครงการจะดูตามความจำเป็นและโครงการที่ส่งมาในแต่ละปี

เยือนอเมริกา

อาคารที่พักในการดูงาน

ไมเคิล ผอ.การให้ทุนขององค์กร เล่าว่าพวกเขามีวิธีการทำงานที่เน้นทีมงานที่ทำงานร่วมกับชุมชนให้มากที่สุด พยายามดึงความรู้จากพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเริ่มต้นการให้ทุนจากการที่องค์กรในพื้นที่มีความคิดมานำพูดคุยกันก่อน เพื่อหาความต้องการร่วม แล้วพัฒนาโครงการด้วยการส่งแนวคิดมาให้คณะกรรมการพิจารณา แล้วส่งต่อให้ทำรายละเอียดส่งกลับมา จะมีการพิจารณาตามเกณฑ์(การให้คะแนน) แล้วให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 6 เดือน

พวกเขาจะประกาศรับเป็นรอบ (3 รอบ) พิจารณาตามความเหมาะสมรายโครงการ

ส่วนการให้ทุนการศึกษา จะมีการเสนอมาได้หลากหลาย ทั้งบุคคล มหาวิทยาลัยส่งมา หรือองค์กรที่ทำงานในพื้นที่เห็นคนที่เหมาะสม จะมีการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคล

การบริหารกองทุนนั้นพวกเขาจะนำเอาดอกผลมาใช้ ซึ่งช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่ต่างจากองค์กรอื่นเช่นกัน จึงพยายามรัดเข็มขัด ลดความเสี่ยงต่างๆ ทำให้การให้ทุนลดลง(ใช้ดอกผลของกองทุนปีละ 12-15 ล้านเหรียญ)

ในการบริหารกองทุนถาวรจะมีการบริหารโดยมืออาชีพบริหาร ไม่ได้บริหารโดยกรรมการ เนื่องจากความกังวลผลประโยชน์ทับซ้อน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน ตอนที่ 2 »

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน