เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน ตอนที่ 2

by Little Bear @19 ส.ค. 52 13:33 ( IP : 61...244 ) | Tags : บทความ , เยือนอเมริกา , ดูงาน

เช้าวันใหม่ 5 มีนาคม 2552 เป็นเวลา 7: 45 น. เราทานอาหารเช้ากับ Marjorie Lyles มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารองค์กรมูลนิธิชุมชนที่อยู่บนฐานการพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ เราได้ความคิดใหม่ๆหลายอย่างจากการทำงานของที่นี่ เช่น บ.ยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ยกหุ้นให้แทนที่จะสนับสนุนเป็นเงิน แต่ก็มีความเสี่ยงหากหุ้นราคาตก

หรือไม่เราอาจประยุกต์รูปแบบธุรกิจเพื่อองค์กรสาธารณะ นำส่วนต่างหรือกำไรมาใช้เลี้ยงองค์กร แยกออกมาจากการระดมทุน เช่น การขายตั๋วเครื่องบิน ขายบัตรโทรศัพท์ เคาเตอร์เซอร์วิส การขายแบรนด์น้ำดื่ม(อาทิชื่อน้ำใจ) ร้านอาหาร

คำอธิบายภาพ

ดูงานที่ the IU Center on Philanthropy

นอกจากนั้นก็ยังมีวิธีระดมทุนต่างๆ หรือหาแหล่งทุนที่เราไม่ควรมองข้าม เช่น ซื้อพันธบัตร กิจกรรมระดมทุนต่างๆ มรดกให้หลังการเสียชีวิต หรือใครถนัดอะไรก็ทำสิ่งนั้น เช่น นักเขียนอาจพิมพ์งานยกรายได้เพื่อชุมชน นักร้อง นักธุรกิจ ยกรายได้ส่วนหนึ่งในองค์กรสาธารณะ

เวลา 8: 45 เริ่มโปรแกรมดูงานแล้ว เราออกเดินทางไปกับ Dave Jone เพื่อที่จะดูงาน lilly Endowment พบ Ace Yakey, Jenny Kloer ให้คำบรรยายแนะนำองค์กรว่า สำหรับบทบาทขององค์กร lilly Endowment แห่งนี้ได้เงินมาจากธุรกิจบริษัทยาขนาดใหญ่ของรัฐ ดำเนินงานอย่างอิสระในขณะที่บริษัทยาก็มีมูลนิธิของตนเองด้วย องค์กรนี้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนมูลนิธิชุมชน ที่เริ่มตั้งแต่การก่อตั้งและการให้ทุนมาจนถึงปัจจุบัน โดยความแตกต่างระหว่างมูลนิธิของบริษัทยาและ lilly Endowment คือบทบาทที่แยกเฉพาะให้การศึกษา ศาสนา และชุมชน โดยไม่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพและยา

องค์กรแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1937 เริ่มก่อตั้งและทำงานหลักในพื้นที่อินเดียนาโพลิส ทำงานด้านพัฒนาชุมชนให้ทุนพัฒนามนุษย์ ศิลปะวัฒนธรรม การพัฒนาพื้นที่อาศัย นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับชุมชน ประวัติศาสตร์ ด้านกีฬา เศรษฐกิจชุมชน และดูแลมูลนิธิชุมชนในพื้นที่อินเดียนา ตลอด 19 ปีที่ผ่านมามีบทบาทช่วยในการก่อตั้งมูลนิธิชุมชนจาก10 แห่ง เพิ่มขึ้นจนมีทรัพย์สินจาก 100 จนเกิน 1,000 ล้านเหรียญ(ในจำนวนนี้เป็นทรัพย์สินของ lilly  200 ล้าน) แต่ปัจจุบันก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ

แนวคิดของมูลนิธินี้เห็นว่ามูลนิธิชุมชนเป็นการสร้างโครงสร้างทางสังคม ให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งรูปแบบของมูลนิธิชุมชนอาจจะไม่เป็นคำตอบเดียว อาจจะมีรูปแบบอื่นอีกก็ได้ ในการทำงานร่วมกับมูลนิธิชุมชนจะมีส่วนร่วมกำหนดกลยุทธ์ด้วย(ที่นี่มีเจ้าหน้าที่ 38 คน)

บทบาทช่วยมูลนิธิชุมชนที่นี่จะมี 4 ด้าน ได้แก่ การระดมทุนแบบสมทบร่วมกับมูลนิธิชุมชน ช่วยการบริหารจัดการกองทุนถาวร ให้เงินเป็นโครงการ ให้คำแนะนำ/ที่ปรึกษา/ทำความเข้าใจ

คำอธิบายภาพ

ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษากว่า 3 หมื่นคน

งานการทำความเข้าใจกระตุ้นให้เกิดมูลนิธิชุมชนใช้เวลาช่วงเริ่มต้นใช้เวลา 5 ปี หลังจากนั้นก็อบรมให้กับเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัคร ซึ่งต้องทำไปเรื่อยๆ ในด้านการเป็นผู้นำ การระดมทุนการกระจายทุน ธรรมาภิบาลขององค์กร ดูความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย

ทีมงานนี้มี 5 คน มีคนเชี่ยวชาญด้านการให้ทุน การเงิน(ลงทุน/บัญชี) การอบรมสัมมนา งานมูลนิธิชุมชนทั่วไป นอกจากนั้นแล้วก็มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาให้ความรู้เป็นครั้งๆ

ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ มากกว่าที่จะช่วยเรื่องระดมทุนเนื่องจากช่วยตนเองได้แล้ว

ที่นี่เราได้พบกับมูลนิธิชุมชนเล็กๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแห่งนี้คือ Blue river commuity foundation (ชื่อมาจากแม่น้ำที่ไหลผ่านเมือง) ผู้จัดการมูลนิธิเล่าว่าเริ่มก่อตั้งมาเมื่อปี 1988 อยู่ในพื้นที่เมืองเล็กๆ เติบโตมาจากองค์กรที่ทำงานในพื้นที่(องค์กรนี้อยากให้เด็กรุ่นใหม่มาเป็นผู้นำการทำงานสาธารณะ จนกระทั่งพัฒนามาสู่การเป็นมูลนิธิชุมชน ในช่วงแรกมีผู้นำเยาวชน 6 คน และพัฒนาการทำงานมาเรื่อยๆ พร้อมกับค้นหาคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน มาทำงานบนฐานความเชื่อใจของชุมชนต่อองค์กร) ได้รับการช่วยเหลือกระตุ้นจาก lilly Endowment ให้ก่อตัวมูลนิธิชุมชน  ที่นี่มีกรรมการหลัก 12 คน มีอนุกรรมการอีกหลายคณะ(ใช้คนเป็นช่องทางสร้างความน่าเชื่อถือ มาจากหลายภาคส่วน) แต่ละอนุฯมีกรรมการประกบ และมีอาสาสมัครเข้ามาอยู่ในแต่ละชุดอนุกรรมการ

ที่นี่มีผู้จัดการทำงานเต็มเวลา มีเจ้าหน้าที่ให้ทุน การทำงานร่วมกับองค์กรอื่น มีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านบัญชี(เกือบเต็มเวลา)ตอนนี้มีสินทรัพย์ 20 ล้านเหรียญ พวกเขาพบว่ามีผู้ให้พร้อมจะให้จำนวนมาก มีการให้ทุนปีละ 6-7 แสนเหรียญ หน้าที่ในการบริหารจะช่วยผู้บริจาคแนะนำการสนับสนุนร่วมกับผู้นำชุมชน และทำงานร่วมกับองค์กรอื่นในพื้นที่ด้วย (ปัจจุบันมี 95 มูลนิธิในพื้นที่) เน้นหนักในด้านการให้ทุนการศึกษามากที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทำงานร่วมกันของแต่ละมูลนิธิกำลังหาทางช่วยเหลือหาการทำงานร่วมกันในลักษณะที่ช่วยเหลือกันได้ เช่น ระบบบัญชี การสื่อสาร การบริหารสำนักงาน

เราถามถึงปัญหาที่พวกเขาพบคือความหลากหลายของเนื้องาน จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้มาก เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องมีที่ปรึกษา ทีมงานให้คำแนะนำ ขณะเดียวกันก็พบว่าการได้มาซึ่งนโยบายของมูลนิธิฯจะมาจากข้อบังคับทางกฏหมายและประสบการณ์ร่วมของมูลนิธิฯที่มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา

ความสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิกับ lilly Endowment เริ่มต้นที่ค่าบริหารจัดการของมูลนิธิ สร้างผลงานให้ทุน และระดมทุนถาวรพยายามพัฒนาความยั่งยืน ในช่วงแรกทาง lilly Endowment สนับสนุนทั้ง 3 ทาง โดยมีมาตรฐานกำหนด

คำอธิบายภาพ

ห้องประชุมของ the IU Center on Philanthropy

Blue river commuity foundation มีฐานการทำงานกับคนในพื้นที่ คัดเลือกประเด็นที่สนใจ เช่น การศึกษา สุขภาพ และเน้นกระบวนการทำงานที่โปร่งใส มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ในการคัดเลือกโครงการมีการเปิดรอบการพิจารณารายประเด็นและเริ่มคิดเชิงรุกในการทำงานเชิงพื้นที่ค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ น้ำหนักของความน่าเชื่อถือขององค์กรและภาพลักษณ์อยู่ที่ผลงานของโครงการที่สนับสนุนไป

พวกเขาบอกว่าหน้าที่กรรมการควรจะเป็นคนเข้าใจแนวคิดมูลนิธิชุมชน และควรฟัง เข้าใจชุมชนให้มากที่สุด เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงได้ และตัดสินใจสิ่งยากๆ บนฐานประโยชน์สูงสุดของสาธารณะ

เราทานอาหารเที่ยงที่มหาวิทยาลัย ที่นี่เราได้พบกับทีมงานของ CICF อีกครั้ง พวกเขาเล่าว่าเริ่มจากทุนเพียง 300,000 เหรียญ ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวม 20 ล้านเหรียญ มีรูปแบบการจัดการเงิน 1% ใช้สำหรับบริหารภายใน 5% ใช้สำหรับการกระจายทุน

ช่วงบ่ายเราไปดูงาน Indiana Grantmakers Alliance พบ Marissa Manlove, Betsy Bikoff ที่ให้ภาพการทำงานของมูลนิธิไปอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ ที่นี่เป็นองค์กรสนับสนุนองค์กรมูลนิธิทุกรูปแบบ (คล้ายรูปแบบสมาพันธ์มูลนิธิในพื้นที่) มีภาระกิจ 4 ด้าน ได้แก่ ช่วยให้สมาชิกมูลนิธิทั้งหมดมีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธผล ถูกกฏหมาย มีจริยธรรมในการทำงาน

การสนับสนุนเป็นไปในรูปแบบการพัฒนาศักยภาพ การจัดอบรม การจัดงานเฉพาะกิจ เช่น การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้สมาชิกทำงานได้ดี ไปสู่เป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อสังคม องค์กรนี้จะเป็นตัวกลางจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ และร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะให้กับสมาชิก มีการติดตามนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อสมาชิก

การสนับสนุนองค์กรมาจากสมาชิกที่เห็นความสำคัญ ให้ทุนมาดำเนินการอยู่เรื่อยๆ ทุกปีมีการสำรวจจากสมาชิก ถามความต้องการ และมีคณะกรรมการ มีที่ปรึกษาการเรียนรู้ให้ข้อมูล

การผลักดันนโยบายสาธารณะ มีตัวแทนอยู่ที่วอชิงตันในการออกกฎหมาย และทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ออกกฏหมายเข้าใจงานของมูลนิธิ

เมื่อสอบถามความต้องการ พวกเขาบอกว่าสมาชิกมูลนิธิส่วนใหญ่ ต้องการให้องค์กรดูแลในด้านคนทำงานขาดความต่อเนื่อง คนใหม่จะเข้ามาเรียนวิชาพื้นฐานการกระจายทุน การสื่อสาร การพิจารณาโครงการ หลักฐานการเงิน ข้อกฎหมายต่างๆ ในกลุ่มคนเก่า จะมาประชุมเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการให้ทุน

พวกเขามีที่ปรึกษาเฉพาะด้าน มีทีมเฉพาะในการดูแลสมาชิกตามความต้องการ

ในการทำงานมีการทับซ้อนของพื้นที่การทำงานในหมู่สมาชิก แต่ทุกคนมีวิธีการทำงานของตนเอง องค์กรนี้ไม่ได้ประสานการทำงานในภาพรวม

คำอธิบายภาพ

ดูงาน Central Indiana Community Foundation

องค์กรนี้ดูแลเฉพาะในพื้นที่รัฐอินเดียน่า มีสมาชิกมูลนิธิ 135 แห่ง จาก 3,000 กว่าแห่ง มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน เกิดขึ้นเมื่อปี 1983 เพราะพื้นที่มีสมาชิกจำนวนมากเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการทำงาน ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ 8 คน มีทีมเฉพาะในการดูแลสมาชิกอีก 5 คน มีคนดูแลการอบรม บริการสมาชิก บริหารความรู้/สื่อสาร ทั้งหมดนี้มีหัวหน้าทีมดูแล

พวกเขาพบว่ามีปรากฏการณ์การจัดการเรียนรู้จัดระบบมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน มาตรฐานจริยธรรมของมูลนิธิจะแฝงอยู่ในหลักสูตรและมีหลักเกณฑ์ในการกระจายทุน (พวกเขามีปัญหาบ้างในส่วนของมูลนิธิทั่วไปมากกว่ามูลนิธิชุมชน ปัญหาที่พบ เช่น การกระจายทุนให้องค์กรที่มีญาติของกรรมการ การรับเงินขององค์กรแล้วไม่ได้ทำตามข้อตกลง การให้ค่าตอบแทนกรรมการที่สูงเกินไป)

เราออกจากตึกของสมาพันธ์ เดินข้ามไปยังอีกตึกหนึ่ง พบ Mark Miles ฟังการทำงานของ Central Indiana Corporate Partnership ที่มีรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจมาก

ที่นี่มีประสบการณ์ในต่างประเทศมาก การทำงานเริ่มจากการรวมตัวกันหลวมๆของนักธุรกิจเมื่อปี 1983 กระทั่งปี 1987 มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมตามเหตุการณ์เฉพาะกิจที่เมืองเป็นเจ้าภาพกีฬา lilly มีบทบาทเป็นตัวเชื่อมประสานให้เกิดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงนั้น และเพิ่มพัฒนาการรวมตัว ในปี 2000 ได้จัดระบบองค์กรใหม่ โดยมี 3 องค์ประกอบ คือขยายพื้นที่ไปถึง Central indiana มีความเป็นเพื่อนกับมหาวิทยาลัย และมีทรัพยากร

โดยมีวัตถุประสงค์สร้างสภาวะแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ เสริมภาวะเศรษฐกิจและเสริมจุดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์  การผลิต โลจิสติกส์ เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคนตั้งแต่เด็กจนสูงวัย และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ทำงาน

คำอธิบายภาพ

ดูงาน Nina Mason Pulliam Charitable Trust

การจัดองค์กร มี CICP เป็นร่มให้กับ 4 บริษัท และมี  Mark Miles เป็นกรรมการร่วมทุกบริษัท bio crossroads และ conexus indiana ร่วมกันพัฒนาวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม  techpoint พัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร การช่วยเหลือนักธุรกิจใหม่ และ indypartnership ดูการตลาด นอกเหนือจากนั้น CICP ทำเอง

CICP ทำงานในประเภท partnership สร้างหุ้นส่วนการทำงาน และตั้ง foundation เพื่อระดมทุนในการพัฒนาคน ในการบริหารทำงานทั้ง 2 ด้าน แต่ควรมีระบบเอกสารสนับสนุนการทำงานให้ทำได้ทั้ง 2 ด้าน และการทำงานพยายามบริหารให้ไปสู่เป้าหมาย ใน 4 บริษัทย่อยที่ไม่ได้แสวงหากำไร ก็จะมีบริษัทลูกของตนเองในการแสวงหาโอกาสในทางธุรกิจ ทำงานไปสู่เป้าหมายใหญ่

งานที่ทำได้รับความสนใจจากมูลนิธิหรือผู้สนับสนุนใหญ่ๆมาก รวมไปถึงนักธุรกิจใหญ่ๆ เงินที่มาเป็นรายได้ 50% อีก 50% มาจากผู้สนับสนุนรายย่อย และไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

งานของมูลนิธิ เน้นการพัฒนาคน/การศึกษา อยากจะเป็นผู้นำวิทยาศาสตร์ต้องสร้างคนตั้งแต่เล็ก พัฒนาครูวิทยาศาสตร์ระดับมัธยม อยากให้มีนักธุรกิจมากๆ จะมีระบบข้อมูลพื้นฐานบริการดึงดูดคนมาทำธุรกิจ และกำลังวางแผนการขนส่งมวลชน

CICP เป็นผู้นำทางความคิด ช่วยกระตุ้นการทำงานของภาครัฐ และทำให้ภาครัฐเห็นตัวอย่าง เป็นการพัฒนาศักยภาพด้านองค์กรธุรกิจไปในตัว ใช้การสื่อสารเพื่อความร่วมมือในการทำงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ที่นี่มีบทบาทในการประสานงานเนื่องจากได้รับความน่าเชื่อถือมาก

Mark เล่าว่ากลุ่มนักธุรกิจรวมตัวกันได้เนื่องจากเห็นช่องว่างและไม่มีองค์กรใดตอบสนองความต้องการที่ไร้ขีดจำกัดของพื้นที่และองค์กรของภาครัฐหรือภาคธุรกิจ CICP จึงเกิดขึ้นและจัดองค์กรในรูปแบบใหม่ที่ตนต้องการ

คำอธิบายภาพ

เดินท่องเที่ยวในบริเวณมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันมีผู้ร่วมงาน 48 คน มีประธานบริษัท มีอธิการบดี 5 แห่งมาร่วมเป็นกรรมการ(ส่งตัวแทนมาร่วมไม่ได้) ปัจจัยความสำเร็จ Mark บอกว่ามีคนสนับสนุนที่ทุกคนยอมรับ มีความมั่นคงเป็นอิสระจากการเมือง ทำงานให้สำเร็จผ่านคนอื่นให้มาก การทำงานกับภาครัฐต้องสามารถชื่นชมและวิจารณ์ภาครัฐได้

« เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน ตอนที่ 1

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน