มูลนิธิชุมชนสงขลาจับมือ อ.ภาณุ พิทักษ์เผ่า ผลักดันให้เกิดศูนย์อาหารสุึขภาพ

by ชาคริต โภชะเรือง @3 ก.ค. 53 16:23 ( IP : 183...169 ) | Tags : กิจกรรม
photo  , 400x300 pixel , 77,391 bytes.

“ชีพรอด ปลอดภัย มีพรรคพวก มีจิตวิญญาณ” นพ.รุ่งโรจน์ กั่วพาณิชย์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่กล่าวไว้ เป็นผลึกความคิดของผู้นำทางความคิดคนหนึ่งของโลก สะท้อนให้เห็นต้นทางถึงปลายทางในกระบวนการแห่งชีวิต

นั่นคือเริ่มจากปัจจัยพื้นฐาน อะไรก็ได้ที่จะให้มีชีวิตอยู่ ดังนั้นเรื่องปากท้องสำคัญที่สุด สังคมไทยมีไม่น้อยที่ประชากรยังต้องหาเช้ากินค่ำเพื่อให้มีชีวิตรอด

จากนั้นก็เริ่มให้ความสำคัญกับความปลอดภัย สร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีต่อชีวิตและครอบครัว

เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็เริ่มมองหาเพื่อน หาพรรคพวก หาสังคมเครือข่ายที่จะหนุนช่วย หรือมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน กระทั่งพัฒนาการไปสู่การยกระดับจิตใจ พูดถึงการให้ การเอื้อเฟื้อแบ่งปัน

สังคมไทยมีทั้งกระบวนการที่ว่ามาครบถ้วน แล้วก็มีกระบวนการวนซ้ำเหมือนขดลวด สังคมบางแห่งไปถึงทุกระดับ บางแห่งยังอยู่แค่เรื่องปากท้อง บางแห่งเริ่มคิดเรื่องความปลอดภัย

บางแห่งคิดถึงแต่เรื่องพรรคพวกเพื่อนฝูง...มีไม่น้อยที่พวกใครพวกมัน ใครคิดต่างก็ไม่ใช่คนเหมือนเรา...สังคมไทยอยู่ภาวะเช่นนี้หรือเปล่า?

สงขลามีต้นทุนในการยกระดับเรื่องอาหารการกิน ทั้งบวกและลบ...ความคิดด้านบวกทำอย่างไรที่จะให้คนสงขลาได้กินอาหารดีๆ ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน จึงเกิดมีกลุ่ม มีเครือข่าย มีสมาคมองค์กรที่จับงานเรื่องการผลิตที่ปลอดภัยหรือส่งผลดีต่อสุขภาพ

อาจเป็นเพราะชนชั้นกลางมีมาก ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะมีอันจะกิน ก้าวข้ามจากการหาเลี้ยงชีพมาสู่ความปลอดภัย บวกกับกระแสการบริโภคที่ส่งผลต่อร่างกาย ต่อชีวิตเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นมาก...โรคร้ายต่างๆที่มาจากพฤติกรรมการบริโภคสร้างความตระหนักให้กับพวกเขาเหล่านี้มากขึ้น

ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการกินการใช้ชีวิตในฐานะชนชั้นกลางมีเผยแพร่ให้รับรู้กว้างขวาง การทำงานขององค์กรต่างๆทั้งรัฐทั้งเอกชน ทั้งประชาชนช่วยการวางรากฐานสิ่งเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้เรามีสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท ภายใต้การนำของอ.ภาณุ พิทักษ์เผ่า ได้เปิดศูนย์อบรมเกษตรกรภายใต้หลักคิดเรียนรู้คุณธรรมเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ปรับเปลี่ยนทัศนะเกษตรกรที่พึ่งตนเองไม่ได้ ให้ย้อนมองรูรั่วต่างๆในชีวิต แล้วทำแผนชีวิตอุดรูรั่วเหล่านั้น...

รูรั่วอะไรบ้างรึ...การพนัน เหล้า บุหรี่ หวย การซื้อทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ซื้อ ?

ศูนย์ของอ.ภาณุมีสมาชิกแล้วกว่า 2000 คน ผ่านการอบรม 3 คืน 4 วัน ปรับหลักคิด เรียนรู้เทคนิคการผลิต...เพาะถั่วงอก...แก๊สชีวภาพ...น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น...ทำน้ำหมักชีวภาพ...สะบู่...น้ำยาเอนกประสงค์...น้ำส้มควันไม้...ทำอาหามังสวิรัติ...สุกี้ผักพื้นบ้าน ฯลฯ รวมไปถึงการงดเหล้า งดบุหรี่ด้วยกระบวนการฝึกอบรมที่ถึงพริกถึงขิง...ว่ากันว่ามีคนเปลี่ยนพฤติกรรมจากการมีเข้าศูนย์ของอ.ภาณุไปมากคนแล้ว กลุ่มเกษตรกรที่มาเรียนรู้ มีทุกประเภท ทั้งปลูกผัก ทำสวน ทำนา

เรามีโรงพยาบาลหาดใหญ่และสงขลาที่ให้ความสำคัญกับการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรไปให้ผู้ป่วย สมาชิกของโรงพยาบาล มีการเปิดตลาดผักปลอดสารพิษในโรงพยาบาล

เรามีเครือข่ายสภาความร่วมมืออาหารปลอดภัยฯ นำผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการและผู้สนับสนุนมาร่วมกิจกรรมสร้างตลาดทางเลือก หนุนเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย...

ปลอดภัย...นี้หมายถึงกระบวนการผลิตยังใช้สารเคมี แต่มีการควบคุม อยู่ในชั้นบริโภคได้

ไร้สารพิษ...นี้หมายถึง ไม่ใช้สารเคมีในทุกกระบวนการผลิต เท่ากับยิ่งกว่าปลอดภัย

เครือข่ายที่เราพยายามทำงานด้วย สุดท้ายจะต้องเข้าสู่กระบวนการผลิตไร้สารพิษนี่แหละครับ

วันนี้ได้มีการหารือ โดยมูลนิธิชุมชนสงขลาจับมือกับสมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไทของอ.ภาณุ ขายแนวคิดจัดทำศูนย์อาหารสุขภาพจังหวัดสงขลา

อาหารในความหมายรวมไปถึง อาหารปาก อาหารใจ อาหารสมอง

ศูนย์อาหารหรือบางคนบอกว่าคืออุทยานอาหาร จะประกอบด้วยซุ้มอาหารต่างๆของผู้ประกอบการ ที่นำผลผลิตจากเกษตรกรของเครือข่าย มีอาหารสุขภาพอย่างหลากหลาย ทั้งอาหารมังสวิรัติ อาหารชีวจิต อาหารแมคโคไบโอติกส์ ผ่านการตรวจสอบคุณสอบและรับรองมาตรฐานจาก สาธารณสุขจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  • ภายใต้เงื่อนไข ต้องรู้ที่มาที่ไปของอาหารที่เรากินเข้าไป รู้ว่าผลิตที่ไหน เป็นใคร ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้
  • มุมผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้ขายตามฤดูกาล
  • มีมุมเสวนา “อาหารเพื่อสุขภาพ สุขภาพทางเลือก” ให้อาหารทางปัญญาแก่ผู้มาที่ร้านหรือศูนย์อาหาร
  • มีร้านหนังสือ มีมุมครอบครัวให้ได้ทำกิจกรรมศิลปะ
  • มีของเล่นเด็กปลอดสารพิษ
  • มีอาสาสมัครที่เข้ามาบริจาคเวลา ทำงานให้ศูนย์เช่น ล้างจาน 1 ชม. เข้ามาเป็นลูกมือในครัว เป็นต้น

รูปแบบของศูนย์ที่ว่า อาจประยุกต์จากเลมอนฟาร์ม บวกกับร้านอาหารมังสาวิรัสของพลตรีจำลอง ศรีเมือง หรืออาจรวมไปถึงการศึกษาจาก ชีวาอาศรม ที่มีการริเริ่มบุกเบิกแนวคิดนี้ก่อนใครในประเทศไทย...เป็นไปในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม มิได้มุ่งหวังผลกำไร

ค้นหารูปแบบที่ดีที่สุด เหมาะสมกับความเป็นสงขลา

สถานที่ตั้ง มีข้อเสนอกันหลากหลาย เช่น ละแวกถนนปุณกัณฑ์ มอ. โรงพยาบาล บ้านพรุ วัดคลองแห แต่ดูเหมือนเห็นพ้องกันว่าน่าจะไปอยู่แถวมอ.

มูลนิธิชุมชนสงขลาจะเป็นผู้รับผิดชอบในแง่การตลาดและการกำหนดรูปแบบ ผมเองคิดไกลไปว่า เราน่าจะมีสหรกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพในการดูแลศูนย์อาหารแห่งนี้ โดยร่วมมือกับสมาคมผู้สูงอายุ สมาคม อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมเกษตรอินทรีย์วิถีไท สาธารณสุขจังหวัด 5 มหาวิทยาลัย

โดยเราจะเริ่มต้นปูพื้นฐานจากงานเทศกาลอาหารสุขภาพ ประเดิมในช่วงก่อนงานกินเจที่จะถึง และพร้อมกับประมวลรับฟังความเห็น ออกแบบศูนย์อาหารไปด้วย

ตั้งใจกันไว้ว่าปีรุ่งขึ้นศูนย์อาหารแห่งนี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง.

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน