ชมรมพันปี

by ชาคริต โภชะเรือง @18 เม.ย. 53 14:15 ( IP : 114...92 ) | Tags : กิจกรรม

สงขลาหรือโดยเฉพาะหาดใหญ่ กล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่ราษฎรร่วมสร้าง และหากคนรุ่นบรรพชนได้ร่วมสร้างบ้านแปลงเมือง คนรุ่นปัจจุบันเล่ากำลังทำอะไร?

ย้อนอดีตหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 เมืองสงขลาไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการ พระเจ้าตากจึงยกพลมาตีเมือง ต่อมาได้มาพบนายเหยี่ยงเพ้ง  แซ่เฮ่า หรือหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง "ต้นตระกูล" ณ สงขลา) จึงร่วมมือกันตีสงขลาและขึ้นปกครองเมืองมานับแต่นั้น

หาดใหญ่เองเป็นเมืองเกิดใหม่ อายุ 70 ปี ขุนนิพัทธ์จีนนคร ซึ่งเป็นกำนัน ร่วมกับราชการนำแรงงานคนจีนเข้ามาสร้างทางรถไฟและบุกเบิกเมืองหาดใหญ่ การที่จะดึงคนจีนเข้ามาได้จำเป็นต้องมีสิ่งดึงดูดใจ นั่นคือ งานและที่อยู่อาศัย

ต่อมา ชี กิมหยง ได้อุทิศที่ดินสร้างโรงเรียน ดึงมิชชั่นนารีเข้ามาแพร่ศาสนา สร้างการศึกษายังไม่พอ เจ็บป่วยก็มีโรงพยาบาลและมูลนิธิสงเคราะห์คนอนาถารองรับ ตายแล้วก็มีฮวงซุ้ยอย่างดีฝัง ทำให้เมืองใหญ่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว

มูลนิธิชุมชนสงขลา เล็งเห็นต้นทุนทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว เราได้นัดหมายกลุ่มคนที่น่าสนใจมากอีกกลุ่มหนึ่งของเมืองหาดใหญ่มาคุยกัน ณ ห้องอาหารโรงแรมไดมอนด์ หาดใหญ่ ซึ่งปกติทุกวันอาทิตย์ทางกลุ่มหรือชมรมนี้ใช้เป็นที่นัดพบทานอาหารเช้าหลังออกกำลังกาย

จากชื่อแรกที่มีคนขนานนามให้ว่า ชมรมพันปี อันนับเนื่องจากอายุของสมาชิกหากรวมกันได้ก็คงไม่น้อยไม่มากกว่าพันปีที่ว่า ชื่อดังกล่าว คุณสุนทร ประทุมทอง นายอำเภอหาดใหญ่ในขณะนั้นตั้งให้ แต่ปัจจุบันพวกเขาใช้ชื่อว่า ชมรมExercise เพื่อสุขภาพ

ชื่อนั้นมิใช่สิ่งสำคัญ ยิ่งเมื่อพิเคราะห์ต้นทุนของแต่ละคนที่มารวมกัน ย้อนกลับไปการรวมตัวของพวกเขาเกิดขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สมาชิกของกลุ่มที่มาจากหลายกลุ่มหลายก๊วน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ โดยเฉพาะมาจากไลออนท์ และจำนวนหนึ่งมีฟื้นเพเป็นคนไทยเชื้อสายจีนจากอำเภอเก็กเฮียง ทุกเช้าจะมีการออกกำลังกายร่วมกัน จากนั้นก็เกิดความคิดว่าน่าจะมีการนัดพบทานอาหาร พบปะเสวนาฉันท์มิตรมากกว่าแค่มาเดินออกกำลังกาย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 20 ปีผ่านมา สมาชิกจำนวน 18 คน(ปัจจุบันเหลือ 14 ไม่นับขาจรอีกจำนวนหนึ่ง-ชาย 12 หญิง 2) กิจกรรมที่ทำร่วมกันเป็นกิจวัตรก็คือ มีการออกกำลังกายทุกเช้า 7 วัน และมีการวงทานอาหารเช้าร่วมกันทั้ง 7 วัน ทำเช่นนี้มาร่วม 20 ปีมิได้ขาด ลองนับจำนวนครั้งที่พวกเขามีกิจกรรมร่วมกันดูคงร่วมพันครั้ง สมาชิกคนหนึ่งถึงกับพูดขึ้นว่า “พี่น้องยังไม่กินข้าวกันทุกวันเหมือนพวกเขา”

อายุเฉลี่ยของพวกเขาแต่ละคนประมาณ 60-75 ปี แต่ละคนเป็นนักธุรกิจ สวมหมวกหลายใบ บ้างเป็นนายกสมาคม(แซ่ต่างๆ) อุปนายก ผู้ว่าการภาค ฯลฯ กล่าวได้ว่าต่างมีองค์กรของตัวเองอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น

การพบกัน 7 วันนี้นำมาซึ่งรูปแบบพิเศษของกลุ่มที่น่าสนใจมาก ได้แก่
• พวกเขาจะมีสีเสื้อใส่เป็นสีตามวัน อย่างวันนี้เป็นวันอาทิตย์ พวกเขาจะใส่สีแดง(ไม่เกี่ยวกับนปช.นะครับ)

• การพบกันแต่ละครั้งจะมีการหมุนเวียนสถานที่ทานอาหารเช้าทั้ง 7 วัน คือมีที่ประจำ 7 แห่ง แต่ละแห่งจะมีการซื้ออุปกรณ์จำเป็น เช่น ชา ถ้วยชา ให้ไว้ที่ร้าน เพื่อบริการกลุ่มโดยเฉพาะ

• การพบกันจะมีเงินกองกลางเดือนละ 2000 บาทต่อคนเพื่อใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการทานอาหาร เงินเหลือก็เก็บเข้ากองกลาง ปัจจุบันมีเงินเหลือ 50,000 บาท

• กติกาที่เคร่งครัดเป็นพิเศษคือ ไม่มีเรื่องเงินและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง (กติกาข้อนี้ทำให้กลุ่มมีอายุยืนยาวนับ 20 ปี)

• การพูดคุยเน้นการผ่อนคลายมากกว่าคุยเรื่องงาน (ทำธุรกิจก็เครียดอยู่แล้ว มาพบกันจึงไม่คุยเรื่องงาน) บางคนบอกว่า การได้หัวเราะถือเป็นการออกกำลังกายไปในตัว

• ปีหนึ่งจะมีการกินเจ 9 วัน ที่ศาลเจ้าคลองเตย โดยทางกลุ่มจะให้เงินไว้ 10,000 บาท แล้วสมาชิกก็จะมาร่วมกิจกรรม

สมาชิกท่านหนึ่งเป็นนายกสมาคมเก็กเฮียง ซึ่งมีสมาคมแม่อยู่ที่กรุงเทพฯ ว่ากันว่า เก็กเฮียงหรือโผเล้ง เป็นอำเภอหนึ่งของประเทศจีนที่ยากจนมาก การกินอยู่ยากลำบาก จนมีคำพูดว่า “กินเป็ดโผเล้ง” ความหมายก็คือ คนที่นั่นกินเต้าหู้เป็นอาหารหลัก การได้กินเต้าหู้(เรียกแทนเป็ดโผเล้ง-ความหมายเสียดเย้ยสะท้อนความลำบาก) เมื่ออพยพมาสู่ประเทศไทย ประกอบอาชีพจนร่ำรวย จึงรวมตัวกันช่วยเหลือคนจีนด้วยกัน

สมาคมเก็กเฮียงจะมีการมอบทุนการศึกษาทุกปี โดยสมาคมแม่จะแจกจ่ายให้กับสมาคมลูกที่กระจายไปทั่วประเทศ (ปีละประมาณ 3 แสนบาท) อย่างปีที่ผ่านมามีเด็กหาดใหญ่ได้รับทุน 84 คน

นอกจากสมาคมดังกล่าวแล้ว สงขลายังมีมูลนิธิและสมาคมอีกว่า 200 องค์กร ซึ่งต่างก็มีกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลในกลุ่มสมาชิกของตน การได้พบพวกเขาในครั้งนี้เราสัมผัสความผูกพัน ความกลมเกลียว ความเป็นมิตร เป็นกันเองที่มีต่อกันได้ไม่ยาก เหนืออื่นใด การรวมตัวที่ยึดโยงกันด้วยความอาวุโส รับรู้บทบาทของกันและกันตามความถนัด ไม่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การจัดความสัมพันธ์ในลักษณะเครือข่ายแนวราบแบบผู้นำธรรมชาติเช่นนี้น่าสนใจยิ่ง

ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสาระบบของการศึกษาหรือทฤษฎีใดมารองรับ

เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในฐานะพลเมืองที่มีส่วนร่วมช่วยทำให้เมืองหรือแผ่นดินที่ตนอาศัยมีความเข้มแข็งมั่นคง

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน