ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิชุมชนอเมริกา ฝากคาถา4 ข้อคนสงขลา
เวทีสานเสวนา “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสงขลาอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิชุมชนสงขลา ที่สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 8 มกราคมที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมจากภาคราชการ ภาคประชาสังคม นักธุรกิจ นักวิชาการ และสื่อมวลชน อย่างล้นหลามกว่า 80 คน
บรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นกันเอง กิจกรรมเริ่มจากรวมกลุ่มชมหอประวัติพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก่อนเข้าห้องประชุมแบบกลางสวน ผู้เข้าร่วม ได้พบปะ ดื่มทานของว่าง ฟังดนตรีบรรเลงเพลงร็องแง็ง
ข้อความริมฝาห้องที่ว่า “เพื่อการให้ที่มีคุณค่า เพื่อการรับที่มีศักดิ์ศรี” นำมาสู่การกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วม โดย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่าสงขลาเป็นเมืองของพลเมืองทุกคน หน่วยงานราชการ ผู้บริหารต่างมาแล้วก็ไป ไม่มีความต่อเนื่อง การก่อเกิดของมูลนิธิชุมชนจะเป็นจุดเชื่อมโยงภาคพลเมือง ร่วมกำหนดความเป็นไปในการพัฒนา ซึ่งทางจังหวัดมีความยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ และการแนะนำมูลนิธิชุมชนสงขลา และกรรมการมูลนิธิ ฯ ที่มีคุณชิต สง่ากุลพงศ์ เป็นประธาน ซึ่งกล่าวตอนหนึ่งว่า การมาขับเคลื่อนมูลนิธชุมชนสงขลา เพราะเชื่อในสนามพลัง และกฎแห่งการดึงดูดของความคิด ต้องการมาร้อยมาลัยจากดอกไม้หลากสีในสังคม
เวทีสานเสวนาที่มีนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และ คุณบัญชร วิเชียรศรี เป็นผู้นำการเสวนา แนะนำวิทยากร 2 ท่าน คือ Dr.William Plater ,Director Office of Internation Community Development ,Indiana University – Purdue University Indianapolis (IUPUI) และ รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานศูนย์สาธารณประโยชน์ และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ กล่าวถึงวัฒนธรรมการบริจาค แบบไทยๆ ว่ามักจะเป็นการทำบุญให้วัด หลังจากทำบุญแล้วไม่รู้ว่าวัดจะเอาไปทำอะไร การเกิดมูลนิธิชุมชนสงขลา เป็นมิติใหม่ และมั่นใจว่าการระดมทุนของมูลนิธิ เมื่อเงินมาแล้ว จะนำไปใช้ในเชิงสร้างสรรค์
“การระดมทุนเป็นส่วนหนึ่ง แต่การนำไปใช้ ในทางสร้างสรรค์ เป็นสิ่งสำคัญ” รศ.ดร.จุรี กล่าว โดยมองว่าสงขลามีทุนทางสังคมที่ดี คนใต้มีจิตวิญญาณแห่งความเสมอภาค ไม่มีความเป็นเจ้าขุนมูลนาย รักอิสระ สามารถทำงานในแนวระนาบได้ดีกว่าส่วนอื่นของประเทศไทย
Dr.William Plater เล่าถึงความเป็นมาของมูลนิธิชุมชนในรัฐอินเดียน่าโพลิส ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ดินแดนของอเมริกา ยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เนื่องจากชุมชนในอเมริกา มีความหลากหลาย คนต้องช่วยเหลือกันจึงจะอยู่กันได้ มีองค์กรทำหน้าที่หาเงินมาพัฒนาชุมชน โดยความคิดว่า ในสังคมมีผู้ด้อยโอกาส หรือคนประสบปัญหาชั่วคราว อย่างน้ำท่วม ไฟไหม้ ที่ต้องหาบางอย่างเอาไว้รองรับ และทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นในทุกด้าน มูลนิธิชุมชนมีลักษณะของการดึงคนจากทุกฝ่าย ไม่ว่า รัฐ เอกชน ประชาชน ซึ่งต้องใช้ความเชื่อมั่นต่อกันและกันสูงมาก จึงจะเกิดขึ้นได้
Dr.William เล่าว่าค.ศ. 1970-1980 เป็นยุค ที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในอินเดียนาโพลิสไม่มีอะไรเหลือ จนแทบจะเปลี่ยนชื่อเมือง ทำให้คนทุกฝ่ายหันหน้ามาปรึกษา เพื่อช่วยกันผ่านมูลนิธิ ไม่อย่างนั้นคงอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะการเอาไอเดียมาร่วมกันทำงาน ซึ่งในที่สุดได้ความคิดอย่างหนึ่งว่า จะฟื้นเมืองโดยเอากีฬามาเป็นตัวนำ เพราะอินเดียน่า มีการแข่งรถที่มีชื่อเสียง จึงเห็นพ้องว่าน่าจะเอากีฬามากระตุ้นทางเศรษฐกิจและสังคม “เมื่อตกลงร่วมกันแล้ว ทุกฝ่ายกลับไปทำหน้าที่ของตนเอง เกี่ยวกับการกีฬา ไม่ว่าธุรกิจ มหาวิทยาลัย หรือส่วนอื่น ต่างทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดเกี่ยวกับกีฬา” Dr.William กล่าวว่า การฟื้นฟูเมืองผ่านการกีฬาร่วมกันทำให้เกิดการเรียนรู้ ในการทำงานร่วมกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ไปในทุกประเด็นไม่ว่า การกีฬา สุขภาพ ศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ ทุกอย่างร่วมกัน เมื่อผ่านวิกฤติมาแล้ว รัฐอินเดียน่าถูกจัดเป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 10 ของอเมริกาแม้จะเป็นเมืองขนาดเล็กเท่านั้น มูลนิธิจึงได้รับความเชื่อถือ มากขึ้น
Dr.William ฝากถึงการทำงานมูลนิธิว่ามีส่วนสำคัญ 4 ประการคือ (1) ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน และมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน (2) มีความไว้เนื้อเชื่อใจ เชื่อมั่นว่าการลงทุนลงแรงทางสังคม สิ่งที่ได้จะกลับมาสู่สังคมของเรา (3) การเข้ามาเป็นหุ้นส่วนมีความเท่าเทียมกันเพราะทุกคนเท่าเทียมกันในการแสดงความเห็น การทำงาน (4) ต้องมีความยืดหยุ่นให้กันและกัน ต้องมีพื้นที่สำหรับปรับเปลี่ยน ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เวทีผู้เข้าร่วมเปิดโดย คุณสิทธิศักดิ์ ตันมงคล กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา ที่แสดงความเห็นว่า คนใต้มีบุคลิกเฉพาะ ง้อใครไม่เป็น การรวมตัวจึงค่อนข้างยาก แต่มีข้อสังเกตว่ามูลนิธิคนจีนในสงขลาเข้มแข็ง จึงเป็นการท้าทายมูลนิธิชุมชนสงขลา ซึ่งเป็นอีกบุคลิกหนึ่งว่าจะเดินไปอย่างไร
“สำหรับคนทำงานสังคมในสงขลา ที่เป็นอยู่มีทั้งที่ทำเองแบบเงียบๆ มีอยู่ไม่น้อย อย่างไปให้กำลังใจผู้ป่วยตามบ้าน สิ่งที่ขาดอยู่คือ การคิดร่วมกัน มานั่งคุยกัน ทำสิ่งดีๆ ร่วมกัน ไม่มีว่าพุทธหรือมุสลิมมีโอกาสทำเรื่องนี้ได้มาก อย่างชุมชนมุสลิมถ้ารวมซะกาตกันจะมีพลังอย่างมากมาย” คุณสิทธิศักดิ์กล่าว และสรุปว่า สงขลามีความเข้มแข็ง ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องแบบนี้ เพียงแต่ทำอย่างไรให้เดินไปด้วยกันให้ได้
คุณครรชิต ฐานิสโร ตัวแทนสมาคมจีน กล่าวว่า ในสงขลามีมูลนิธิ และตระกูลแซ่ มีความต่างกัน แต่มีการรวมกกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งช่วยเหลือกันมาได้ ความเข้มแข็งที่จะช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นจะมากขึ้น ยกตัวอย่าง มูลนิธิทงเซียเซี่งตึ้ง เป็นมูลนิธิที่มีทั้ง โรงพยาบาล ฌาปนสถาน หน่วยกู้ภัย หน่วยสงเคราะห์ ฯลฯ มูลนิธิอนาถาคนชรา ซึ่ง 5 สมาคมจีนรวมตัวกัน และส่งตัวแทนมาร่วมบริหารประสบผลสำเร็จสืบเนื่องมา สมาคมจีนต่างๆ ยังได้ช่วยเหลือการศึกษา ในนามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนศรีนคร โรงเรียนคุณธรรมวิทยามูลนิธิ เป็นต้น เป็นการช่วยเหลือคนทั่วไปไม่ได้จำกัดแต่คนเชื้อสายจีน
คุณพิชยา แก้วขาว นักพัฒนาเอกชน มองว่ามูลนิธิชุมชนสงขลา จะต่อยอดงานพัฒนาที่เคยมีมา ในอดีตงานพัฒนาไม่เป็นรูปแบบสถาบัน แต่เป็นลักษณะคนทำงานต่างๆ หลายคน เวลาเลิกงานอาจจะมานั่งคุยกัน ซึ่งเริ่มมาตั้งปี 2533 การเรียนรู้ที่ผ่านวงพูดคุยนี่เอง มาถึงสมัยที่คุณบัญญัติ จันทน์เสนะ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เอื้อให้มีการพูดคุยเพื่อแก้ปัยหาสังคมต่างๆ แบบพี่แบบน้อง กระทั่งหลังปี 2550 มีพัฒนาการในนามองค์การ คุยในสิ่งที่กว้างขวางขึ้นจากเดิม
“คิดว่าทุนเดิมคือความไว้วางใจ จาก 10 กว่าปี ที่ได้หลอมรวมกันมา อันนี้เป็นคุณสมบัติที่คนสงขลาใช้เป็นฐานที่เป็นส่วนร่วม คนสงขลามีบุคลิกของนักเชื่อมประสาน ไม่ขาดตอนในการที่ชวนคนมาช่วยกันคิด ยิ่งงานวันนี้มีหน้าใหม่มาช่วยคิด มีการเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัย จึงเห็นว่างานน่าจะไปได้เร็วกว่าที่ผ่านมา” คุณพิกุล บุรีภักดี ตัวแทนประชาคม จากสทิงพระ มองว่าท่ามกลางความขัดแย้งในสงลา สิ่งที่เด่นชัดคือ ต่างใช้ด้านบวกของทุกคนหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหา
“ยกตัวอย่างสมัยท่านบัญญัติ (จันทน์เสนะ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แก้ปัญหาปลากะตัก โดยการใช้ความเป็นผู้ใหญ่ เข้ามาแก้ปัญหา เป็นตัวอย่างผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่น่าจะใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหา”
คุณพิกุลกล่าวว่า สงขลามีศักยภาพทางทรัพยากร แต่คนใช้เยอะ ปัญหาก็เยอะตามมา หลายสิบปีที่ผ่านมาใช้วิธี “เย็น” ในการแก้ปัญหา โดยการมานั่งคุยหาทางออก โดยเป็นรูปแบบของสงขลา เห็นว่าโมเดลในการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ไม่อาจนำไปใช้ได้ในทุกพื้นที่ ที่ผ่านมาสิ่งที่ชัดคือ คนสงขลาคิดแบบสงขลา ไม่เคลื่อนไปตามโครงสร้างหลัก มีความสุขกับแนวคิดแบบคนสงขลา
ดร.ฉัตรชัย รัตนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย กับชุมชนถือว่าเป็นปกติ หมดยุคหอคอยงาช้าง แล้ว แต่อาจมีกำแพง ความเป็นทางการหลงเหลือนิดๆ อันที่จริงวัฒนธรรมการบริหารในมหาวิทยาลัยเองเปลี่ยนไป จนไม่สนใจความเป็นทางการแล้ว ทุกส่วนทำด้วยตนเอง และตระหนักว่า จะทำด้วยตนเองเพียงส่วนเดียวไม่ได้ ต้องเชื่อมประสานกับส่วนอื่นด้วย ยกตัวอย่างการพูดเรื่องโลกร้อน ซึ่งเกี่ยวข้องไปหมดทุกเรื่อง
คุณชาคริต โภชะเรือง จากเครือข่ายแผนสุขภาพจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในเชิงการพัฒนาของสงขลา ในระยะที่ผ่านมาอาจแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ตัวเองอยู่ในรุ่นที่ 2 ทำงานร่วมกับรุ่นพี่ๆ ทุกวันนี้ สงขลามีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ มากขึ้นหลายเรื่อง มาร่วมกันทำงาน สิ่งที่อาจขาดอยู่คือรูปแบบวิธีการที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน มูลนิธิชุมชนสงขลาจะเป็นอีกก้าว ที่นำเอาภาคสังคมมาเชื่อมกับภาคเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาอาจทำแล้วขัดแย้งกันบ้าง ก็จะได้เดินต่อไป หากมีการหลอมรวมกันได้ เท่ากับเป็นโอกาส
คุณสินธพ อินทรัตน์ นายก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ กล่าวว่า การเมืองแข็งตัวหลายเรื่อง โดยเฉพาะเงื่อนไขที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งก็ทำให้ได้คนดียิ่งขึ้น เข้ามาทำงานมากกว่ายุคก่อนเสมอ ถือเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนทางสังคม ทุกด้าน
คุณอรัญ คงนวลใย ตัวแทนจากสถาบันการศึกษานอกโรงเรียนภาคใต้ มีมุมมองว่าสังคมยังพึ่งระบบราชการอยู่ ยังมีระบบแบบแผน ครอบอยู่หลายส่วน การช่วยเหลือสังคมเป็นระบบปัจเจกอยู่มาก มีความแตกต่างอยู่มาก ต้องมีการจัดการเรื่องความแตกต่าง
กล่าวเฉพาะในส่วนของ 5 มหาวิทยาลัยที่เป็นกำลังหลักในด้านการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทางมูลนิธิชุมชนต้องการสร้างความร่วมมือด้วย ได้มีวาระการพูดคุยกันก่อนหน้า ต่างก็มีความเห็นตรงกันที่จะเปิดมิติความร่วมมือในการทำงานร่วมกับภาคชุมชน ซึ่งจะเป็นไปตามศักยภาพ จุดเด่น จุดแข็งหรือนโยบายที่ทั้งฝ่ายมหาวิทยาลัยและภาคชุมชน จะต้องหันหน้าเข้ามาหารือถึงเป้าหมาย กระบวนการดำเนินงานต่อไป
หลายท่านยังได้ร่วมแสดงความเห็นต่อมูลนิธิชุมชนสงขลา ไม่ว่า คุณนิวัติ สวัสดิ์แก้ว รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ตัวแทนจากโรตารี่โคกเสม็ดชุน ตัวแทนจากชมรมผู้ประกอบการรถยนต์ ซึ่งล้วนแต่เป็นการมองด้วยมุมใหม่ เพื่อการพัฒนาสงขลา
ร่วมคิด ร่วมคุย จะนำมาสู่ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งมูลนิธิชุมชนได้ปวารณาตัวเองที่จะเป็นเข็มเป็นด้ายเพื่อเชื่อมร้อยมาลัยหลากสีที่เบ่งบานสะพรั่งงดงามอยู่ในสงขลา ร่วมกันพัฒนาสงขลาอย่างยั่งยืนให้อวดความงามต่อสายตาคนทั้งประเทศ
อนึ่งการเลือกสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นสถานที่จัดงานในครั้งนี้ ก็เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของสถานที่และทุนทางทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในจังหวัด ผ่านแนวคิดการพัฒนา “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ซึ่งจะเป็นเจตนารมณ์พื้นฐานในการสานพลังความร่วมมือต่อไป.
Relate topics
- จังหวะก้าวสำคัญ iMedCare สงขลา
- หนุนเสริมเครือข่าย ทสม.คลองหอยโข่ง
- "เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลาSGS-PGS 2565"
- "iMed ควนลังและพะตง"
- "วิสาหกิจชุมชน ทต.ปริก รองรับการขับเคลื่อน iMedCare"
- "ระบบข้อมูลกลาง"
- Platform : iMedCare ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงที่บ้าน
- "ชุด Care set สงขลา"
- "ฝายดักขยะวัดคลองแห"
- เทศบาลเมืองบ้านพรุกับกระบวนการเรียนรู้การทำแผนชุมชน