บทเรียนบ้านปริญญาจับมือสร้างพลังผู้บริโภค

by Knock Knock @20 ก.ค. 52 15:03 ( IP : 118...87 ) | Tags : กิจกรรม
photo  , 300x225 pixel , 61,965 bytes.

ชาวหมู่บ้านปริญญาเขตเทศบาลเมืองควนลัง จัดกิจกรรมเลี้ยงน้ำชาหารายได้ตั้งกองทุนเพื่อจัดการน้ำในหมู่บ้าน เมื่อ30 พฤษภาคม 2552  มองผิวเผินแค่การแก้ปัญหาของคนกลุ่มหนึ่ง แต่เนื้อหาของงานเห็นบทเรียนผู้บริโภคอันเกี่ยวข้องกับทุกคน

วันนั้นทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ FM88.0 MHz รายการสมัชชาสุขภาพทางอากาศโดยผู้จัดบัญชร วิเชียรศรีและอรุณรัตน์ แสงละออง ร่วมถ่ายทอดสด วงเสวนากรณีศึกษาดังกล่าว ทำคนในวงกว้างรับรู้ปัญหาและทางออกเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

ปัญหาอันยาวนานของหมู่บ้านปริญญาหมู่บ้านจัดสรร ที่สร้างขึ้นก่อนการบังคับใช้กฎหมายจัดสรรที่ดิน  พ.ศ.2543 คือระบบสาธารณูปโภคโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำ เพราะไม่มีระบบน้ำประปา  หลังจากบ่อบาดาลที่หมู่บ้านขุดให้ใช้การไม่ได้ เมื่อชาวบ้านต้องการขุดบ่อบาดาลหมู่บ้านใช้เองต้องติดขัดข้อกฎหมายเกี่ยวข้อง เนื่องจากหมู่บ้านไม่มีที่ดินสาธารณะ

ชาคริต โภชะเรือง สมาชิกของหมู่บ้านปริญญา เล่าว่าบ้านเดิมของครอบครัวอยู่หลังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ติดคลองอู่ตะเภา หลังจากแต่งงานเลือกหนีน้ำท่วมมาซื้อบ้านที่นี่ เพราะมีคนแนะนำ มาดูวันเดียวก็ตัดสินใจ พอรับรู้อยู่ว่าปัญหาหมู่บ้านแห่งนี้คือเรื่องน้ำ  แต่คิดว่าน่าจะรับได้

"แค่ปัญหาน้ำนิดหน่อยไม่น่าจะมีปัญหาอื่น ปรากฏว่าคาดการณ์ผิดกลับมาเจอปัญหาอื่นๆอีกด้วย"ชาคริตเล่า ทุกวันนี้เขาเลยกระโดดมาร่วมแก้ปัญหากับเพื่อนบ้านอย่างเต็มตัว  จนปัญหาต่างๆในหมู่บ้านน่าจะกล่าวได้ว่าผ่านพ้นไปแล้ว ด้วยการการหาทางออก บนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายได้มาช่วยแก้ปัญหา จนอาจถือว่าได้บทเรียนการแก้ปัญหาโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน หันหน้าเข้าหากัน เอาข้อจำกัดแต่ละกลุ่มมาดู มาช่วยกันหาทางออก

สุนภา  ภคพงพันธุ์ สมาชิกหมู่บ้านปริญญาอีกคนหนึ่ง เล่าว่ามาซื้อบ้าน ในปี 2538  เป็นบ้านหลังแรก ตอนตัดสินใจซื้อไม่ได้เช็คอะไรเลย เห็นหน้าบ้าน 6 เมตรครึ่งสมัยก่อนไม่ค่อยมี เลยคิดว่าหมู่บ้านนี้จะอยู่สบาย  ตอนนั้นยังไม่มีปัญหาน้ำ  เพราะน้ำบาดาลที่หมู่บ้านขุดให้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็ใช้เรื่อยมา

"6-7 ปีที่ผ่านมา น้ำแห้ง ประชากร เยอะขึ้น จาก 20 -30 เป็น 70 หลัง ก็มีปัญหามาเรื่อยๆ  เราแก้โดยการซื้อน้ำ รถละ 800 บาท เมื่อประธานหมู่บ้านคนก่อนไปร้องขอรถเทศบาลมาช่วยบางวัน สมัยนายกชอบ (วงศ์ชนะ) ก็มาช่วย ทราบว่าเทศบาลงบน้อย"

สุนภา เล่าว่าคนในหมู่บ้านทุกคนร่วมใจ ยอมใช้ค่าน้ำหน่วยละ 50 บาท เพราะเหตุผลซื้อมาแพง ต้นทุนหน่วยละ  42 บาท หักกำไรที่เหลือ เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าไฟตามถนนหมู่บ้าน  ซึ่งกรณีค่าไฟถนนหมู่บ้านตอนนี้ทำเรื่องยกถนนเป็นถนนสาธารณะของเทศบาล  เพื่อลดค่าภาระดังกล่าว

“ตอนนี้เราเช่าบ่อใช้น้ำซึ่งมีบ่อเอกชนในหมู่บ้าน เขาลงทุนขุดจากจากบ่อเดิมที่แห้งไปจ่ายหน่วยละ 50 บาท เราอยากได้บ่อของชาวบ้านเอง จะขุดบ่อเองใหม่ หรือล้างบ่อเดิม เพื่อให้เป็นของทุกคน ให้อยู่ในหมู่บ้านการขุดหรือล้างอาจเป็นไปได้ ที่เราจะทำ ให้มีน้ำ  แต่ติดขัดเรื่องเงิน”

สุนภาเล่าว่ารูปแบบการจัดการน้ำ ในหมู่บ้านที่ผ่านมาให้ชาวบ้านลงหุ้น ๆละ 3,000 บาทเมื่อเก็บค่าน้ำได้แต่ละเดือนจะคืนเงินค่าหุ้นให้สมาชิก โดยจับฉลากว่าใครจะได้คืนค่าหุ้นก่อนหลัง

คำอธิบายภาพ“เราเช่าบ่อ 3 แสน คนมาลงหุ้นๆ ละ 3,000 บาทใครลงกี่หุ้นก็ได้ คนที่ลงหุ้นมากจะจ่ายค่าน้ำถูกลง” เป็นรูปแบบพึ่งตนเอง ที่ชาวบ้านช่วยกันคิดออกแบบขึ้นมาเองหลังเจอปัญหาเรื่องนี้มานาน

ชาคริต กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า ชาวบ้านระดมหุ้น มาแก้ปัญหา โดยคิดกติกากันมา ดังกล่าวแบบนี้ เป็นแบบที่คิดกันเอง เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำหลายปี และคุยกันบ่อย ค้นหารูปแบบว่าจะทำอย่างไร ใช้หลายรูปแบบ ก่อนมาเป็นการเช่าบ่อน้ำเอกชนดังกล่าวจำนวนเงินที่เช่าบ่อถ้าหารรายบ้านเป็นหลังแล้ว ไม่กี่บาท แต่ในหมู่บ้านส่วนหนึ่งเป็นบ้านเช่าบ้าง เป็นบ้านร้างบ้าง ไม่รับภาระส่วนนี้  คนที่มาร่วมลงหุ้นส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของบ้านที่อยู่จริง  เงินที่ขาดอยู่จึงต้องไปหาจากภายนอก อย่างกู้ยืมจากกองทุนบางแห่งที่ไม่มีดอกเบี้ยมาช่วย

“ช่วงเวลาที่ยังหาข้อตกลงคุยกันไม่ได้ เราไม่อยากให้ทะเลาะกัน จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานมาคุยกัน อย่างที่ดิน เพราะเราพบว่า ไม่มีที่ดิน สาธารณะของหมู่บ้าน ดูจาก เจ้าของโครงการเก่า พอหมดโครงการแล้ว ก็ไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะของของหมู่บ้าน แต่เอาที่ดิน นี้ไปเข้าขอกู้เงินธนาคาร  ตอนนั้นวิกฤติ ปี 2540 เขา มีความจำเป็นหาเงินหมุนเวียน แต่ไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย พอมีปัญหาเรื่องน้ำจะหาที่ขุดบ่อน้ำ ก็กลายเป็นว่าไม่มีที่ขุดน้ำ”

ระหว่างทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมา ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเป็นระยะ  ชาคริตเล่าว่าจากปัญหานี้ ประธานหมู่บ้านพยายามให้ที่ดินตนเองมาขุดบ่อ  แต่เป็นปัญหาขึ้นมาอีกเปลาะ ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า จึงไม่อยากให้ชาวบ้านมีปัญหาเยอะกว่านี้  ยิ่งช้าก็ไม่มีน้ำใช้  แต่กว่าจะคลี่คลาย เกิดปัญหา เรียนรู้ แก้ไข ซึ่งใช้เวลามาเกือบ 2ปี

ชาคริตเล่าว่าจากปัญหา ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง จนคิดว่าระยะยาว จะทำอย่างไร เพราะไม่รู้ระบบประปา จะเข้ามาหมู่บ้านเมื่อไร เป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่แน่นอน อีกอย่างในฐานะที่ตนเองทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถ้าได้น้ำประปามาใช้ก็ยังไม่มั่นใจคุณภาพน้ำประปาซึ่งมีแหล่งน้ำดิบจากคลองอู่ตะเภาที่มีคุณภาพเสื่อมโทรม ถ้ามีบาดาล ก็ได้พึ่งตนเองระดับหนึ่ง มาคิดว่าการลงทุนขุดบ่อบาดาลใหม่สำหรับหมู่บ้านจะเป็นทางออกที่ดีกว่าหรือไม่?

"มี 2 ทางคือจะขุดที่เดิม ตอนนี้หน่วยงานที่เห็นปัญหายอมผ่อนปรนให้ใช้ตรงนั้นได้  อีกทาง ใช้ที่ ดินของหมูบ้านคือ ถนนสาธารณะ คือ ถนนหมู่บ้าน หรือหลังป้อมยาม อันนี้น่าจะเป็นที่สาธารณะที่ จะใช้ได้  จึงจัดงานเลี้ยงน้ำชา นอกจากระดมทุนเราเห็นว่า บทเรียนในการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านน่าจะเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย”[/color]ชาคริตกล่าวและว่า จากปัญหาที่นี่ อยากพบกับหมู่บ้านอื่น เพราะคนในเมืองไม่คอยได้เจอจะได้คุยกับหมู่บ้านอื่น แม้ว่าต่างมีปัญหามีหลายและอยากมีเวทีต่อเนื่อง

ทำไมเราเจอปัญหา แล้วไม่หาทางออกแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายไม่ทะเลาะกัน เพราะชุมชนเมืองต่างคนต่างมา ไม่รู้จักกันการเลี้ยงน้ำชาวันนี้ เป็นเพียงทางออกหนึ่ง แต่ มีช่องว่างอยู่ ถ้าอนาคต เราทำกองทุนหมุนเวียนสักก้อนมาช่วยชุมชนที่เดือดร้อน  มาช่วยเหลือกัน อยากให้เกิดแบบวันนี้ การจัดเลี้ยงน้ำชา มีการจัดตั้งกองทุนน้ำใจ หมู่บ้านปริญญา เรายังอยากเชื่อมเครือข่าย กับหมู่บ้านอื่น เพื่อมองปัญหาต่างๆด้วย เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ” [/color]

นางพึ่งบุญ วงศ์ชนะ นายเทศมนตรีเมืองควนลัง ได้รับปากว่าจะเป็นผู้สนับสนุนและควรหาผู้ประสานงานหมู่บ้านต่างๆในเขตเทศบาลเมืองควนลังมามาคุยกันต่อไป และ กล่าวว่า พื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง 4 หมื่น กว่าไร่ ( 66.7 ตร.กม.)  แบ่งเป็น 2 โซน โซนสูง คือถนนสนามบิน ตลอดสาย น้ำอุปโภคบริโภคมีปัญหา เป็นหินปูน ส่วนโซนต่ำนับฝั่งถนนเพชรเกษมลงมาทางนครหาดใหญ่ น้ำบาดาลเป็นสนิม สรุปว่าทั้งควนลังมีปัญหา  โดยมีหมู่บ้านจัดสรรอยู่ในพื้นที่ กว่า 100 โครงการ

“เราได้จ่ายงบประมาณเทศบาล ให้สำนักงานประปา เขต 5 ออกแบบ และกำลังก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำประปาโซนสูง ใช้งบ 16 ล้านกว่าเสร็จปีนี้ งานที่ 2 วางท่อส่งน้ำ เสร็จในปี 2552 ใช้งบ 16 ล้านกว่าบาท ในต้นปี 2553 ติดตั้งปั๊มท่อสูบน้ำ ใช้งบ 18 ล้านกว่าบาท ที่กำลังดำเนินการ วางท่อเมนจากสนามบินไปหาดใหญ่ ใช้งบ 34 ล้านกว่าบาทในปี 2553-2554  โครงการวางท่อประปาจะครอบคลุมตลอดแนวสนามบิน ”

นางพึ่งบุญกล่าวว่าการจัดระบบประปาให้เต็มพื้นที่ควนลังใช้งบ 200 กว่าล้าน ซึ่งทางเทศบาลเมืองควนลังเองงบไม่มากแต่ไม่นิ่งนอนใจพยายามทำ แต่อาจช้าหน่อย พยายามดูแลเรื่องน้ำในหลายหมู่บ้านที่มีปัญหา ยกตัวอย่างหมู่บ้านแอร์พอร์ทซึ่ง หมู่บ้านทางไปสนามบินหาดใหญ่เกือบทุกแห่งมีปัญหาน้ำเช่นเดียวกัน  ทุกวันนี้รถดับเพลิงของเทศบาลเมืองคลองแหมีหน้าที่ขนส่งน้ำแจกจ่ายชาวบ้านที่มีปัญหา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมาชิกหมู่บ้านปริญญา ทำให้อรุณรัตน์ แสงละออง ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งประเด็นเรื่องบทเรียนการซื้อบ้าน สุนภา  ภคพงพันธุ์ สมาชิกหมู่บ้านปริญญา เล่าว่าสภาพบ้านที่นี่ ค่อนข้างดี บทเรียน สำหรับผู้คิดซื้อบ้านคือต้องดูระบบสาธารณูปโภคว่าจะยืดยาวแค่ไหน

“ของดิฉันซื้อมา 2538  ไม่ถึง 10 ปีก็มีปัญหา แล้วซึ่งไม่ควรเกิด  หากได้มีการตรวจสอบกันมาก่อน แต่เรามีปัญหาหลายอย่างตอนซื้อทำให้มองข้ามไปเพราะเรายังไม่มีปัญหา หรือรู้อะไร เพราะเป็นบ้านหลังแรกของชีวิต”

ประเสริฐ มณีนวล สมาชิกหมู่บ้านปริญญา เล่าว่ามาซื้อบ้านที่นี่เป็นมือสอง การเข้ามาอยู่ หาข้อมูลไม่ได้ พิมพ์เขียวก็ไม่มี “กรรมการหมู่บ้านค่อนข้างจะไม่น่าเชื่อถือในสายตาผม บางครั้ง บางที  เขาสร้างโครงการบ้านจริง  แต่เอาพรรคพวกพี่น้องมาซื้อเอง จัดตั้งเป็นกรรมการเอง บางครั้งเราเจอปัญหาจะโยนไปกรรมการทันที อ้างว่าเป็นกรรมการ กำลังรออยู่ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้”  ประเสริฐเล่าและว่าปัญหาที่เกิดเร็วๆนี้เกี่ยวกับที่ดิน จากที่เป็น นส.3 ตอนหลังโครงการมาเป็นโฉนด การทำโฉนดทำให้เนื้อที่บางหลัง ขาดบ้างเกินบ้าง หาคนรับผิดชอบไม่ได้ เจ้าของโครงการก็ไปแล้ว ไม่รู้หาข้อมูลได้ที่ไหน

คำอธิบายภาพภก.สมชาย ละอองพันธ์ จากเครือข่ายผู้บริโภคสงขลา มองว่ากรณีบ้านปริญญาและการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการรวมพลังแก้ปัญหา

“เพราะคงไม่เกิดที่นี่โครงการเดียวผมมองว่า คนที่ซื้อบ้านหลังแรก  แทบไม่รู้เลยไม่ว่าในแง่ของกฎหมาย ความจริงกฎหมายที่ดิน บ้านจัดสรร มีอยู่ และมีกฎหมายออกมาเรื่อยๆ ทุกคนไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำอะไรบ้าง อีกอย่างผู้ประกอบการมีส่วนฉ้อโกงอย่างตั้งกรรมการขึ้นมาเองเพื่อให้ครบกระบวนการตามกฎหมายเท่านั้น หรือ ผู้บริโภคเองบางคนซื้อบ้านไม่อ่านสัญญาที่เป็นหน้าๆ ซึ่งนี่คือจะเกิดกับหลายคนที่ซื้อบ้าน” ภก.สมชายเสนอว่า น่าจะมีหน่วยงาน มาควบคุม ตรวจสอบโดยตรง และภาครัฐ ควรเข้ามาช่วยชาวบ้านด้วย

นิสิต  หมันเตะ หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดินหาดใหญ่ กล่าวว่าปัญหาหมู่บ้านปริญญา ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะสร้างก่อนกฎหมายจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 หลังออกกฎหมายจะมีระเบียบให้ผู้จัดสรร ดำเนินการ อย่างเช่นระบบสาธารณูปโภคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ปัญหามันเยอะเลย ฝากว่าก่อนซื้อ ต้องซื้อที่หมู่บ้านที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ดูที่โฉนด จะบอกว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือไม่ถ้าทำตามกม. จะมีปัญหาน้อย เพราะกำหนดสาธารณูปโภค”

ธรรมนูญ คีรีพัฒน์ เจ้าพนักงานที่ดิน หัวหน้าส่วนแยกควนลัง สำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่  กล่าวว่าตัวอย่างหมู่บ้านปริญญา เกิดขึ้นก่อนพ.ศ. 2543 ซึ่งไม่ยื่นขออนุญาตจัดสรร เมื่อไม่ยื่น ก็บังคับผู้ประกอบการไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่บังคับใช้ เกี่ยวกับ ระบบประปา ไฟฟ้า บำบัดน้ำเสีย ถนน ทางเดินทางเท้า  ซึ่งมีการกำหนดในกฎหมายปี 2543

ปัจจุบันจังหวัดสงขลามีข้อกำหนดจัดสรรที่ดิน สงขลา 2545 ที่บังคับอยู่ มีคณะกรรมการบังคับใช้ ผู้ขอต้องจัดให้มีแผนผัง  การใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง แผนผังบริเวณรวม รายละเอียดที่สาธารณะ รายละเอียดทางเข้าออก จากทางหลวง หรือทางสาธารณะ บ้านจัดสรร ต้องมีที่สาธารณะ ซึ่งเป็นไปตามขนาดของหมู่บ้าน  เป็นต้น ทั้งหมดต้องขออนุญาตก่อนลงมือทำ  มีหน่วยงานเกี่ยวข้องมาตรวจสอบมาเป็นระยะ ถ้าไม่ทำตามแบบจะมีบทลงโทษ เพิกถอนใบอนุญาต

“ทางออกสำหรับหมู่บ้านที่จะหาที่ขุดบ่อน้ำ จึงเป็นปัญหาเพราะไม่มีที่ดังกล่าวอยู่ในหมู่บ้าน  ส่วนบนถนนถ้ายกให้เทศบาลต้องขออนุญาตทางเทศบาล  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” 

ชโลม เกตุจินดา จากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค จังหวัดสงขลา กล่าวว่าหมู่บ้านปริญญาเป็นบทเรียนหนึ่งที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำ

ความหมายหมู่บ้านเปลี่ยนไปเชิงธุรกิจ  ปริมณฑลของเมืองหาดใหญ่กำลังเจอปัญหาบ้านจัดสรร อย่างในเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ มีผู้อพยพเข้ามาอยู่มาก ทั้งนักศึกษาและ แรงงานต่างถิ่น ยิ่งมีปัญหาซับซ้อน ต้องช่วยกันแก้ปัญหา

“การจัดการเชิงกฎหมาย ของผู้บริโภค ทุกปัญหา เรามาตัน กับกฎหมาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็หวังพึ่งรัฐบาลกลางตลอด คิดว่าน่าจะต้องมองเรื่องการจัดการตัวเอง” ชโลมกล่าว และว่าการรวมกันในการแก้ปัญหาฐานะผู้บริโภคต้องมีพลังไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านปริญญา ต้องหาประเด็นร่วม จะได้พลังของผู้บริโภค แต่นี่ เป็นโจทย์ ที่เห็นปัญหาว่า มีอะไรตามมาเยอะมาก ตามมา คิดว่าพลังผู้บริโภคเป็นโจทย์ที่น่าสนใจ

ณัฐากร  จากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จังหวัดสงขลากล่าว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร เรื่องที่ร้องเรียน ส่วนมาก เกี่ยวกับการโอน

“ส่วนมากชาวบ้านดูแค่น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”

ณัฐากร กล่าวว่า เมื่อมีปัญหา ผู้บริโภค สามารถถือใบโฆษณา ใบเดียว ไปร้องเรียน หรือฟ้องศาลเองได้เลย ตาม กฏหมายคุ้มครอง ผู้บริโภค  ไม่ทำตามที่โฆษณาไว้ ก็ผิด

“สัญญาที่ระบุในโบร์ชัวตามกฏหมายต้องมีขนาดสูงเกิน 2 มิลลิเมตรด้วยจึงจะมีผลทาง เล็กกว่านั้นกฏหมายไม่คุ้มครอง  กรณีร้องเรียน สคบ. สามารถไปร้องเรียนได้ที่ศาลากลางจังหวัด” ณัฐากรกล่าว

อดิเรก วีรกิจ ประธานนิติบุคคลหมู่บ้านอิงกมล สนามบิน กล่าวว่าหมู่บ้านมีปัญหาเรื่อง กลิ่นบ่อขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน  อยากให้เทศบาลเมืองควนลังเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว ส่วนปัญหาน้ำในฤดูร้อนปริมาณน้ำบ่อบาดาลจะลึกมากไม่เพียงพอใช้ได้

อดิเรกเล่าว่าหมู่บ้านที่จัดสรร ตามกฎหมาย หลัง ปี 2543 ทางหมู่บ้านได้จัดตั้งองค์กรนิติบุคคล ทางโครงการจัดบริเวณที่ดินสาธารณะ ถนน สโมสร สระ ว่ายน้ำ มอบให้ชาวบ้าน

“ผู้ซื้อสามารถ มารวมตัว การจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร จะเป็นการรวมกลุ่มผู้ซื้อ เพื่อบริหารสาธารณูปโภค ทั้งหมด แต่หมู่บ้านปริญญา ไม่ขออนุญาตจัดสรร เพราะก่อนปี 43 อาจทำได้เป็นคณะกรรมการหมู่บ้านรูปแบบนี้ทำให้ต่อรองมีพลังเท่านั้น  ไม่มีผลทางกฎหมาย”

ชิต สง่ากุลพงษ์ จากมูลนิธิชุมชนสงขลา กล่าวปิดท้ายการเสวนาในวันนั้นว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นแนวคิดการรวมตัวของชุมชนพึ่งตนเอง เป็นการคุยเชิงสร้างสรรค์ เอาผู้เกี่ยวข้องมาคุยกัน นอกจากเป็นงานเลี้ยงน้ำชาแบบชาวใต้ยามเดือดร้อนเพื่อมาร่วมคิด แก้ปัญหา ทั้งเงิน ความคิด ซึ่งผู้บริโภค อื่นจะได้บทเรียนนี้ ไม่ต้องมาแก้ปัญหา ซ้ำซ้อน

นับเป็นกิจกรรม ที่ไม่ได้หาคนผิด แต่มาร่วมหาทางออกแห่งอนาคต เพื่อให้คนอื่นที่เจอเรื่องแบบนี้ นำไปใช้เป็นบทเรียนอีกด้วย.

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน