14 ภาคีบริหารจัดการสร้างประวัติศาตร์ผนึกกำลังจุดประกายสร้างวิสัยทัศน์สงขลา 2020
มูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ และมูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกับ 14 ภาคีจัดการประชุมเสวนาระดมสมอง “จุดประกายวิสัยทัศน์สงขลา 2020 (พศ.2556-2563) ในวันที่ 7 กันยายน 2554 และมอบเกียรติบัตรและโล่ห์รางวัลคนดีศรีสงขลา ณ หอประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผู้เข้าร่วม จำนวน 800 คน ในการประชุมมีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) สร้าง “สงขลาโมเดล” ยกระดับการพัฒนา
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเจ้าภาพ กล่าวรายงานต่อประธานในงาน ในนาม 14 ภาคีบริหารจัดการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา องค์การบริหารส่วนจังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ สมาคมมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมูลนิธิชุมชนสงขลา สืบเนื่องจากจังหวัดได้ร่วมมือกับมูลนิธิเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ ร่วมจัดทำโครงการเรารักสงขลาเฉลิมพระเกียรติ จัดเสวนา จุดประกายวิสัยทัศน์สงขลา 2020 : อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต และกิจกรรมเชิดชูเกียรติ “คนดีศรีสงขลา” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวาระ 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานได้กล่าวถึงศักยภาพของเมืองสงขลาในด้านต่างๆ ในช่วงปี 54 เป็นมหามงคล ให้องค์กรต่างๆร่วมมือกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอสนับสนุนการจัดทำกิจกรรมเชิงพัฒนา
นายภาณุ ได้กล่าวถึงบทเรียนการทำงาน ที่ได้มาจากการได้เรียนรู้จากผู้บังคับบัญชาในพื้นที่โดยเฉพาะในสงขลา ขณะเป็นนายอำเภอ มีการปิดถนนที่ห้าแยกสำโรง อันเนื่องจากปัญหาบ่อขยะในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นนายอำเภอได้ไปยืนขวางถนน แต่ไม่มีใครให้ความสำคัญ ต่อมาได้รู้จักแกนนำชุมชน ได้พบเห็นช่องว่างการทำงานที่ไม่สามารถควบคุมการดำเนินการให้ไปตามภาพความต้องการได้ทุกอย่าง ได้เข้าไปพูดคุย ไปกินนอนกับแกนนำชุมชน สร้างความเข้าใจร่วมกัน จนเกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน...จากปิดถนนห้าแยกมาปิดอ่าวทะเลสาบ มาเรื่องท่อก๊าซ พบว่าสังคมมีความคิดต่าง มองต่างมุม ซึ่งไม่มีใครผิดใครถูก แต่จะต้องทำความเข้าใจกัน ในการทำงานที่ผ่านมาใช้หลัก 4 ป.ในการแก้ปัญหา ได้แก่ การประชาสัมพันธ์กัน พูดคุยกัน สร้างความเข้าใจกัน แล้วก็ปันประโยชน์กัน และป้องกันเหตุแทรกซ้อน (ทั้งคนนอกและคนใน) และปลุกคนที่เห็นด้วย
สงขลาอยู่ในกลุ่มภาคใต้ชายแดน 5 จังหวัด มีเลขาธิการศอบต.เป็นประธานกลุ่ม มีเงินปีละ 300 กว่าล้านบาท ในการทำกิจกรรม แต่จะแยกประเภทกิจกรรมที่จะทำร่วมกัน เช่น เป็นโครงการขนาดใหญ่คาบเกี่ยวมากกว่า 1 พื้นที่หรือมีผลต่อ 5 จังหวัด ศอบต.มีงบ 6 หมื่น 3 พันกว่าบาท มีแนวทางเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น ส่งเสริมสินค้าฮาลาล ที่สามารถผลิตสินค้าหลากหลาย, การท่องเที่ยว
ทิศทาง ศอบต. ชัดเจนแล้วว่าในรัฐบาลนี้จะไม่มีการยุบองค์กร ส่วนเขตพื้นที่การปกครองพิเศษ ยังไม่สามารถตัดสินใจในวันนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาศึกษา แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ รองรับแทน อยากให้สงขลาได้ใช้โอกาสจากกฏหมายของศอบต. เช่น การประกาศเป็นเขตพิเศษ เพื่อให้เกิดการได้เปรียบกว่าที่อื่น เช่น การประกาศเขตปลอดอบายมุข
ปัจจุบันมิติทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ศอบต. มีเป้าหมายอยากให้คนแข็งแรง...ไม่เน้นโครงสร้างพื้นฐาน แต่เจาะไปถึงครัวเรือน แก้ปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน นำปัจจัยการผลิตไปให้ที่ตรงกับความต้องการ มีการติดตามผล แล้วก็มีการสร้างชุมชนเข้มแข็ง จัดทำประชาคมสร้างความเป็นธรรม โดยมีนายอำเภอเป็นผู้บริหารจัดการรวม แล้วให้ประชาคมโลกเข้าใจ จนเกิดความร่วมมือกันแก้ไข เช่น มีการทอดผ้าป่า CCTV และอนาคตรัฐบาลกำลังมีแนวคิดให้เกิด ศอบต.ภาคประชาชนให้เกิดขึ้นอีกด้วย
วีดิทัศน์ย้อนอดีต “วิสัยทัศน์สงขลา 2555”
โดยสรุปเนื้อหากล่าวถึง เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือจัดทำวิสัยทัศน์สงขลา โดย นายบัญญัติ จันทน์เสนะ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาทางพัฒนาจังหวัดอย่างเป็นระบบ
กระบวนการจัดทำ ใช้การเสวนารับฟังความเห็นต่อประชาชนจนแล้วเสร็จ จนได้วิสัยทัศน์ สงขลาจะเป็นเมืองหลัก และเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ตอนล่าง โดยมี 9 ยุทธศาสตร์
- ศูนย์กลางการศึกษา ประชาชนมีคุณภาพ
- ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี
- ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ
- ศูนย์กลางด้านการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร
- ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว การประชุม การแสดงสินค้าระดับชาติ
- สังคมมีคุณธรรม
- ประชาชนมีศรัทธาต่อระบบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
- กลไกรัฐมีประสิทธิภาพโดยประชาชน เอกชนมีส่วนร่วม
- มีระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในปีนี้ 14 ภาคีบริหารจัดการได้ร่วมมือกันจัดเวทีจุดประกายวิสัยทัศน์สงขลา 2020 : อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
การอภิปรายกลุ่ม เรื่อง “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต การพัฒนาจังหวัดสงขลา”
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นแกนกระดูกของร่างกาย ทำให้เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ การค้าขาย ทำให้โอกาสคนชนบทมีมากขึ้น ดังเช่น โครงสร้างเรื่องระบบขนส่ง ระบบพลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบข้อมูล เทคโนโลยี ปัจจุบันเรามีจุดอ่อนอยู่ที่ระบบรถไฟ ถนนดึในระดับหนึ่ง สงขลาเราได้เชื่อมไปถึงอินเดียตะวันออกกลาง เอเซี่ยน นี่คือโอกาสในเชิงภูมิศาสตร์ เราควรพัฒนาระบบราง แก้ไขปัญหาการขนส่งมวลชนระหว่างสงขลา-หาดใหญ่, ระบบพลังงาน เรามีพื้นฐานที่ดี , เรามีปัญหาเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วม, การศึกษาเราต้องมี superhispeed อินเตอร์เน็ต และการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานในด้านธรรมาภิบาล
ด้านสิ่งแวดล้อม เรามีทรัพยากรหลากหลาย เราควรพัฒนาบนฐานการรักษาทรัพยากรให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของสังคมไทย ไม่ควรเน้นอุตสาหกรรมหนัก แต่ควรเน้นอุตสาหกรรมเบา ที่รองรับจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.สมเกียรติ สายธนู อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ด้านสังคม ศาสนา วัฒนธรรม ที่มีฐานการมีส่วนร่วม เรามีองค์กรต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น องค์กรการเงิน สวัสดิการ สุขภาพ การช่วยเหลือเหตุอุทกภัยที่มีฐานมาจากชุมชนเข้มแข็ง เรามีการทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น ท้องถิ่นให้ความสำคัญกับงานด้านสังคมมากขึ้น ไปได้ไกลกว่าวิสัยทัศน์สงขลาเดิมที่วางไว้ด้วยซ้ำ มีตัวอย่างความร่วมมือเช่น สัจจะวันละบาท สมัชชาสวัสดิการชุมชน สมัชชาสุขภาพ/สงขลาพอเพียง การทำงานเชิงสุขภาวะ สงขลาพอเพียงมีการทำงานพึ่งพาตนเองมากขึ้น นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ อยากให้เน้นการทำงานเพื่อรู้จักตนเองให้มากขึ้น พึ่งตนเองให้มากขึ้น
รศ.ดร.ไพโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาสงขลาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีโรงเรียนประถม มัธยม 819 แห่ง มหาวิทยาลัย 5 แห่ง สงขลามีศิลปินแห่งชาติ 6 ท่าน การศึกษาควรเพิ่มมิติด้านการงานและชีวิต ให้ความสำคัญกับภาษาใต้ ภาษาอังกฤษมากขึ้น สงขลาเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีฐานทรัพยากรหลากหลายเป็นศักยภาพ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะนำไปสู่อาชีพที่หลากหลาย ควรมี 25 คุณลักษณะคนสงขลาที่พึงประสงค์ ได้แก่ รักสงขลา เข้าใจประวัติศาสตร์สงขลา ปฎิบัติตามหลักศาสนา สมาชิกที่ดีของครอบครัว มีความเอื้ออาทร จัดการตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันทางสังคม พัฒนาตนเองเสมอ มีสุขภาพกาย ใจ มีระเบียบวินัย คิดเป็น มีสติปัญญา ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักอ่าน มีคุณธรรม จริยธรรม มีค่านิยมไทย/ใต้ การเรียนรู้เป็นหน้าที่ มีจิตสาธารณะ
รศ.ดร.ประชีพ ชูพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ด้านเศรษฐกิจ และเทคโยโลยี ประชากรสงขลาปี 53 มี 1,357,023 คนมีที่ดิน 4,621,181 ไร่ ใหญ่เป็นอันดับ 27 ของประเทศ อันดับ 3 ของภาค มีพื้นที่การเกษตร 2,277,479 ไร่ ป่าไม้มี 688,862 ไร่ ผลิตภัณฑ์มวลรวม 1 แสนกว่าล้านบาท
ดร.นิวัฒน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ด้านการเมืองการปกครอง ที่มีองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเป็นจุดเปลี่ยนการพัฒนา สงขลาเป็นเมืองใหญ่ คนมาก ยังขาดระเบียบวินัยและเคารพสิทธิ์การอยู่ร่วมกัน มีปัญหายาเสพติดมากขึ้น
ความเห็นของผู้เข้าร่วม
- วิสัยทัศน์จังหวัดมีหลายวิสัยทัศน์ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจน
- ควรนำหลักคิดปรัชญของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนา
- ประชาชนรู้การเมือง ปลูกจิตสำนึกว่าเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของจังหวัด ให้รู้การปกครอง ให้รู้จักลัทธิการปกครองรู้หลักประชาธิปไตย รู้จักทุนทางสังคมนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ รู้จักปกป้องฐานทรัพยากรหลัก
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีมอเตอร์เวย หาดใหญ่-จังโหลน รถไฟและแลนด์บริดสงขลา-สตูล ให้มีโปรแกรมพัฒนาภาษาอังกฤษให้พ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ และพัฒนาบุคลากรที่ให้การศึกษา โดยเฉพาะในด้านสหวิชาชีพมากขึ้น
- ศิลปวัฒนธรรมสงขลา นำทางสังคม บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง สงขลามหานคร สังคมอุดมปัญญา
- สร้างวิสัยทัศน์บนฐานการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน นำไปสู่การปฎิบัติ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ที่ทำไปถึงภาคใต้ตอนบน และฝากประเด็นความมั่นคงให้มีการดำเนินการมากขึ้น
- เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับป่าต้นน้ำมากขึ้น อยากให้กองทัพภาค 4 มาช่วยดูแลร่วมกับประชาคมอนุรักษ์ป่าผาดำ มีหน่วยเฉพาะกิจประจำการถาวร
- วิสัยทัศน์นี้มาคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน รับผลร่วมกัน ให้แสดงความเห็นมาได้ที่สำนักงานจังหวัด
- พัฒนาอยู่บนฐานและวิถีชุมชน ให้ประชาชนได้ประโยชน์
- ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกันของ 14 ภาคีพัฒนา ส่งเสริมการทำดีของเยาวชนแล้วขยายผลผ่านสื่อ
- มหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ชุมชน งาน ชีวิต
- ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
- สำรวจความต้องการว่าประชาชนต้องการอะไร
- การท่องเที่ยวหาดใหญ่มาเป็นครอบครัวมากขึ้น
ต่อไปจะมีการประมวลความเห็นและนำไปสู่การจัดทำวิสัยทัศน์ โดยมีกระบวนการรับฟังความเห็นใน 2 ระดับ คือ ระดับหน่วยงาน และระดับพื้นที่ 4 เขต จากนั้นจะมีคณะทำงานวิชาการ 5 มหาวิทยาลัย ไปยกร่าง แล้วนำมารับฟังความเห็นจากประชาชนอีกครั้ง
ในช่วงบ่าย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้เกียรติมาเป็นประธานมอบรางวัลคนดีศรีสงขลาให้กับผู้ได้รับรางวัล ในปีนี้ประเภทองค์กรดีเด่น ได้แก่ ประชาคมอนุรักษ์ป่าผาดำ คลองหอยโข่ง
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567