บทบาทของมูลนิธิชุมชนในพื้นที่ขัดแย้ง

by ชาคริต โภชะเรือง @6 มี.ค. 54 11:12 ( IP : 223...180 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 400x300 pixel , 78,533 bytes.

บทสรุป "บทบาทของมูลนิธิชุมชนในพื้นที่ขัดแย้ง" เก็บความจากการสัมมนาที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า โรงแรมบีพี สมิหลา จังหวัดสงขลา

โอกาสการพัฒนา

ในอดีตประเทศไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่วันนี้ต่างไปจากเดิม และนับแต่ปี 2004 เกิดเหตุการณ์ไฟใต้ ปลายปีเดียวกันเกิดเหตุสึนามิ ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือมาก่อน แต่ก็กระตุ้นให้เกิดจิตอาสาทั่วประเทศ ทำให้พบพลังในการทำงานร่วมกัน ประกอบกับการทำงานในชุมชนมักพบปัญหาความไม่แน่นอนในด้านงบประมาณและนโยบายที่ติดยึดอยู่กับตัวบุคคล จึงควรมีองค์กรหรือนิติบุคคลที่จะมารับทุนต่อเนื่องเป็นการสนับสนุนการทำงานในพื้นที่

ปัญหาของพื้นที่ควรจะให้คนในพื้นที่ได้เป็นคนแก้ปัญหา ตราบใดก็ตามหากเรายังต้องพึ่งพิงทุนจากภายนอก เปรียบเหมือนร่างกายเราขาดเลือด เรายังต้องพึ่งเลือดจากภายนอก นั่นหมายความว่าเรายังไม่สามารถพึ่งตนเองได้

แนะนำมูลนิธิชุมชน

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่อเมริกา ในปี ค.ศ.1914 ณ เมือง Cleveland รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีมูลนิธิชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาเกิดขึ้นอย่างมากในหลายรูปแบบ

มูลนิธิชุมชนเป็นมูลนิธิของชุมชนเพื่อชุมชน อยู่ในชุมชน เป็นองค์กรของท้องถิ่น อยู่ในชุมชน บริหารโดยชุมชน เพื่อประโยชน์ของชุมชน มีการคิดจัดตั้งกองทุนถาวร หรือการสร้างสินทรัพย์ระยะยาว ที่อาจเป็นสิ่งของ ทักษะ และทุนสำรอง มีความยืดหยุ่นในการกระจายทุน มีความอิสระในการกระจายทุนไม่ติดยึดกับความต้องการผู้สนับสนุนเกินไป

ความสำคัญคือความมีอิสระ แล้วก็มีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย เช่น หอการค้า ภาคประชาชน ภาคราชการ  มูลนิธิชุมชนเป็นเวทีให้คนได้มีความสัมพันธ์กันอย่างมีอิสระ

กิจกรรมของมูลนิธิชุมชน คือเป็นผู้ให้ทุน นำทรัพยากรมาให้คน นำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดีขึ้น เสริมสร้างศักยภาพของคน สร้างความไว้วางใจในการบริหารหรือรับงบประมาณ มูลนิธิชุมชนเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ให้ทุน หรือผู้รับทุน คือรากฐานการสร้างประชาสังคมที่แข็งแรง

มูลนิธิชุมชนมีการทำงานหลักๆ คือ การสร้างความไว้วางใจและความสัมพันธ์ในกลุ่มต่างๆ และเป็นความไว้วางใจในองค์กรที่จะให้ความช่วยเหลือที่เปิดกว้าง โปร่งใส มีการเชื่อมโยงเงินทุนในท้องถิ่น ระดมทุนเล็กๆ ภายในชุมชนด้วยกัน นอกจากนั้นแล้วก็มีการเปลี่ยนวิธีคิดการพัฒนาของคน การทำให้มองเห็นศักยภาพตัวเองหรือเห็นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของคนให้ได้มีสิทธิ์มีเสียง เป็นต้น

การจัดตั้งมูลนิธิชุมชนไม่มีคู่มือสำเร็จรูปที่จะมีให้ใคร เนื่องจากมีรูปแบบการก่อตัวและการทำงานที่หลากหลายที่จะต้องค้นหาและพัฒนาให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน

สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความขัดแย้งเริ่มต้นมาตั้งแต่ 120 ปีก่อน หลังจากที่มีการปฎิรูประบบราชการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ ส่งผลต่อท้องถิ่น กระทั่ง 80 ปีต่อมาหลังจากการปฎิวัติโดยคณะราษฎร์เมื่อปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ 40 ปีแรกประเทศก็ยังถูกปกครองด้วยเผด็จการทหาร จนเกิดโศกนาฏกรรมการเมืองมากมาย ในช่วงนั้นทางใต้ได้เกิดกบฏหะยีสุหลง

ผนวกกับเงื่อนไขการปกครอง คนที่มาปกครองจากส่วนกลางส่วนใหญ่เป็นพุทธ แต่คนในพื้นที่เป็นมุสลิม ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมสะสมตัว กระทั่งในปี 2004 เกิดการปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสลุกลามขึ้นจนเป็นปัญหาระดับประเทศ ปัจจุบันกองกำลังฝ่ายกระบวนการและฝ่ายรัฐต่อสู้กัน ใช้อาวุธทำร้ายกัน ขณะที่องค์กรภาคประชาชนมีทำงานเชิงการจัดการตนเอง พัฒนาตัวเอง โดยมีรูปแบบสำคัญ ได้แก่

  1. ในกลุ่มสร้างชุมชนเข้มแข็ง ต้องการจัดการตนเอง เชื่อว่าชุมชนสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง มีกิจกรรมสร้างให้เกิดชุมชนเข้มแข็งเป็นจุดๆ สะสมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. เป็นขบวนของภาคประชาสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีส่วนร่วมในการแก้นโยบายสาธารณะ

บทเรียนจากไอร์แลนเหนือ

บริบทของประเทศไอร์แลนเหนือ เป็นเกาะเล็กๆระหว่างประเทศอังกฤษและอเมริกา มีประชากร 7 ล้านคน อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมายาวนาน ในพื้นที่มีประชากร 95% เป็นคาธอลิก ทางตะวันออกมีประชากร 1.7 ล้านคน 2 ใน 3 เป็นโปรแตสแตนท์ ต้องการอยู่ในการดูแลของอังกฤษต่อไป แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งคนอยากอยู่กับประเทศไอร์แลนด์ จนมีความขัดแย้งปะทุขึ้นที่ไอร์แลนด์เหนือในปี 1969 ที่นี่มีพรรคที่ปกครองเป็นโปรแตสแตนท์ ซึ่งต้องการให้อังกฤษดูแล  มีการประท้วงแบบสันติ มีการต่อต้านที่ใช้ความรุนแรงนับสิบปี จนเริ่มมีกลุ่มติดอาวุธของโปรแตสแตนท์ ก่อให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนตามมา ทั้งจากรัฐและกลุ่มติดอาวุธ มีนักโทษการเมืองนับหมื่นคน มีคนตาย 3 พันกว่าคน 4 หมื่นคนได้รับบาดเจ็บ จนปี 1984 มีการตกลงหยุดยิง แต่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ในช่วงเวลาของความขัดแย้งนั้นในปี 1979 ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิชุมชน

การจัดตั้งมูลนิธิชุมชน เริ่มจากความต้องการพัฒนาสร้างฐานชุมชนที่เข้มแข็ง ในพื้นที่รัฐเข้าถึงได้ยาก จนเกิดสมาคมชุมชนต่างๆดูแลตนเอง ในหลายกรณีมีการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งจริงๆแล้วพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นคนในพื้นที่ สามารถที่จะเจรจากันได้

ผลจากการรวมตัวกันทั้งกลุ่มคาธอลิกและโปรแตสแตนท์ ต้องการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นพัฒนาชุมชน ผู้นำท้องถิ่นจึงเกิดความคิดรวมตัวกัน ในกลุ่มผู้นำก็มีทั้งกลุ่มคาธอลิกและโปรแตสแตนท์ ทำให้ภาพของคณะกรรมการเป็นองค์ประกอบที่สามารถสะท้อนความเป็นชุมชน คลี่คลายข้อกังวลต่างๆของชุมชน ทำให้สร้างความไว้วางใจทำงานได้ง่าย

มูลนิธิชุมชนได้ใช้เงินจำนวนไม่มากนักไปสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ มีการพัฒนาศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชนเล็กๆ เน้นการไปสนับสนุนตัวแทนชุมชนที่ยากจน ให้เขาได้มีสิทธิ์มีเสียง เสริมสร้างการทำงานให้ หนุนเสริมบทบาทคนในชุมชนร่วมตัดสินใจ อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ การสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นฐานนำมาสู่ความไว้วางใจ นอกจากนั้นแล้ว ยังหานโยบายที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย หรือสวัสดิการสังคม

และให้ความสำคัญกับการทำงานในกลุ่มผู้หญิงที่สามารถทำงานในพื้นที่ง่ายกว่าผู้ชาย (เช่น มีการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กดูแลเด็ก) และให้เวลาเป็นอย่างมากในการสื่อสารสร้างความชัดเจนกับกลุ่มคนต่างๆ หาโอกาสให้คนมารวมกัน พบกัน โดยปราศจากความเสี่ยง ด้วยวิธีการที่เรียบง่าย มีประโยชน์

ความสำคัญของมูลนิธิชุมชน เป็นการเสริมสร้างอำนาจให้กับผู้ที่ไม่มีอำนาจ ทั้งในการเข้าถึงทรัพยากร ทั้งเงิน ทักษะ และข้อมูล เป็นการทำงานระยะยาวเป็นการวางแผนระยะยาว และเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ให้คนมีส่วนร่วมทำให้คนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ

ข้อค้นพบสำคัญ

  1. การพัฒนาไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรงตายตัว เนื่องจากชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตร การพัฒนาจึงเป็นวงจร เช่นเดียวกับกับการสร้างสันติภาพ ไม่ใช่เส้นตรง และมักใช้เวลายาวนาน เป็นกระบวนการจากยุคสู่ยุค ไม่ได้จบลงที่บรรลุข้อตกลงการหยุดยิง เราสามารถร่วมกันสร้างสันติภาพได้แต่ไม่สามารถบังคับให้เกิดสันติภาพได้ ซึ่งแท้จริงแล้วมีผู้ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย สิ่งที่มูลนิธิชุมชนทำได้ คือ สามารถสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้มีการสะท้อนเสียงความต้องการของชุมชนขึ้นมา หรือให้มีกลไกคณะกรรมการชุดหนึ่ง รับข้อมูลหรือสื่อที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือความต้องการในประเด็นต่างๆของสังคม ทำรายงานขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับสังคม กระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถเปิดพื้นที่เพื่อที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหา นำไปสู่การหารือหาทางออกต่อไป

  2. เราสามารถใช้ความสำเร็จของการทำงานสร้างขวัญกำลังใจและเยียวยาในการทำงาน สะสมความสำเร็จจากเรื่องเล็กๆ เสริมสร้างความมั่นใจ เราอาจนำเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุมามีส่วนร่วม ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายสองคล้องกับวิถีของชุมชนไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม เมื่อชุมชนมีความพร้อมมีความไว้วางใจกันแล้วก็นำไปสู่การหาทางออกในเรื่องอื่นต่อไป

  3. ในบางครั้งเราอาจจะต้องไปทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สภากาชาดสากล สหประชาชาติ NGOz โดนเน้นไปในเรื่องของเด็ก เยาวชนที่เกิดความสูญเสีย ให้มีการเข้ามาตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รัฐบาลจะต้องสนองตอบ แต่เราก็ต้องส่งข่าวสู่สังคมเป็นระยะ หรืออาศัยช่องทางขององค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่เชื่อมโยงไปสู่นอกพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหา การสื่อสารกับสังคมอาจทำในรูปแบบของเรื่องเล่า หรือผู้สื่อข่าวพลเมือง หรือผลิตเป็นภาพยนตร์ เพื่อดึงความสนใจของสังคมให้สามารถติดตามสถานการณ์ และควรมีการสื่อสารให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร

  4. โดยทั่วไปแหล่งทุนมักสนับสนุนองค์กรที่เป็นที่รู้จัก เราจึงควรทำ Mapping ให้ชัดเจนว่าเงินที่ได้มาสุดท้ายมันจะไปไหน ไปถึงชุมชนได้อย่างไร มีข้อติดขัดอะไร อย่างไร

  5. ในอดีตมีตัวอย่างความสำเร็จมากมายที่มาจากการลุกขึ้นจัดการตนเองของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เช่น การให้สวมชุดฮิญาป การมีธนาคารอิสลาม การมีหลักสูตรการเรียนการสอนของมุสลิมในระบบการศึกษา

  6. การหาข้อเท็จจริงภายในหรือภายนอกชุมชน ควรเป็นคำตอบของพื้นที่เอง การจะได้ประโยชน์จากคนข้างนอกก็คือ ทำให้คำตอบที่ได้ช่วยทำให้มุมมองของคนภายในตกผลึก

  7. แก้ไขผลพวงของความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับการหาปัญหาที่แท้จริง สร้างโอกาสให้ทุกๆเสียงมีสิทธิ์ มีพื้นที่ได้แสดงออก

  8. ที่ไอร์แลนด์เหนือมีการฟื้นฟูชุมชน สร้างงาน นำงานเข้ามา ทำให้สองชุมชนที่มีความขัดแย้งได้มีโอกาสฟื้นตัวเองจากความยากจน โดยมีคณะกรรมการร่วมที่มาจากสองฝ่าย ให้ตัวแทนสองฝ่ายได้พบกัน คุยกันซึ่งๆหน้า แล้วก็มีนักพัฒนาที่น่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถเจรจากับองค์กรลับของรัฐบาล สามารถสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการเพื่อลดเงื่อนไข มีคนกลุ่มหนึ่งอ่านเอกสารหรือเข้าใจวิธีคิดของทั้งสองฝ่ายเพื่อที่จะสื่อสารลดช่องว่าง แล้วก็มีคนภายนอกผลักดันรัฐบาลอังกฤษตอบสนองต่อการทำให้เกิดสันติภาพ เหล่านี้ทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพขึ้นได้

  9. เมื่อเราอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งเราต้องหาโอกาสให้พบ บางครั้งโอกาสมาหนเดียวหากเราคว้าไว้ไม่ทันก็จะไม่หวนคืนมาอีก

  10. ในไอร์แลนด์เหนือมีการเดินประท้วงมากมาย จนเกิดความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ทางออก เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่ชุมชนบอกว่าพอแล้ว ณ จุดนั้นชุมชนจะลุกขึ้นมาแล้วสร้างความเปลี่ยนแปลง

  11. ใช้เงื่อนไขการแบ่งปันอำนาจกันและกัน ผ่านระบบการเลือกตั้งที่มีตัวแทนของ 2 ฝ่ายเข้าไปทำงานร่วมกัน โดยผู้ชนะจะได้เป็นรัฐมนตรีและผู้แพ้ได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี

  12. ให้ความสำคัญกับการศึกษาชุมชน โดยเฉพาะเด็กที่ออกจากระบบ เชื่อว่าการศึกษาทำให้คนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับการศึกษานอกระบบ ในไอร์แลนด์เหนือมีการเรียนการสอนในคุกจนมีคนที่เป็นนักโทษจบปริญญาเอก

  13. การสื่อสารเพื่อสันติภาพ ต้องชัดเจนว่าในการพบกันแต่ละครั้งมีใครมาร่วมบ้าง สถานที่พบกันต้องมีความเป็นกลาง นอกจากหาประเด็นร่วมแล้ว ยังสามารถใช้มิติกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือหาวัฒนธรรมร่วมที่ทำให้คนสองกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันได้ พูดคุยกันได้ เริ่มต้นกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีผลในเชิงสัญลักษณ์ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับกลุ่มอื่นๆ

  14. ความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐานนำไปสู่สันติภาพ การเก็บความลับข้อมูลของผู้เจรจา มีความชัดเจนในข้อตกลงว่าเรื่องใดคุยได้ คุยไม่ได้ และหาประเด็นที่จะได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย มีความจำเป็นที่จะต้องรับความแตกต่าง และทุกครั้งไม่จำเป็นต้องมีมติร่วม แต่จะเดินหน้าในประเด็นที่เห็นร่วมกันก่อน แล้วก็มีคนทำกระบวนการไปบริหารจัดการกับสิ่งที่เกิดระหว่างการพูดคุย

  15. การสร้างสันติภาพไม่สามารถทำให้เกิดได้ในระยะสั้น และเงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

ความเป็นไปได้ในการเปิดมูลนิธิชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การแก้ปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งไม่มีทางลัด ไม่มีสูตรสำเร็จ ความขัดแย้งที่เกิดแล้วหยุดลง มูลนิธิชุมชนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้หยุด

เราจึงอย่าไปฝากความหวังไว้ที่รัฐ หรือนักการเมือง แต่ประชาชนด้วยกันต้องจับมือกัน ทั้งพุทธและมุสลิมต้องร่วมมือกัน ศาสนาไม่ใช่ตัวที่ทำให้เกิดปัญหาแต่จะช่วยแก้ปัญหา หากประเทศเราขับเคลื่อนด้วยกลจักรหลัก ได้แก่ รัฐ ธุรกิจและสังคม หากประชาชนและภาคธุรกิจจับมือกัน มูลนิธิชุมชนจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดความร่วมมือกัน

การสร้างมูลนิธิชุมชนเป็นงานระยะยาว ใช้ความเป็นมนุษย์มาสื่อสารกัน สามารถข้ามพรมแดนความแตกต่างทั้งหลายได้ การจัดตั้งองค์กรเพื่อการพึ่งตนเองในพื้นที่ 3 จังหวัดหากเรามีความฝัน มีแนวทางที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดี จะทำให้เราสามารถฝ่าฟันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้

มูลนิธิชุมชนเป็นเพียงทางเลือกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยพยายามนำประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และหวังว่าอนาคตการมีหลายทางเลือกจะนำไปสู่การเกิดสันติสุขในพื้นที่ดังที่ทุกคนปรารถนา.

Relate topics

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน