"SUCCESS พะตง"
"SUCCESS พะตง"
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565
คณะทำงานโครงการ SUCCESS เมืองพะตง นัดเครือข่ายภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่คืนข้อมูลผลการศึกษาประเมินความเปราะบางของเมือง โดยมีรองนายกทต.พะตง/ปลัด ทีมสาธารณสุข กองสวัสดิการสังคม การไฟฟ้า รร. สถานประกอบการโรงงาน สท. ตัวแทนชุมชน สถานีอนามัย และมูลนิธิ SCCCRN เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ
การประเมินความเปราะบางฯนี้เน้นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ โดยมีชุมชนบ้านหลบมุมเป็นพื้นที่ศึกษา เมืองพะตงประกอบด้วยโรงงาน 14 แห่ง โรงเรียน ชุมชน อปท. บ้านหลบมุมเป็นทางผ่านของน้ำ ที่ต่ำ มีบ้านเช่า มีแรงงานต่างถิ่น ต่างชาติ พี่น้องมุสลิมจาก 3 จว.มาร่วมอาศัย ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลันจากรูปแบบฝนที่ตกแช่อยู่กับที่ มีการถมที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและการทำถนน ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยน ส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านหลบมุมและใกล้เคียง รวมถึงหมู่บ้านเด็กโสสะที่มีเด็กกว่า 100 คน
บวกกับปัญหาการบุกรุกที่ดินรถไฟ มีการขยายตัวของบ้านเช่า แรงงานต่างชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาการเข้าถึงสิทธิ์บริการพื้นฐานของประชากรแฝง แรงงานต่างชาติ ต่างถิ่น มีการทิ้งขยะอุดตันทางระบายน้ำ การต่อไฟพ่วงทำให้เสียค่าไฟค่อนข้างแพง รวมถึงปัญหาลักโขมย ยาเสพติดที่เริ่มมีมากขึ้น
ข้อสรุปจากการประชุม มีข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาร่วมกันดังนี้
1)พัฒนากลไกการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อสนองตอบต่อชุมชนรูปแบบใหม่ที่มีทั้งคนในพื้นที่ แรงงานต่างถิ่น ต่างชาติ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ อปท. 2 แห่ง กำนัน/ท้องที่ สมาชิกสท. สถานศึกษา ตำรวจ ชลประทาน ประปา สถานประกอบการโรงงาน สถานีอนามัย โยธาธิการและผังเมือง อุตสาหกรรม คณะทำงาน Success และชุมชน จัดทำแผนงานโครงการแก้ปัญหาร่วมกันบนฐานภูมินิเวศ
1.1 ด้านการรับมือน้ำท่วม ศึกษาเส้นทางน้ำเดิม รูปแบบการท่วม เสนอแนวทางขุดลอก ทำคูคลองระบายน้ำเพื่อให้น้ำลงสู่คลองอู่ตะเภาให้เร็วที่สุด ฟื้นฟูคลองธรรมชาติ ควบคุมการถมที่ การใช้ที่ดินสาธารณะที่มีแนวโน้มจะพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนร่วมกับศูนย์อุตุฯ ให้มีช่องทางสื่อสาร รับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการเฝ้าระวังภัย และใช้ประโยชน์สำหรับกลุ่มอาชีพในการวางแผนการผลิตล่วงหน้า
1.2 ด้านการรับมือน้ำแล้ง จัดหาที่ดินสาธารณะทำประปาชุมชน หรือทำระบบฝายน้ำล้น ร่วมกับชลประทานขยายพื้นที่คลองระบายน้ำเดิมให้สามารถกักเก็บน้ำในหน้าแล้ง หรือมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก
1.3 ด้านการเข้าถึงสิทธิบริการพื้นฐาน กรณีผู้บุกรุกที่ดินรถไฟ ร่วมกับพอช.และการรถไฟ ขอเช่าที่ให้ถูกต้อง มีกติกาควบคุมการบุกรุก จัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สามารถรับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมกันดูแลจัดการขยะ
1.4 กรณีชุมชนบ้านหลบมุม สร้างความเป็นชุมชนใหม่ที่มีแรงงานต่างชาติ บ้านเช่า เป็นส่วนหนึ่่งในการบริหารชุมชน เป็นกรรมการชุมชน แบ่งชุมชนเป็น 5 โซน บนพื้นฐานกิจกรรมทางศาสนาหรือสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน ให้มีตัวแทนแรงงานต่างถิ่น ต่างชาติ มาเป็นกรรมการ มีการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ผังชุมชน ค้นหากลุ่มเปราะบางที่จะต้องดูแล ค้นหากลุ่มตัวแทนอาชีพ พื้นที่ ช่วงวัย กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ เกษตรกรให้เกิดการรวมตัว และสร้างกติกาเพื่อการอยู่ร่วมกัน ร่วมกันจัดการขยะเปียก ขยะรีไซเคิล
1.5 ร่วมส่งเสริมให้เกิดกลไกอส.เพื่อช่วยดูแลกันเองในกลุ่มแรงงานต่างถิ่น ต่างชาติ ดูแลด้านสุขภาพ การสื่อสารเพื่อการเฝ้าระวังภัยน้ำท่วม และอื่นๆ
1.6 จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการผลิตอาหาร/เกษตรเพื่อสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อสร้างรายได้และการพึ่งตนเองในพื้นที่
หลังจากนี้คณะทำงานจะได้นำข้อสรุปไปดำเนินการต่อไป
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567