"SUCCESS 6 เมืองในพื้นที่ภาคใต้"

by punyha @1 เม.ย. 65 10:34 ( IP : 171...237 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , โครงการ SUCCESS
  • photo  , 960x720 pixel , 137,342 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 107,522 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 115,493 bytes.
  • photo  , 1080x810 pixel , 122,391 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 177,951 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 166,691 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 128,826 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 149,627 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 72,413 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 71,942 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 85,782 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 94,095 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 115,114 bytes.
  • photo  , 960x720 pixel , 109,282 bytes.
  • photo  , 1560x1170 pixel , 188,557 bytes.
  • photo  , 1170x1560 pixel , 192,649 bytes.
  • photo  , 2000x1500 pixel , 200,463 bytes.
  • photo  , 2000x1500 pixel , 176,646 bytes.

"SUCCESS 6 เมืองในพื้นที่ภาคใต้"

มูลนิธิชุมชนสงขลาในฐานะผู้รับผิดชอบประสานงานในพื้นที่ภาคใต้ของโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อการเปลี่ยนแปลงเมือง(SUCCESS) ภายใต้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปผ่านมาทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ลงพื้นที่เสริมการดำเนินงานกิจกรรม 1.3 ศึกษาประเมินความเปราะบางของเมือง ใน 6 พื้นที่เป้าหมาย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดโอไมครอน

24 มีค.ลงพื้นที่เมืองละงู จ.สตูล คณะทำงานได้เก็บข้อมูลแล้วเสร็จ ประมวลผลแบบสอบถามและข้อมูลจากการสัมภาษณ์หน่วยงานแล้ว เมืองละงูเน้นการทำงานในพื้นที่ลุ่มน้ำละงู ที่ประกอบด้วย 3 อปท.หลักได้แก่ ทต.กำแพง อบต.กำแพง และอบต.ละงู จุดเน้นการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ผลการศึกษาชี้ให้เห็นทุนทางภูมินิเวศและเครือข่ายเครือญาติที่ยังคงเป็นทุนหลักในการนำมาใช้รับมือกับความเสี่ยง แนวทางสำคัญมีข้อเสนอสร้างธรรมนูญลุ่มน้ำละงู ฟื้นฟูระบบนิเวศ สัตว์น้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และเชื่อมโยงเครือข่ายภัยพิบัติตลอดลุ่มน้ำ แต่ละอปท.ได้จัดทำธรรมนูญสุขภาพของตน อาทิ ทต.กำแพง จัดทำธรรมนูญปันรักคนพิการ ดูแลคนพิการในพื้นที่ อบต.ละงู ได้จัดทำธรรมนูญฟากาตตำบลละงู สร้างพื้นที่กลางของการทำงานบูรณาการร่วมกันกับ 18 หมู่บ้าน

28 มีค.ลงพื้นที่เมืองบ่อยาง แกนนำคนจนเมืองร่วมกันดำเนินงานในนามเครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา ปัญหาร่วมคือที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีทั้งน้ำท่วม วาตภัย กัดเซาะชายฝั่ง จึงกระทบกับ 4 ชุมชนที่เป็นพื้นที่ศึกษา จุดเน้นการรับมือได้วางพื้นฐานการทำงานในชุมชนรูปแบบเครือข่าย คณะทำงานที่เป็นชุมชนลงเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเองทั้งแบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ ทำให้เห็นทุนของคนจนที่ต้องพึ่งตัวเอง พึ่งเครือญาติและเครือข่าย พร้อมอาศัยสถานการณ์โควิด จัดตั้งครัวกลาง ทำผังชุมชน ค้นหากลุ่มเปราะบาง และร่วมกันสร้างกติกาหรือธรรมนูญคนจนเมืองให้เกิดความเข้มแข็งพึ่งตนเอง

29 มีค.ลงพื้นที่เมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ทีมผู้บริหารเทศบาลเป็นเจ้าภาพหลักกับชุมชนได้เก็บข้อมูลแบบสอบถามแล้วเสร็จ กำลังประมวลผล เบื้องต้นจุดเน้นอยู่ที่ปัญหามลพิษจากการจราจร การขนส่งสินค้าข้ามแดน การเผาไหม้ขยะและหมอกควันข้ามแดน ที่นี่มีทุนองค์กรชุมชนที่สามารถช่วยเหลือดูแลกันเอง การทำให้กลุ่มองค์กรชุมชนเข้มแข็ง สามารถช่วยกันเอง ดูแลกันเองบนฐานวิถีพหุวัฒนธรรม จะเป็นจุดเด่นของพื้นที่ ควบคู่กับการจัดระเบียบการขนส่ง การจราจร การแก้ปัญหามลภาวะที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
30 มีค. ลงพื้นที่เมืองโตนดด้วน จ.พัทลุง จุดเน้นที่นี่ศึกษาปัญหาการบริหารจัดการน้ำ พบปัญหาน้ำท่วมขังในม.11 ที่เป็นที่ต่ำ มีการถมที่ขวางทางน้ำ และการระบายน้ำจากต้นน้ำในปริมาณมาก จากสภาพทุนทางสังคมที่ชุมชนพึ่งตนเอง ช่วยเหลือตนเอง ทำให้เห็นโอกาสในการต่อยอดสร้างความสัมพันธ์ ฟื้นพลังชุมชนที่ห่างเหินกันไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศสายคลองย่อย เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ ถักทอเครือข่ายระดับหมู่บ้าน กำหนดแผนที่/แผนผังชุมชน แผนผังจุดเสี่่ยง แผนผังเครือข่าย

อำเภอควนขนุนเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนระดับประเทศ มี 2 ตำบลได้ดำเนินการทำธรรมนูญรับมือโควิด ซึ่งกำลังกระทบกับระบบสาธารณสุข การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกระจายในระดับชุมชน/ครัวเรือน จะช่วยรับมือผลกระทบระยะยาว

31 มีค. ลงพื้นที่เมืองควนลัง จ.สงขลา แกนนำคณะทำงานประกอบด้วยเครือข่ายสวนผักคนเมืองควนลัง ผู้ทรงคุณวุฒิ ชี้ผลการศึกษาในประเด็นการจัดการน้ำเพื่อการเกษตร พบปัญหาคลองระบายน้ำ ร.1 ทำให้ระบบน้ำผิวดินลดลง กำลังจะจับมือกับชลประทานและเทศบาลในการแก้ปัญหาบริหารจัดการน้ำร่วมกับเกษตรกร ชุมชน สร้างเครือข่ายผู้ใช้น้ำ กำหนดกติกาผู้ใช้น้ำในพื้นที่ ร่วมกันปรับการผลิตรองรับพืชใช้น้ำน้อย ส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ส่งผู้บริโภคในเขตเมือง

#เสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม

#เพิ่มทุนทางสังคมรับมือความเสี่ยง

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน