ร่วมแรง รวมพลังคนเมืองบ่อยางสงขลา
ร่วมแรงรวมพลังคนเมืองบ่อยางสงขลา
สืบเนื่องจากการศึกษาความเปราะบางของเมืองบ่อยางสงขลาในโครงการ SUCCESS ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ( TEI ) ทำให้พบว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ คนจนเมืองบ่อยางส่วนใหญ่ต้องอาศัยการพึ่งพิง และจากการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเทศบาลนครสงขลาทำให้เกิดการรวมตัวกันของคนจนเมืองบ่อยางเป็นกลุ่มที่มีระบบชัดเจน เป็นรูปธรรมที่รู้จักกันในนาม " เครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา" จนมีผลต่อเนื่องในเวลาต่อมาคือเกิดการก่อตั้ง " กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ " จำนวน 16 กลุ่มของ 16 ชุมชนเขตเทศบาลนครสงขลา ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเปราะบางทางสังคมชุมชนเมืองบ่อยางอย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ขณะนี้ชุมชนคนจนเมืองบ่อยาง สงขลา ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 ซึ่งถือว่าเป็นภัยพิบัติโรคระบาด ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขี้นในระยะต่อไป และจากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้คนจนเมืองบ่อยางซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อและผู้กักตัวที่ใช้วิธีการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านรวมถึงกลุ่มเปราะบาง เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร
เครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลาได้ตระหนักในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ จึงจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยขึ้นหลายครั้งในระยะเดือนมีนาคมนี้ เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาโดยเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลักสำคัญ และในที่สุดก็มีความเห็นพ้องกันว่า จะนำประสบการณ์เดิมของภารกิจ " ปิ่นโตตุ้มตุ้ย" ของชุมชนแหลมสนอ่อนมาใช้ผนวกรวมกับความสามัคคีของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จำนวน 16 กลุ่มบวกรวมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ชุมชนแหลมสนอ่อน รวมเป็น 17 กลุ่ม 17 ชุมชนเพื่อจัดตั้งครัวกลางของแต่ละชุมชนเพื่อปรุงอาหารปรุงสุกดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด- 19 ที่รักษาตนเองอยู่ที่บ้านและกลุ่มเปราะบางที่มีอยู่ในชุมชน แต่ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลและแก้ไขปัญหาทำได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณเป็นไปในลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนที่สามารถช่วยเหลือกันได้อย่างระยะยาว ที่ประชุมจึงมีมติ ดังนี้
1.ในระยะแรก ช่วงเดือนมีนาคม 2565 นี้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์จำนวน 8 กลุ่มจะร่วมกันจัดตั้งครัวชุมชนเป็นครัวนำร่องใน 4 พื้นที่ชุมชนคือ ครัวปิ่นโตตุ้มตุ้ย ชุมชนแหลมสนอ่อน. ครัวชุมชนสนามบิน. ครัวชุมชนพัฒนาใหม่และครัวชุมชนบาลาเซาะห์เก้าแสน กับ ชุมชนหลังโรงพยาบาลจิตเวช (ซึ่งจะแยกส่วนปรุงอาหารไทยพุทธและไทยมุสลิม)
2.ระบบการบริหารจัดการงบประมาณ และวัตถุดิบรวมถึงการส่งมอบอาหาร จะใช้วิธีการการบริหารร่วมกันโดยมีคณะกรรมการบริหารที่มาจากทุกกลุ่มออมทรัพย์ และจะมีการรายงานผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ เดือนละ 2 ครั้ง โดยสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เครือข่ายพัฒนาเมืองสงขลา เป็นหลัก
3.การจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการในครั้งนี้ จะใช้การรับบริจาค และการจัดหารายได้ด้วยการเปิดครัวจำหน่ายอาหารราคาต้นทุน(ไม่คิดค่าแรงงาน)ให้แก่บุคคลทั่วไป ในขณะเดียวกันแต่ละกลุ่มสัจจะออมทรัพย์จะดำเนินการให้สมาชิกกลุ่มรู้จักการลดรายจ่ายโดยการผลิตของใช้ที่จำเป็นด้วยตนเอง เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาเอนกประสงค์ในครัวเรือน การปลูกผักบริโภคในครัวเรือน
4.บรรจุภัณฑ์สำหรับการบรรจุอาหารเพื่อบริจาคนั้นทุกกลุ่มจะเน้นการใช้ปิ่นโตและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนี้เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อกล่องบรรจุอาหารประเภทพลาสติกและเพื่อไม่เพิ่มปริมาณขยะ
5.เปิดการรับคำสั่งซื้อจากสมาชิกกลุ่มและสมาชิกชุมชนต่างๆ ทุกวันอาทิตย์ และจัดการส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อในทุกวันอังคาร สินค้าที่จะจัดซื้อพร้อมกันมีดังนี้
ข้าวสารและข้าวเหนียวชนิดต่างๆ ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย น้ำดื่มบรรจุขวด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง
หมายเหตุ จะไม่มีการสต๊อคสินค้าเนื่องจากจะเกิดปัญหาสถานที่ในการจัดเก็บ และคุณภาพสินค้าที่อาจจะเสื่อมได้
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดซื้อสินค้าในคราวเดียวกันนี้ มีดังนี้
1.ลดต้นทุนซื้อ
2.ลดการไปจ่ายตลาด จะทำให้ลดอัตราผู้ติดเชื้อในชุมชนลงได้บ้าง
3.ลดค่าน้ำมันเขื้อเพลิงในการเดินทาง
4.จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและกลุ่มเกษตรกรต่างๆ
5.คนจนเมืองได้มีอาหารปลอดภัยบริโภค
6.ได้มีเครือข่ายผู้ผลิตอาหารในกรณีเมืองบ่อยางเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือกรณีเกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอาหาร
7.มีการสร้างกติกาสัญญาใจคนจนเมืองบ่อยางเพื่อจะได้เป็นแนวปฎิบัติร่วมกัน อาทิ
-คนบ่อยางจะดูแลกันและกัน
-หากมีปัญหาร่วมกันจะต้องนำปัญหามาคุยและปรับความเข้าใจกันฉันท์พี่น้อง
-คนบ่อยางรักและสามัคคีกัน
-ไม่นำประเด็นศาสนาและการเมืองมาถกเถึยงกันในที่ประชุมของเครือข่าย
-บริหารจัดการแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้
บุณย์บังอร ชนะโชติ บันทึกเรื่องราว
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567