"เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง"
"เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง"
วันที่ 4 มีนาคม 2565 คุณชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลาได้รับเกียรติจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ชวนให้มานำเสนอกิจกรรมสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของงานเกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น
เกษตรเมือง เริ่มได้รับความสนใจ ทิศทางใหม่นี้ครอบคลุมมิติเชิงกายภาพ เช่น พื้นที่สีเขียว ชุมชนสีเขียว ธุรกิจสีเขียว PM.2.5 และเชื่อมโยงแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนในหลายมิติ
ในงานได้เห็นรูปแบบที่ดำเนินการในอเมริกาที่ใช้พลังนโยบายในการสนับสนุนรวมถึงพลังภาคเอกชนที่จัดการความรู้ในการผลิตแบบใหม่ๆ ขณะที่ประเทศไทยมีทุนทางสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศที่เอื้อให้ผลิตในแบบอินทรีย์ได้มากกว่าเชิงเกษตรปลอดภัย แต่ปัจจัยสนับสนุนทั้งหลายยังไม่เป็นรูปธรรมนัก ด้วยเกษตรเชิงพาณิชย์กระแสหลักยังอยู่กับเชิงเดี่ยว ขณะเกษตรกรบ้านเราส่วนใหญ่เป็นรายย่อย
บอกเล่าประสบการณ์การทำกิจกรรมสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ ของมูลนิธิชุมชนสงขลาที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2557 หลังจากเห็นช่องว่างการสนับสนุนและเห็นศักยภาพของคนเมือง ประกอบกับโชคดีได้พบเจอครูไก่-วุฒิศักดิ์ เพ็ชรมีศรี ตอนที่เป็นนักวิชาการเกษตร มาช่วยเป็นวิทยากร นำความรู้ที่มีเหลือเฟือมาถ่ายทอด
ครูไก่เป็นผู้วางรากฐานการคิดแบบชาวบ้านปรับใช้วัสดุที่มีรอบตัว นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยความรู้ เริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่สุด คือ ดิน/ระบบโครงสร้างของดินที่ดี เราได้นำมาใช้ในการปลูกผัก ก่อนต่อยอดด้วยการเติมปุ๋ย เติมเชื้อจุลินทรีย์ ราเขียว หรือแม้แต่สารไล่แมลง ต่อยอดความรู้ไปได้เรื่อยๆ พร้อมกับจัดการขยะเปียกที่มีรอบตัวมาใช้ประโยชน์ เกษตรที่ผสานการจัดการขยะ ไม่ได้มองขยะเปียกเป็นของเหลือทิ้ง แต่กลับเห็นคุณค่า เห็น NPK ที่มีอยู่ในครัว ธาตุอาหารเหล่านี้ไม่ต้องซื้อ
ความที่คลุกคลีกับเกษตรกรมานาน ทำให้ครูไก่สร้างนวตกรรมมาเรื่อยๆ เราลองทำปุ๋ยก้อนจากของเหลือใช้ ทำถังน้ำหมักแบบเปิดก็อก ทำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ทำที่ฉีดน้ำ น้ำส้มหมักจากกล้วย แปลงผักบุฟเฟ่ ฯลฯ ความรู้ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณลงทุน เป็นเทคโนโลยีแบบชาวบ้าน ราคาเข้าถึงได้เช่นนี้หาได้ยาก
มุมมองใหม่ๆเช่นนี้สมาชิกสวนผักคนเมืองได้รับรู้กันดี
ช่วงโควิด ครูไก่ก็ชวนทำห้องเรียนทางอากาศ ชวนสมาชิกลงมือปฏิบัติไปพร้อมวิทยากร เราฝึกทำการสกัดน้ำเอนไซส์จากเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้ง ทำน้ำปั่นผัก เปิดคลีนิคสวนผักทางอากาศ ให้สมาชิกใช้สมาร์ทโฟนฉายภาพพืชผักที่ประสบปัญหา ครูไก่ได้ให้คำแนะนำทางออก
เกือบสิบปีที่เราร่วมงานกัน บุคลากรของกระทรวงเกษตรและความรู้เช่นนี้หาได้ยากมาก
เล่าแนวคิด แนวทางส่งเสริม แนวทางกิจกรรมที่ได้ประโยชน์ทั้งเพื่อสุขภาพ(กาย ปาก ตา ใจ) สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม นำตัวอย่างสวนผักสุภาพอ่อนหวาน สวนปู่กับย่า สวนเบญจพฤกษ์ สวนลุงนุ้ยป้าสาว สวนบังสวาสดิ์ สวนผักชุมชนมงคลหรรษา สวนผักคนจนเมือง ฯลฯ สร้างแรงบันดาลใจ
ปัจจุบันสวนผักคนเมืองหาดใหญ่ ก้าวสู่ยุคที่ 3 เริ่มเป็นผู้ประกอบการ เรามีสวนผักคนเมืองกระตุ้นการผลิตแบบอินทรีย์เพื่อบริโภคในเขตเมือง เรามีเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัด มีแบรนด์ Green Smile มีมาตรฐาน SGS-PGS รับรองมาตรฐานPGS สำหรับเกษตรกรรายย่อย และเรากำลังเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการส่งวัตถุดิบอาหารปลอดภัยเข้าสู่รพ. และอื่นๆ
#ได้ครูดีพี่เลี้ยงดีประชาชนก็เติบโต
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567