"ร่างธรรมนูญปันรักคนพิการ ทต.กำแพง"
"ร่างธรรมนูญปันรักคนพิการ ทต.กำแพง"
คณะทำงานทต.กำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 12 ร่วมกันร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลที่ใช้ชื่อว่า "ธรรมนูญปันรักคนพิการทต.กำแพง"
(ร่าง)ธรรมนูญปันรักคนพิการทต.กำแพง 3 ปี (พศ.2565-2568)
วิสัยทัศน์ “คนพิการมีระบบการดูแลสุขภาพกาย ใจ ทั้งการป้องกัน รักษา ฟื้นฟู อย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเข้าถึงสิทธิ์พื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตในชุมชนได้อย่างมีความสุข"
ประกอบด้วยข้อตกลงในด้านต่างๆ ดังนี้
ด้านสุขภาพ
1)อสม.เยี่ยมดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพกาย ใจ
2)อสม. ชุมชน ผู้สูงอายุเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันความพิการด้วยการออกกำลังกาย และลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม
3)ทต.กำแพงร่วมกับชุมชนจัดระดมทุนผ่าน “ศูนย์ปันรัก” ทั้งในรูปแบบเงิน อุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือคนพิการที่ยากลำบาก ด้วยวิธีการต่างๆ
4)ทต.กำแพงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพชมรมคนพิการให้มีความเข้มแข็ง
5)ผู้ดูแลคนพิการร่วมกับคนพิการมีการพบแพทย์ตามนัด กินยาตามค่ำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ด้านสังคม
1)ชุมชนลดการตีตราคนพิการ สร้างเจตคติที่ดีที่ต่อคนพิการ ร่วมดูแลคนพิการในชุมชนประดุจดังญาติพี่น้อง
2)ชุมชนร่วมกันสร้างความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน
ด้านเศรษฐกิจ
1)ทต.กำแพงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างอาชีพให้กับคนพิการ
ด้านการพัฒนาระบบการบริการ
1)ทต.กำแพงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการโครงการ๑ ชุมชน ๑ ผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน(Home caregiver)ในการช่วยทำกายภาพและให้การดูแลผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เชื่อมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2)เพิ่มบุคลากรจิตอาสาหรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน(Home caregiver) ในการดูแลคนพิการที่มาจากลูกหลาน ญาติพี่น้อง และมีการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ดูแลอย่างต่อเนื่อง
3)ให้มีกลไกในการบูรณาการงานดูแลคนพิการระดับตำบล ประกอบด้วยชมรมคนพิการตำบล รพ.อำเภอ ศูนย์บริการคนพิการ/ชมรมผู้สูงอายุ/พมจ.นักบริบาลท้องถิ่น โดยทต.กำแพงเป็นเจ้าภาพประสานงาน ทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประสานงาน แก้ปัญหาสิทธิ์พื้นฐาน
4)ทต.กำแพงจัดตั้งศูนย์กายอุปกรณ์ระดับตำบล
ทั้งนี้ทต.กำแพง เป็นชุมชนดั้งเดิมมาตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันมีประชากร 5125 คน 2041ครัวเรือน เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มตัว มีคนพิการทั้งสิ้นใน 8 ชุมชน จำนวน 139 คน ใน 8 ชุมชนมีชุมชนตลาสดเป็นคนต่างถิ่นและเป็นประชากรแฝงเข้ามาค้าขายจำนวนมาก ประชากรทั้งสิ้นเป็นมุสลิมมากถึง 90% และมีพุทธ และจีนอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบอาชีพค้าขาย เป็นกษตรกร ได้แก่ประมง ทำสวนยางพารา สวนปาล์ม ปลูกผัก นอกจากนั้นเป็นข้าราชการและรับจ้างทั่วไป มีฐานะโดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอมีพอกิน
ทุนทางสังคมมีมัสยิด 2 แห่ง บาลาเซาะ 3 แห่ง วัด 1 แห่ง ศาลเจ้า 3 แห่ง โรงเรียนขยายโอกาส 1 แห่ง โรงเรียนเอกชน 2 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง สวนสาธารณะ 1 แห่ง มีสถานที่ออกกำลังกาย 1 แห่ง มีรีสอร์ท 4 แห่ง แมนชั่น 1 แห่ง และเป็นที่ตั้งของสนง.เกษตรอำเภอ ที่ดินอำเภอ ไปรษณีย์ กศน.
ที่นี่มีคลองละงูล้อมรอบ เป็นพื้นที่บริเวณกลางน้ำของลุ่มน้ำละงู
ชุมชนมีผลิตภัณฑ์เด่น ได้แก่ ขนมจีนรูปแบบดั้งเดิม หอยปุ้งปิ้ง กุ้งแม่น้ำ ปลานิล พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน โบราณสถานประกอบด้วยบ่อน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และหอนาฬิกา
สภาพปัญหาคนพิการที่พบ ประกอบด้วย
1)ด้านสุขภาพ คนพิการส่วนใหญ่อยู่ในประเภทด้านการเคลื่อนไหว มีสาเหตุความพิการจากการป่วยโรคเรื้อรัง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 23 คน ทำให้บางส่วนขาดคนดูแล ผู้ดูแลมีไม่เพียงพอ มีความเครียดและไม่มีงบประมาณขาดรายได้ จากการลงเยี่ยมบ้านและเก็บข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น iMed@home พบคนพิการมีความต้องการเงินสงเคราะห์ 21 คน ต้องการอาหาร 16คน ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 14 คน ต้องการรถเข็นที่พับได้ 2 คน สภาพของบ้านสกปรก มีกลิ่นเหม็น
2)ด้านสังคม พบความต้องการซ่อมแซมบ้าน 2 คน พบไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลจากการเป็นคนต่างด้าวมาแต่งงานกับคนในพื้นที่ 1 คน นอกจากนั้นพบปัญหาญาติไม่ให้ความร่วมมือ และเกิดความขัดแย้งในครอบครัวในการดูแล
3)ด้านเศรษฐกิจ คนพิการขาดรายได้ คนดูแลไม่มีรายได้
4)ด้านระบบบริการ คนดูแลไม่พอ ขาดความรู้ในการดูแล ไม่มีกลไกรับผิดชอบที่ชัดเจน
ส่วนทุนเดิมหรือสิ่งดีๆที่มีในชุมชน
1)ด้านสุขภาพ พบว่าคนพิการมีญาติพี่น้องดูแล ทำให้มีสุขภาพจิตดี
2)ด้านสังคม มีสวัสดิการดูแล มีชมรมคนพิการระดับตำบล ทต.ช่วยระดมทุนประสานความช่วยเหลือ มีเครือข่ายมูลนิธิกระจกเงาช่วยจัดหากายอุปกรณ์ช่วยเหลือ
3)ด้านเศรษฐกิจ รพ.ให้การส่งเสริมอาชีพ
4)ด้านระบบบริการ มีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มีศูนย์กายอุปกรณ์ มีนักบริบาล 2 คน ระดับอำเภอมีกลไกเชื่อมโยงประสานความร่วมมือ
นอกจากนี้ยังบูรณาการกับโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง(SUCCESS)นำข้อมูลจากการประเมินความเปราะบางของเมืองละงูมาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้วิเคราะห์เพื่อดูแลคนพิการอีกด้วย
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567