เราจะเปิดเทอมเดือนพฤศจิได้จริงไหม
เราจะเปิดเทอมเดือนพฤศจิได้จริงไหม
ผมได้คุยกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง เราแลกเปลี่ยนกันว่า “เดือนพฤศจิกายน เราสามารถเปิดเทอมได้จริงไหม” คำถามนี้น่าสนใจมาก เราเห็นตรงกันว่า “การเปิดเทอมเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้ เป็นธงแห่งความหวังของนักเรียน และเป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการจัดการของรัฐบาลและสังคม” คำถามนี้จึงต้องถามว่า “เราจะทำอย่างไรให้สามารถเปิดเทอมเดือนพฤศจิกายนให้ได้ ในท่ามกลางโควิดที่ยังระบาดอยู่”
เราเห็นตรงกันว่า “เราต้องจัดวัคซีนให้กับนักเรียน 12-18 ปีสำหรับทุกคน รวมทั้งครูและบุคลากรแม่ค้าภารโรงในโรงเรียนทุกคนด้วย และตุลาคมคือเดือนแห่งการเตรียมการ”
ในความเป็นจริง เด็กนักเรียนติดโควิดนั้นไม่น่าห่วงมาก เพราะเกือบทั้งหมดจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นักเรียนกลุ่มนี้จะรับเชื้อไปติดญาติหรือคนในครอบครัวที่ไม่ฉีดวัคซีน แล้วจะเกิดการแพร่ระบาดในชุมชน ดังนั้นหากนักเรียนทุกคนได้รับวัคซีน เมื่อได้รับเชื้อแล้วอัตราการเกิดโรคจะลดลง การแพร่กระจายเชื้อต่อก็จะน้อยลงไป การฉีดวัคซีนนักเรียนจึงไม่ใช่เพื่อลดการติดเชื้อของเด็กเท่านั้น แต่ลดการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชนและครอบครัวด้วย ซึ่งสำคัญมาก
อย่างไรก็ตามการติดเชื้อโควิดในกลุ่มเด็กนั้น ก็สามารถทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่า MIS-C ย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children หรือ 'กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก แม้จะพบได้น้อยมากๆ แต่ก็พบได้ เป็นภาวะป่วยที่เกิดกับใครก็จะน่าเศร้ามาก
คำถามต่อมาคือ วัคซีนอะไรที่เหมาะสมในกลุ่มเด็กมัธยมขึ้นไปหรือ 12-18 ปี เราเห็นว่า “ไฟเซอร์คือคำตอบที่ดีที่สุด เพราะนอกจากเด็กจะได้ภูมิแล้ว ยังสามารถป้องกันเดลต้าได้ดีกว่าซิโนฟาร์ม ซึ่งจะทำให้ลดการแพร่ระบาดเชื้อในชุมชนจากการเปิดโรงเรียนได้” แต่หากใครกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากไฟเซอร์ ก็ไปฉีดซิโนฟาร์มที่ประสิทธิผลการเกิดภูมิต่ำกว่าก็ไม่ว่ากัน เพราะดีกว่าไม่ฉีด
อย่างไรก็ตาม รัฐควรต้องจัดวัคซีนฟรีให้กับเด็กกลุ่มนี้ทุกคนเดือนตุลาคมนี้ไม่ว่าไฟเซอร์หรือซิโนฟาร์ม ส่วนผู้ปกครองคนไหนที่กลัววัคซีนมาก ไม่ประสงค์ให้ลูกฉีด ก็ให้เรียนออนไลน์ที่บ้านต่อไปได้ แต่เด็กเขาก็ควรมีสิทธิกำหนดอนาคตตนเองด้วยนะ
นี่คือความเห็นสั้นๆของผมและเพื่อนว่าด้วยการเปิดเทอมเดือนพฤศจิกายน ที่ถึงเวลาบริหารจัดการให้เด็กนักเรียนมัธยม อาชีวะ และมหาวิทยาลัยได้ไปโรงเรียนกันเสียที ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิดที่จะอยู่กับเราอีกนาน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
26 กันยายน 2564
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567