ไปร่วมงานเปิดตัวมูลนิธิชุมชนสตูล

by ชาคริต โภชะเรือง @23 มี.ค. 53 21:37 ( IP : 222...242 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ในการพบเจอกันของเครือข่ายมูลนิธิชุมชนในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมาจากหลายแห่งด้วยกัน ได้แก่ ทีมคุณมยุรีและคุณเสรี จุ้ยพริก มูลนิธิชุมชนสตูล ทีมงานของมูลนิธิชุมชนภูเก็ต ผม-คุณชิต คุณสมพร จากมูลนิธิชุมชนสงขลา คุณกุ๊กและทีมงานของบางกอกฟอรั่ม และคุณน้องจากเวิร์ลแบงค์ นอกจากนั้นคุณชิตยังได้ชักชวนโกดาวรองนายกเทศมนตรี(ประธานหอการค้าสตูล) มาร่วมพูดคุยกับเราด้วยเนื่องในโอกาสเปิดตัวมูลนิธิชุมชนสตูล

ผมกับคุณชิตตามคุณสมพรที่พาคุณน้องและทีมบางกอกฟอรั่มมาสตูลก่อน และล่วงหน้าไปเยี่ยมชมการทำงานในพื้นที่ ได้ข่าวว่าลงไปเยี่ยมโรงเรียนสอนศาสนาในชุมชน เรามาพบกันอีกครั้งในช่วงบ่าย เพื่อรอเวลาไปร่วมงานเปิดตัวมูลนิธิชุมชนสตูล ในชื่อ มูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดสตูล

คุณเสรี ประธานมูลนิธิเล่าว่าที่จ.สตูล มีไม่กี่อำเภอ มีอปท. ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิดคือ 29 แห่ง ที่มาของการคิดจัดตั้งมูลนิธิชุมชนนั่นคือ ต่อยอดจากการจัดตั้งกองทุนจากเหตุสึนามิในพื้นที่ เช่นเดียวกับภูเก็ต กล่าวคือ ทำอย่างไรที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ ให้ชุมชนได้มีกองทุนของตัวเองในการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายของมูลนิธิชุมชนสตูล ส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม และเล่าอีกว่า ที่นี่ทำงานโดยกองเลขานุการ ซึ่งคุณเสรีได้บทเรียนจากการทำงานของมูลนิธิรักบ้านเกิดภาคใต้ ซึ่งตั้งไว้แล้วแต่ขาดแคลนคนทำงานดำเนินงาน โดยที่นี่คนทำงานจะมี 3 ส่วน ได้แก่ คนทำงานเต็มเวลา คนทำงานที่เข้ามาหนุนช่วยซึ่งคนกลุ่มนี้มีรายได้จากโครงการที่แต่ละแหล่งทุนสนับสนุน และที่ปรึกษาที่มาร่วมกันทำงาน อนาคตฝันที่จะสร้างรายได้ยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง สำนักงานที่นี่อาจจะกลายเป็นร้านค้าชุมชน นำสินค้าจากชุมชนมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้มูลนิธิ

ในการนัดพบกันคราวนี้ การมีโกดาวที่ออกตัวว่าไม่ค่อยรู้ว่ามูลนิธิชุมชนคืออะไร (อ.จุรี เคยประสานโกดาวในฐานะศิษย์เก่านิด้า ให้ลองทำมูลนิธิชุมชนที่สตูล แต่โกดาวก็ยังไม่ชัดเจนว่าคืออะไร) ทำให้เราในแต่ละมูลนิธิได้โอกาสได้ลองซักซ้อมความเข้าใจ ช่วยกันอธิบายกันใหญ่ว่า ที่แท้แล้วมูลนิธิชุมชนคืออะไรกันแน่

เราใช้เวลาอธิบายสักประมาณครึ่งชั่วโมงเห็นจะได้ คุณเสรีหัวเราะ บอกว่าครั้งหนึ่งได้ใช้เวลาทำความเข้าใจกับนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งอยู่ค่อนคืน จนพอจะเข้าใจ พวกเราเองได้ใช้เวลาดังกล่าวระดมคำอธิบายเป็นชุด จนได้แนวคิดร่วมอันแสดงความเป็นมูลนิธิชุมชนดังนี้

  • มูลนิธิชุมชนจะส่งเสริมการให้ทุน และการกระจายทุนเพื่อสาธารณะในพื้นที่ระดับจังหวัด ความหมายของชุมชนมิได้จำกัดเพียงแค่หมู่บ้าน ตำบล แต่หมายรวมไปถึงชุมชนเมือง ดังเช่นบางกอกฟอรั่มเองทำงานใน กทม.ลองทำในระดับเขตในชุมชน ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน หาใช่เพื่อการประชาสงเคราะห์ตามรูปแบบมูลนิธิทั่วไป

  • มูลนิธิจะมีวัตถุประสงค์ในการให้ที่ชัดเจน มีการสร้างความยอมรับ ความน่าเชื่อถือในองค์กร พึ่งตนเองในการใช้ทุนทางสังคมในพื้นที่ ดังเช่น ความรู้ ภูมิปัญญา เงิน คน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

  • มูลนิธิชุมชนจะมีองค์ประกอบของกรรมการมาจากหลายภาคส่วน(มีความเป็นสาธารณะ ไม่เน้นเป็นมูลนิธิส่วนบุคคล) ได้แก่ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการเมือง

  • มูลนิธิชุมชนทำงานไปบนฐานความหลากหลาย ความแตกต่างของแต่ละชุมชน ในการทำงานจะสร้างเป้าร่วม ยุทธศาสตร์ร่วมในแต่ละพื้นที่ เราพยายามสร้างสิ่งใหม่ร่วมกัน กล่าวคือสร้างตัวแบบ(Model)การพัฒนา มากกว่าเน้นไปแก้ปัญหาระยะสั้น

  • เราพยายามสร้างค่านิยมร่วมในการให้กับสังคม ที่มากกว่าประชาสงเคราะห์

เป็นครั้งแรกก็ได้นับแต่เราร่วมกันทำงานภายใต้แนวคิดของมูลนิธิชุมชน แล้วแต่ละองค์กรได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมูลนิธิชุมชนด้วยกัน นั่นเท่ากับว่าแต่ละคนได้มีประสบการณ์ มีบทเรียนหลังจากได้มีเวลาได้เรียนรู้จากการทำงานมาได้ระยะหนึ่ง

ว่าไปแล้วก็เป็นการทำงานเพื่อสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความเป็นมิตรสูง เราพยายามเกี่ยวร้อยเครือข่ายต่างๆเข้ามาทำงาน มาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วพยายามมีกิจกรรมนัดพบเพื่อให้ได้ถ่ายเทประสบการณ์และยกระดับการให้เพื่อสาธารณะให้มีพื้นที่ในสังคมไทยมากขึ้น

คุณน้องในฐานะผู้ประสานงานกลางรู้จักพวกเราทุกองค์กร ได้โยนโจทย์ว่าเราทั้งหมดจะมีอะไรทำงานร่วมกัน ระดับเครือข่ายได้บ้าง เราจะมีการจัดงานระดับภูมิภาคอาเซี่ยนในเร็วๆนี้ เป็นการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ ระหว่างประเทศฟิลิปปินส์/เวียดนามและไทย ในวันที่23-25 มิถุนายนที่จะมาถึง และเป็นการขยายผลแนวคิดในเรื่องส่งเสริมการให้ไปยังแหล่งทุน/ภาคีใหม่ๆที่ยังไม่เข้าใจ

โดยสรุปพวกเราได้เสนอแนะว่างานของเครือข่าย CF เราจะเน้นการจัดการความรู้ (พัฒนาศาสตร์แห่งการให้) สร้างความรู้ในเรื่องความเป็นมูลนิธิชุมชนในประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีความต่างจากแนวคิดของมูลนิธิชุมชนที่อื่นๆอีกกว่า 1700 แห่งทั่วโลก

นอกจากนั้นเราจะเน้นการสื่อสารภายใน ใช้สื่อดิจิตอลทั้งหลายให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญ เราจะต้องสร้างค่านิยมร่วมในการให้กับสังคม สร้างความเข้าใจในความหมายของมูลนิธิชุมชนต่อสาธารณะไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างหรือเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรมองค์กร

ตอนหัวค่ำ เราไปร่วมงานเปิดตัวมูลนิธิชุมชนสตูล ภายใต้ชื่อ มูลนิธิกองทุนชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจังหวัดสตูล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่จังหวัดสตูล
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน
  3. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
  4. ส่งเสริมการบริหารการเงิน และการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย
  5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชน ในการจัดการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ และการพัฒนา
  6. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆเพื่อสาธารณประโยชน์
  7. พัฒนาและเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมชนและประชาสังคม
  8. ดำเนินการระดมทุนและกระจายทุนเพื่อวัตถุประสงค์ในข้อ 1-6

รายงานโดย ชาคริต โภชะเรือง

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน