"๑ ปี การปลูกผักสลัดอินทรีย์สวนผักภูธาร"

photo  , 960x720 pixel , 173,189 bytes.

"๑ ปี การปลูกผักสลัดอินทรีย์สวนผักภูธาร"

สวนผักภูธาร โดยคุณเล็ก-จงกลนี นี แมคแอลลิกอล เริ่มความสนใจปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคในครัวเรือน เรียนรู้ด้วยตนเอง ลองผิดลองถูกเหมือนกับการทดลองวิทยาศาตร์ในทุกขั้นตอนการผลิต การตลาด

เริ่มต้นจากการเรียนรู้ผ่านบูธนิทรรศการสวนผักคนเมืองในงานเกษตรภาคใต้ จุดประกายความคิด และได้กลับมาลองปลูกที่บ้าน ลองผิดลองถูกทั้งเรียนผ่านยูทูปและเพื่อนสมาชิกสวนผักคนเมือง และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ จนกระทั่งปรับพื้นที่ข้างบ้านปลูกผักในสวนสวย ประณีต เป็นสวนผักที่มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และผักเพื่อบริโภค ปลูกผักมาหลายชนิดกระทั่งมาลงตัวที่ผักสลัด

ภายหลังมีโอกาสได้ไปเห็นสวนผักในเชิงพาณิชย์ จึงกลับมาจัดทำโรงเรือน อาศัยพื้นที่ว่างในสวนใกล้บ้าน ซึ่งแวดล้อมไปด้วยสวนผลไม้ สวนยาง ยกแคร่ในโรงเรือนขนาด ๒X๖เมตร จำนวน ๙ โรง และเริ่มปลูกผักสลัดจำหน่ายอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญสำหรับคุณเล็กหลังลองผิดลองถูกในทุกขั้นตอนด้วยตนเองมากว่า ๑ ปี ได้บทเรียนสำคัญ อาทิ

การปลูกผักแต่ละชนิดควรพิจารณาสภาพดิน สภาพอากาศ/ความร้อน ความชื้น ศัตรูพืช สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปลูก ซึ่งแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ไม่สามารถนำความรู้จากแหล่งอื่นมาใช้โดยตรง

การเตรียมดิน คุณเล็กจะมีการหมักดิน ทำปุ๋ยหมักแยกออกไป การเตรียมดินจะมีการหมักหน้าดิน แกลบดิบ ขุยมะพร้าว ขี้วัว คลุกเคล้าให้เข้ากันย่อยสลายด้วยน้ำหมักชีวภาพ หากมีเปลือกไข่ กากกาแฟก็ใส่ลงไปด้วย หมักในถุงจนเย็นจึงจะนำไปใช้ ส่วนปุ๋ยคอกจะหมักแยกต่างหาก

การเพาะต้นกล้า ผักสลัดที่คุณเล็กปลูกจะมีกรีนโอค เร็ดโอค บัตเตอร์เฺฮท กรีนคอส ใช้เมล็ดพันธุ์ของตราศรแดง บิ๊กกรีน สั่งซื้อมาเก็บไว้ในตู้เย็น นำดินที่ใช้ปลูกผักมาแล้วมาเป็นวัสดุเพาะ ผสมกับแกลบดำ ให้มีความโปร่งเบา โรยเมล็ดแบบห่างๆ พรมน้ำไม่ให้แฉะ พอเข้าวันที่ ๓ จะนำต้นกล้าผักออกตากแดดเต็มที่ จากนั้นก็คัดต้นแข็งแรงย้ายไปในกะบะเพาะ ตากแดด(กรองแสงแดดด้วยแผ่นพลาสติกใส)จนอายุได้ ๑๘-๒๑ วัน จงจะย้ายลงแปลง

ต่อมาคุณเล็กสั่งมุ้งมาทำโรงเรือนเพาะต้นกล้าเพื่อกันแมลง หนู รบกวน มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเพาะต้นกล้าได้อีกทาง

ประสบการณ์สอนคุณเล็กว่า ให้แยกร่องในแปลงผักยกแคร่ในโรงเรือน จะช่วยทำให้อากาศเข้าสู่แปลงผักได้มากขึ้น ก่อนลงผักให้ฉีดสารบิวเวอร์เรียก่อน ๑ ครั้ง จากนั้นฉีดพ่นในสัปดาห์ที่ ๒ และ ๓ คุณเล็กปลูกผักสลัดแบบผสมผสานหลายชนิดไปในแปลงผักแต่ละโรงเรือนๆละ ๒๐๐ ต้น หมั่นเติมปุ๋ยคอกเป็นระยะ ผักสลัดต้องการแดด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ไม่จำเป็นต้องใช้สะแลนคลุม และต้องการน้ำมาก จึงติดสปริงเกอร์รดน้ำ ควบคุมการให้น้ำด้วยตนเอง

อุปสรรคในการปลูกผักที่พบก็คือ การจัดการหญ้า ควรปลูกในพื้นที่ปิด ไม่มีหญ้าที่จะเป็นที่อาศัยของศัตรูพืช และการบริหารจัดการน้ำ ต้นกล้า ดินปลูก ปุ๋ย ให้สมดุลกัน เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ต่อเนื่อง

ในการจำหน่ายผักสลัด คุณเล็กมีการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เฟชบุ๊ค แผ่นพับ จึงมีลูกค้าประจำที่จะส่งผักด้วยตนเองจำนวนหนึ่งกับจำหน่ายในตลาดใกล้บ้าน

ความท้าทายสำหรับคุณเล็กก็คือ การปลูกผักสลัดอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สามารถเก็บได้นาน(เว้นแต่มีห้องเย็น) จำเป็นที่จะต้องมีหน้าร้านหรือลูกค้าประจำ เป็นโจทย์คิดในระยะต่อไป แม้จะยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนเนื่องจากการลงทุนในช่วงแรก แต่ผักสลัดอินทรีย์ของคุณเล็กสามารถจำหน่ายได้ในกก.ละ ๒๐๐ บาท ขณะที่ผักสลัดในตลาดทั่วไปราคาราว ๑๐๐ บาท ก็จะถึงจุดคุ้มทุนในไม่ช้า

สิ่งที่ได้ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง เรียนรู้ทุกขั้นตอนในการผลิตและจำหน่าย ความรู้ที่ได้จากการลงมือทำบวกกับร่างกายที่แข็งแรง การได้พบกัลยาณมิตร ได้เรียนรู้ผู้คนที่เข้ามาใกล้ชิด เหล่านี้คือแรงใจสำคัญที่จะทำให้คุณเล็กยังคงก้าวเดินต่อไป

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน