มูลนิธิชุมชนสงขลาร่วมรับฟังความเห็นการจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยย่านเมืองเก่า
เมื่อวันที่ 15 พย. ที่ผ่านมา ณ ศาลเจ้าพ่อกวนอู ถนนนางงาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้มีความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการจัดเวทีรับฟังความเห็น การจัดทำแผนพัฒนาและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยย่านเมืองเก่า โดยเจ้าภาพหลักได้แก่ การเคหะแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เทศบาลนครสงขลา ภาคีคนรักสงขลาและมูลนิธิชุมชนสงขลา
อ.จเร สุวรรณชาติ ผู้รับผิดชอบหลักชี้แจงจุดประสงค์โครงการว่า ต้องการให้เกิดแผนพัฒนาและฟื้นฟูที่อยู่อาศัยย่านเมืองโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระตุ้นให้เกิดกลไกความร่วมมือ หรือมีกองทุนในการดูแลต่อเนื่อง และประสานหน่วยงาน/องค์กรในเชิงนโยบายมาสนับสนุนแผน
เจ้าหน้าที่จากการเคหะบอกเล่าประสบการณ์การทำงาน ที่พบเมืองเก่ามาหลายรูปแบบ และยังมองว่ามีคนเข้าใจเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มองในแง่มุมของการส่งเสริมการท่องเที่ยว มิได้คิดเพื่อการอยู่อาศัยของตนเองหรือความอยู่ดีมีสุขของคนในชุมชน กลับจะมุ่งเน้นสนองความพอใจของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนภายนอก
พอแดดร่มลมตก ผู้คนทยอยเข้ามาในศาลเจ้า บนลานกว้างวางเก้าอี้เต็มแน่น ไม่นานนักก็ไม่เหลือที่ว่าง มุมหนึ่งของศาลเจ้าเสียงดนตรีบรรเลงของอดีตวงสงขลาสบางันเริ่มโหมประโคม
หลายคนเดินไปเขียนสิ่งดีๆ ของย่านเมืองเก่าละแวกนี้ไว้ว่า มีร้านอาหารอร่อย คนมีมิตรไมตรี สงขลามีทะเลสวย สิ่งอำนวยความสะดวกมีครบครัน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ต่อเนื่อง อ.สดใส ขันติวรพงศ์เล่าว่า ตนเองเป็นคนกระบี่ แต่ก็ไม่คิดกลับบ้าน และยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆว่าระหว่างถนนทั้ง 3 มีศาลเจ้าแทรกอยู่ นี่เป็นสิ่งที่มีการจัดวางอย่างตั้งใจ
ปัจจุบันสงขลาเป็น 1 ใน 9 เมืองของประเทศที่ถูกประกาศเป็นเมืองเก่า
คุณชาคริต โภชะเรือง จากมูลนิธิชุมชนสงขลาและคุณชัยวุฒิ เกิดชื่น จากแผนสุขภาพจังหวัด ทำหน้าที่ระดมความเห็นร่วมกับอ.จเร และอ.สดใส ถึงความต้องการในการอยู่อาศัย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญดังนี้
อยากเห็น "Singora" เป็นมรดกโลก (เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรบอกว่าถ้าจะเป็นมรดกโลกต้องใช้เวลาเตรียมตัวพอสมควร)
ให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการเมืองเก่า หารายได้ หรือจัดตั้งกองทุนเมืองเก่า ให้มีคนที่รักเมืองสงขลารวมตัวกัน มีสถานที่ให้ได้พบปะพูดคุยกัน และมีเวทีเรียนรู้ประจำ ซึ่งปัจจุบันมีภาคีคนรักสงขลาเป็นแกนนำ
ชำระเรื่องเล่า/ตำนาน/ผังเครือญาติ โดยเทศบาลที่มีคุณพีระ ตันติเศรณี ว่าที่นายกเทศมนตรีมีนโยบายจะทำพิพิธภัณฑ์ และหอจดหมายเหตุ มีประวัติคน/เมือง/สายตระกูลคนสงขลา มีการตั้งกลุ่มบอกเล่าประวัติศาสตร์ของแต่ละถนน
ถนนคนเดิน มีแนวคิดที่หลากหลาย เช่น จัดงานทุกวันอาทิตย์ขายสินค้าฟื้นเมืองเทศกาลอาหารพื้นบ้าน
ส่งเสริมให้ทำผลิตผลทางอาหารนานาชาติ แปรรูปผลไม้ เช่น มะม่วงเบา ลูกตาลโตนด ใบตาล ใยตาล ไก่กอและ ไข่ครอบ
ฟื้นฟูอาหาร/สูตรอาหารอร่อยๆถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง
มีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในกลุ่มโรงเรียนในเขตเทศบาล ให้ย่านเมืองเก่าเป็นแหล่งเรียนรู้
มีบ้านที่ตกแต่งสวยงาม จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
มีการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักเมืองสงขลา รักษาคุณค่านี้ไว้ จัดให้มีป้ายสื่อสาร นิเทศน์บอกทางให้ชัดเจน
ให้ทหารเรือเปิดถนนเลียบทะเลให้ได้ชมทิวทัศน์
ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น หนังสืออาหารท้องถิ่น เอกสารเผยแพร่ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม
จัดการสัญจรให้เน้นการเดินทางด้วยการเดินโดยเฉพาะถนนนางงาม คืนทางเท้าให้คนเดิน จัดระเบียบจราจรใช้ข้างเดียว
หาแหล่งดินผลิตอิฐในแบบดั้งเดิม ตกแต่งทางเท้า
เทศบาลจะทำประตูเมืองรูปแบบโบราณ(ประตูพุทธรักษา/บูรพาอภิบาล) บริเวณจัตุรัสเมือง โดยและบริเวณร้านลี เพรสซิเดนท์ ใช้วัสดุดั้งเดิม
ให้มีตลาดน้ำ มีร้านขายสินค้า ของที่ระลึก หนังกลางแปลง
การอนุรักษ์ฟื้นฟูกลุ่มบ้าน
สำรวจบ้านที่ทรุดโทรมจำเป็นต้องซ่อมแซม แล้วหาความร่วมมือ โดยการเคหะหรือเทศบาลร่วมลงขัน เจ้าบ้านออกค่าวัสดุ หน่วยงานช่วยด้านการออกแบบ โดยจับฉลากก่อนหลัง
ปรับบ้านเช่าในส่วนของถนนนครนอกเป็นโฮมสเตย์
หาช่างที่มีฝีมือในการซ่อมแซม/วัสดุในการซ่อมแซม ทำทะเบียนช่างฝีมือ หรือเสาะหาช่างจากต่างถิ่น พร้อมกับสำรวจบ้านทั้ง 3 สายทำทะเบียนวัสดุ/อุปกรณ์ที่ต้องการ มีหน่วยงานเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก
จัดแบ่งประเภทอาคารที่อยู่อาศัย อนุรักษ์ หรือปรับปรุง มีทำแผนระยะยาว
เทศบาลออกเทศบัญญัติควบคุมการสร้างบ้านใหม่ ให้รูปทรงภายนอกให้เป็นแบบดั้งเดิม กรณี้นี้ทำได้เพราะมีการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ไว้แล้ว
สายไฟฟ้าเก็บให้เรียบร้อย ลงดิน หรือยกให้สูงขึ้น
คุณพีระ ตันติเศรณี มีนโยบายให้เทศบาลซื้ออาคารเก่าเป็นสมบัติเมือง โดยขึ้นทะเบียนกับกรมศิลป์ รักษารูปแบบภายนอกเหมือนเดิม ปรับโครงสร้างให้แข็งแรง
ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน
หน่วยงานรับผิดชอบจัดระเบียบดูแลความปลอดภัยจากตังเก ร้านขายเหล้า/ซ่อง
หาที่จอดเรือประมงที่ท่าสะอ้าน แก้ปัญหาประมงต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ฆาตรกรรม
เพิ่มความสว่างให้กับ 3 ถนน และเน้นความสะอาดให้มากขึ้น
จัดระเบียบแก้ปัญหาเสียงดังจากร้านคาราโอเกะ ถ.นครใน/นครนอก
จัดระเบียบรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออก
จัดโซนนิ่ง
แก้ปัญหามลภาวะจากขี้หมา
แก้ปัญหาโทรศัพท์เสียบ่อย
เน้นให้มีกฏจราจร
อื่นๆ
จัดหางานส่งเสริมอาชีพให้ชุมชน
สงขลาเป็นแบบอย่างในการดูแลเอื้ออาทรเพื่อนมนุษย์ให้อยู่ร่วมกัน
อ.จเร สุวรรณชาติ ได้กล่าวสรุปและชี้แจงขั้นตอนที่จะทำอะไรต่อไปว่า ได้มีการเช่าอาคารเก่าไว้เพื่อเป็นสำนักงานและเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในชุมชนเมืองเก่านี้ และจะดำเนินการใน 3 ขั้นตอนคือ
แผนงานสื่อความหมายเมือง
แผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟู
แผนงานส่งเสริมรายได้
Relate topics
- จังหวะก้าวโครงการที่ผ่านการพิจารณาสนับสนุนทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกของมูลนิธิชุมชนสงขลา
- "imedcare"
- "ประชุมทีมข้อมูลกลาง www.khonsongkhla.com"
- "เกษตรสุขภาพอำเภอหาดใหญ่"
- iMedCare
- "iGreenSmile"
- "iMedCare ท่าไทร-สวนเรียน เกาะยอ"
- โครงการพิทักษ์รักษาป่าต้นนำ้ผาดำเพื่อความยั่งยืนระบบนิเวศลุ่มนำ้ทะเลสาบสงขลา
- "ผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จว.ชายแดนใต้"
- "การสื่อสารทางสังคมในภาวะวิกฤต"