"คลองแห 2564"
"คลองแห"
พ่อท่านเจ้าอาวาสวัดคลองแหเล่าว่าอดีตตรงท่าน้ำวัดทุกวันศุกร์จะมีตลาดนัด ผู้คนนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำ ภาพนั้นเป็นที่มาของตลาดน้ำคลองแหที่ทีมงานเทศบาลคลองแหสานต่อ บวกกับการจัดกิจกรรมด้านอนุรักษ์คลองแหและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม "ย้อนตำนานคลองแห" ย้อนเรื่องเล่าตำนานโคกนกคุ่ม การสานต่อเจตนารมณ์บรรพชน สร้างเจดีย์ในพื้นที่ กระทั่งได้พี่น้องพม่าเข้ามาตั้งแคมป์ ช่วยกันสร้างมหาเจดีย์บุญไทย-พม่าจนสำเร็จในวันนี้
ผมเอง-พี่ดุก-อ.เจี๊ยบ-ครูเสริฐเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มรักษ์คลองแห และร่วมคิดร่วมหางบสนับสนุนกิจกรรมย้อนตำนานคลองแห ร่วมทำฝายดักขยะ(ดักขยะจากเทศบาลนครหาดใหญ่/คอหงส์) นั่นเป็นเหตุการณ์ในช่วงปี 2548 เรื่อยมา
ตลาดน้ำคลองแหเกิดขึ้นได้สร้างแรงกระเพื่อมสำคัญในการท่องเที่ยวชุมชน ตัวตลาดเองประสบปัญหา 2-3 ประการ ที่สำคัญคือคุณภาพน้ำในคลองที่ต้นน้ำเป็นคลองเตยหรือคลองตาย รับน้ำทิ้งจากครัวเรือนในหาดใหญ่ พร้อมตะกอนน้ำเสีย ขี้เลนลงมากองในคลองแห ทราบว่ากำลังหาทางแก้ร่วมกับชลประทานทำฝายดักน้ำเสีย พร้อมขุดลอกตะกอนที่สูงราว 4 เมตร ปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น (มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 8 หน่วยงาน อาทิ เจ้าท่า ทสจ. ชลประทาน จังหวัด/อบจ. อำเภอ เทศบาล ฯลฯ) บวกกับปัญหาที่ดินของเอกชนซึ่งเทศบาลเช่าราย 3 ปีขอขึ้นค่าเช่าทุกครั้งของการต่อสัญญา จึงเกิดแนวคิดปรับตลาดลงสู่สายน้ำ สร้างทางเลือกเพื่อต่อรองกับเจ้าที่ พร้อมเนรมิตรเวทีการแสดงเคลื่อนที่ลงในลำคลอง สร้างจุดขายใหม่ และเปิดพื้นที่เชื่อมโยงกับมหาเจดีย์ และมัสยิดกลาง
โคกนกคุ่มอดีตเป็นพื้นที่เร้นลับ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรัพย์สมบัติที่ถูกฝังไว้ อนิจสงฆ์จากเรื่องเล่าตำนานคลองแหต่อยอดมาสู่การสร้างมหาเจดีย์ไทย-พม่าด้วยแรงบุญความเชื่อการสร้างเจดีย์ของพี่น้องพม่าที่มาตั้งแคมป์ในพื้นที่จำนวนมาก ช่วยกันกับช่างในพื้นที่และความหนักแน่นของพ่อท่านฝ่าแรงต้านจากอคติทางประวัติศาสตร์ของชาวบ้านรอบวัด ผสมผสานภูมิปัญญาไทยและพม่าเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเจดีย์มหาบุญไทย-พม่าในวันนี้ พี่น้องพม่าก็มีหลายชาติพันธ์ มอญ ระไข่ ฉาน ชิน กะเหรี่ยง ฯลฯ มาร่วมสร้าง กำลังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่
บวกกับมัสยิดกลางอยู่ไม่ไกลออกไป กำลังถูกพัฒนาเสริมการท่องเที่ยว รับพี่น้องมุสลิมที่มาละหมาด มีเอกชนกำลังสร้างโรงแรม ศูนย์การค้า วางเป้าจะสร้าง "กิมหยง 2" มาเสริมกับหาดใหญ่ ดึงนักท่องเที่ยวมากิน เที่ยว พักผ่อนอย่างครบวงจร
วัดเองพัฒนาเป็นศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช ที่นี่มีพ่อท่านทอง เป็นผู้สร้าง ท่านมีธนูทอง มีนกคุ่มเงินนกคุ่มทอง มีไอ้ยอดทองตัวตลกหนังตลุง แล้วก็มีเจดีย์ทอง สามารถต่อยอดความเป็น"แผ่นดินทอง" ในอนาคต
ต้นทุนเหล่านี้หากมีจัดการอย่างเป็นระบบ เราจะมีพื้นที่เมืองใหม่ที่ผสมผสานความหลากหลายทั้งมิติวัฒนธรรม ศาสนา ผู้คน ที่น่าสนใจยิ่ง
ชาคริต โภชะเรือง บันทึกเรื่องราว
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567