การเมืองท้องถิ่น

by punyha @27 ม.ค. 64 11:36 ( IP : 171...21 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , ร่วมคิด
photo  , 960x640 pixel , 82,822 bytes.

"การเมืองท้องถิ่น"

ในโอกาสท้องถิ่นกำลังจะมีการเลือกตั้ง ถ้าถามผมว่าจะเสนอแนะอะไรได้บ้าง ?

ในมุมของผม  คิดว่านโยบายส่วนใหญ่ยังจะอยู่ที่การทำโครงการขนาดใหญ่ เน้นสิ่งก่อสร้าง และนโยบายหวังผลระยะสั้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลักอยู่ดี


ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไร ?

อยากเห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่หันมาวางรากฐาน พัฒนาระบบสนับสนุน(Platform) พัฒนาคุณภาพบุคลากร มากกว่าที่จะทำแค่กิจกรรมโดดๆ หรือ event (ดูได้จากร้อยละหรือประเภทกิจกรรมตามแผนพัฒนา ดูมูลค่าโครงการแต่ละยุทธศาสตร์ก็รู้แล้วว่าให้ความสำคัญกับด้านใด) มีหลายนโยบายที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีการเตรียมพื้นฐานที่ดีรองรับ


วางรากฐานด้านใดบ้าง ?

หนึ่ง-โครงสร้างชุมชนเชิงพื้นที่ เชิงประเด็น เชิงกลุ่มวัย กลุ่มอาชีพ สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มประชากรที่ปัจจุบันหลากหลายกระจัดกระจาย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง ยึดโยง มีความเป็นตัวแทนสามารถส่งเสียงความต้องการและมีส่วนร่วมในการพัฒนา แทนที่จะรับฟังเฉพาะหัวคะแนนหรือพรรคพวกหรือฟังเฉพาะ "ขาใหญ่" ที่มีไม่กี่คน รากฐานเช่นนี้จำเป็นจะต้องมองข้ามวิธีคิดทางการเมืองแบบเก่า แล้วก็ใช้ระบบหรือกลไกการดำเนินการแบบใหม่

สอง-ความสัมพันธ์ในฐานะความเป็นชุมชน ไม่ใช่มีแต่ชื่อแต่ไม่มีกิจกรรมหรือปฎิสัมพันธ์ต่อกัน กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่จะทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน เอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือดูแลกันและกัน ทั้งทางการและไม่ทางการ ทั้งแบบonline หรือoffline ลดการแบ่งแยก มองแบบองค์รวม เอาชุมชนเป็นฐาน

สาม-การดึงต้นทุนทางวัฒนธรรม/ทรัพยากร/ภูมิปัญญาที่ยังมีอยู่ ต่อยอดนำมาใช้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สร้างความภาคภูมิใจ เป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดสร้างรายได้


วางระบบสนับสนุนด้านใดบ้าง?

หนึ่ง-กลไกกลางของชุมชนที่จะต้องยึดโยงกับประชาชนกลุ่มต่างๆ วัยต่างๆ ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าแค่ยึดระบบงานภายในที่แยกส่วนตามภาระงาน(แต่ไม่คุยกัน)

สอง-ระบบข้อมูลกลาง ที่มีข้อมูลรายบุคคล ครัวเรือน ภูมินิเวศ สามารถนำมากำหนดนโยบายตามสภาพปัญหาและศักยภาพที่เป็นจริง สามารถเข้าถึง โปร่งใส เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้

สาม-กติกากลาง มีแผนพัฒนาระดับพื้นที่ ประเด็น ตามยุทธศาสตร์ พร้อมข้อตกลงระดับชุมชนที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา

สี่-กองทุนกลาง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมสมทบตามกำลัง มีกิจกรรมกลางเพื่อต่อยอดการพัฒนา พึ่งตนเองในยามวิกฤต ยกระดับกองทุนต่างๆเป็นสถาบันการเงินระดับชุมชน

และที่สำคัญ เปลี่ยนวิธีการทำงาน เน้นการประสานความร่วมมือ ประสานทรัพยากรกับภาคส่วนต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ นอกพื้นที่ มาร่วมดำเนินการ แทนที่จะคิดเฉพาะของตัวเอง ทำเอง หันมาเป็นการทำงานร่วมกัน

ที่สำคัญที่สุดมีการประเมินผลกันอย่างจริงจัง ประเมินบุคลากรตามผลงานไม่ใช่แค่ทำซ้ำเป็นประเพณีกิจกรรม

ชาคริต โภชะเรือง เขียน

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน