งานวันพลเมืองสงขลา ๒๕๖๓
การจัดเวทีสาธารณะในงานวันพลเมืองสงขลาปีนี้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องสถานการณ์โควิด จึงจำกัดผู้เข้าร่วมไว้ ๑๕๐ คน แต่สุดท้ายยอดคนมาร่วมก็มีถึง ๒๓๔ คน เป็นองค์กรภาครัฐ ๑๙ องค์กร ภาคประชาสังคม เอกชน ชุมชน วิชาการ ๔๔ องค์กร เครือข่ายตำบลน่าอยู่และท้องถิ่นอีก ๑๘ องค์กร
รูปแบบการจัดงาน จะมีทั้งกิจกรรมนำเสนอผลการดำเนินงานของภาคีทั้งในรูปแบบคลิป VDO หนังสือเล่ม(ผีเสื้อขยับปีก เล่ม ๘) นิทรรศการ และมีการเสวนาจุดประกายเพื่อหาประเด็นที่จะเป็นวาระร่วม ซึ่งก็คือ songkhla wallet
ก่อนถึงวันงานได้มีการสื่อสารผ่านกลุ่ม line กลุ่มแมสเซนเจอร์ และรายการระเบียงใต้ ช่อง ๑๑
จากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม ๔ ห้องเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม แชร์เป้าหมาย แนะนำองค์กร และกิจกรรมที่แต่ละองค์กรจะดำเนินการในปี ๖๔ แต่ละห้องจะมีใบงานให้ผู้เข้าร่วมได้เขียนรายละเอียดและนำมาสู่การนำเสนอ ก่อนที่จะสรุปรวม เราจะได้ข้อมูลใน ๒ ลักษณะ คือ
๑)กิจกรรมของแต่ละภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย กระจัดกระจาย จะมีทั้งสามารถทำร่วมกัน หรือแยกส่วนจากกัน และ
๒)ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มาจากสมาชิก
การรับฟังความเห็นเช่นนี้จะต้องแปรกิจกรรมออกมาเป็นเป้าหมายร่วม เพื่อที่จะถักทอการทำงานร่วมกัน การนำเสนอกิจกรรมเป็นเพียงขั้นต้น กิจกรรมกลางที่จะเชิญเครือข่ายแต่ละยุทธศาสตร์มาพบกันอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรม เกิดความร่วมมือ รวมไปถึงการถกแถลงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทั้งคิดต่าง คิดเหมือน ร่วมกันทำ หรือแยกกันทำ เหล่านี้กระบวนการทางสังคมจะช่วยทำให้เกิดการถักทอเป็นเครือข่ายอย่างเป็นธรรมชาติ หากสามารถประสานผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละยุทธศาสตร์อย่างครบองค์ประกอบจะทำให้ประเด็นการขับเคลื่อนสามารถสานพลังก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง มีรูปธรรมของกิจกรรม และพื้นฐานดังกล่าวจะนำไปสู่การปรับเชิงระบบต่อไป โดยมีเป้าหมายร่วมเป็นจุดยึดโยง ผลที่ตามมาอาจจะเกิดกิจกรรมใหม่ระหว่างทาง เช่น การทำแผนร่วมกัน หรือการมี action plan ร่วมกันของเหล่าผู้ปฎิบัติ การพบปะกันสม่ำเสมอจะทำให้เข้าใจศักยภาพ ความต้องการ ข้อจำกัดของกันและกัน อันจะเป็นฐานพัฒนาจนเกิดความไว้วางใจในการทำงานร่วมกัน
การออกแบบวิธีการพัฒนานโยบายสาธารณะเช่นนี้ เหมาะสำหรับประเด็นนโยบายที่ไม่ได้เกิดใหม่ หากแต่เป็นงานที่แต่ละองค์กรมีทิศทางหรือนโยบายของตนจะดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังแยกส่วนกันทำ (กล่าวคือ ไม่ได้ขาดนโยบาย แต่มีปัญหาการแปลงนโยบายสู่การปฎิบ้ติ) สามารถอาศัยเวทีกลางมาทบทวนมาตรการ กิจกรรม หรือพัฒนาไปสู่การทำแผนปฎิบัติการร่วมกันต่อไป ข้อสรุปจากเวทีสาธารณะประจำปีจะเป็นเสมือนทิศทางใหญ่ที่ให้แต่ละเครือข่ายได้ใช้ทำงาน ก่อนที่จะมารายงานผลการดำเนินงานในรอบปีต่อไป
การเลือกวิธีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายจากฐานวิชาการ ศึกษาจากข้อมูลสถานการณ์ จากงานวิจัย หรือจากข้อมูลชั้นสองที่พอจะหาได้ บวกกับประสบการณ์ตรงจากสมาชิกที่เป็นข้อมูลคุณภาพ มักจะนำมาสู่การเสนอแนะนโยบายเชิงหลักการ หรือเสนอเป็นเรื่องใหม่ๆ ซึ่งข้อดีกรณีที่มีข้อมูลที่เพียงพอและสร้างการมีส่วนร่วมได้ก็คือสามารถมองภาพเชิงยุทธศาสตร์ แต่มีจุดอ่อนตรงใช้เวลาในการผลักดันหรือขับเคลื่อนได้ยากด้วยไม่สอดประสานกับรูปแบบการทำงานปกติที่แยกส่วนและมีนโยบายจากผู้มีอำนาจของแต่ละหน่วยงาน ผู้มีอำนาจไม่ได้อยู่ในขบวนและไม่สามารถสร้างความเป็นเจ้าของร่วม ถูกมองว่าเป็นงานฝากหรือมีวาระของแหล่งทุนหรือองค์กรสนับสนุน หรือแนวทางของบางองค์กรชี้นำ อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวก็จำเป็นควรเลือกใช้อย่างเหมาะสม ถูกจังหวะ เวลา ไม่มีอะไรตายตัว
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567