"วิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง"

by punyha @5 ส.ค. 63 11:29 ( IP : 171...8 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , โครงการ SUCCESS
photo  , 1280x720 pixel , 177,297 bytes.

"วิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง"

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านเขากลาง ตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๔๗ หมู่ ๑๓ ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีนายนัด อ่อนแก้ว หรือผู้ใหญ่นัด เป็นประธานกลุ่ม เล่าว่าวิสาหกิจบ้านเขากลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเขากลาง เป็นแกนนำในการจัดตั้ง มีสมาขิก ๕๒ คน มีภารกิจหลัก คือ ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องอาชีพและรายได้ของสมาชิก อาชีพหลักทำนาปีละครั้ง กิจกรรมสำคัญของกลุ่ม ได้แก่ ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกข้าวสังข์หยด ตามระบบที่วางไว้ เช่น ระบบ GAP ระบบ GI ระบบอินทรีย์ ใครมีความสนใจต้องการปลูกข้าวแบบไหน ก็มาสมัครที่กลุ่มได้ เมื่อมีผลผลิตข้าวแล้ว ก็ให้ความรู้เรื่องการจัดสรรผลผลิต คือ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้

๑.บริโภคในครัวเรือน หรือไว้เป็นของขวัญของฝากในเทศกาลต่างๆ

๒.เก็บไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

๓.ส่งออกโรงสี

๔.เก็บตากไว้ให้แห้งเพื่อรอราคาช่วงปลายปี

ทั้งนี้กลุ่มรับซื้อผลผลิตในราคาที่ได้ประกันไว้ หลังจากนั้นก็ทำกระบวนการลดความชื้นของข้าว โดยเครื่องลดความชื้น แล้วนำไปเก็บสต็อค ด้านการตลาดส่วนใหญ่กลุ่มจะทำเอง แล้วจำหน่ายเป็นเงินสด ซึ่งเป็นการช่วยรับประกันความเสี่ยงด้วย ปัจจุบันวิสาหกิจบ้านเขากลาง มีสมาชิกทั้งหมด ๘๔ คน

ปัจจุบันทั้งหมู่บ้านเปลี่ยนมาปลูกข้าวสังข์หยด ๙๕% ของพื้นที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง มีที่จอดรถรองรับได้ประมาณ ๑๐ คัน มีห้องน้ำไว้บริการ ๓ ห้อง มีบริการที่พักเป็นรีสอร์ท รองรับได้ ๓๐ คน โฮมสเตย์ รองรับได้ประมาณ ๑๐ คน หากนักท่องเที่ยวต้องการให้ทำอาหารและเครื่องดื่ม ที่กลุ่มก็จะมีทีมงานทำให้ และในอนาคตจะทำที่จอดรถ ห้องน้ำ ที่พักโฮมสเตย์ และร้านขายของฝากของที่ระลึกเพิ่มอีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น “เริ่มด้วยความอยากทำก่อน เมื่อได้ผลแล้วค่อนขยายผล ลงมือทำอย่างใส่ใจ และทำจริง” ผญ.นัดเล่า “พร้อมกับมีจุดยืนที่แท้จริง เราจึงตัดปัญหาความหลากหลายของสายพันธุ์ เราเลือกทำแต่ข้าวสังข์หยด” ด้วยแนวคิดเช่นนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง จึงเกิดขึ้นต่อยอดจากกลุ่มออมทรัพย์การผลิตมาเป็นกลุ่มวิสาหกิจต้นแบบที่มุ่งพัฒนา “ข้าวสังข์หยด” ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดพัทลุงมาเกือบ ๓๐ ปีที่แล้ว โดยมีแนวคิดมุ่งส่งเสริมชาวบ้านให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยกันพัฒนาคุณภาพข้าว และพัฒนาช่องทางการขายข้าวจนเกิดความเข้มแข็งทางการตลาด จนทำให้ “ข้าวสังข์หยด” ได้การคัดสรรเป็นสินค้าโอท็อประดับ ๕ ดาวของจังหวัดพัทลุงในเวลาต่อมา

ในอดีตการปลูกข้าวสังข์หยดในจังหวัดพัทลุง มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงแต่ได้ผลผลิตต่ำ ที่สำคัญขายไม่ได้ราคา บวกกับการเป็นพื้นที่ชายขอบของตำบลจึงพยายามแก้ปัญหา แยกตัวออกมาเป็นหมู่บ้านใหม่ เมื่อได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผญ.นัดเริ่มต้นโดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในปี ๒๕๔๘ จากนั้นมีการบริหารจัดการและเก็บรวบรวมผลผลิตกันเองเพื่อสร้างอำนาจต่อรองราคากับพ่อค้าคนกลางสร้างโรงเรือนเก็บข้าวเปลือก สร้างโรงสีข้าวตามมาตรฐานจีเอ็มพี โดยการสนับสนุนของสำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ขนาด ๑๒ ตันต่อวันเพื่อผลิตข้าวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานออกสู่ตลาด พร้อมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ ข้าวกล้องซ้อมมือ ชาจมูกข้าว คุกกี้ ขนมทองพับ ไอศกรีม เส้น หมี่อบแห้ง ฯลฯ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขากลาง มีสมาชิกในเครือข่าย ๘๔ราย ผลิตข้าวสังข์หยดอินทรีย์มากกว่า ๔-๕ พันตันต่อปีบนเนื้อที่กว่า ๙๐๐ ไร่ ครอบคลุม ๕ หมู่บ้านในตำบลเขากลาง โดยจะปลูกปีละครั้งช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ในปีถัดไป ทางกลุ่มรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรสมาชิกในราคาตันละ ๑๕,๐๐๐บาท หากเป็นข้าวคุณภาพดี ราคารับซื้ออาจสูงถึงตันละ ๒๐,๐๐๐ บาท ด้านการตลาด กลุ่มฯ มีการติดต่อฐานลูกค้าทุกปีเพื่อทราบยอดที่ต้องผลิตต่อความเพียงพอ มีความซื่อสัตย์กับลูกค้า หากสินค้าทางกลุ่มฯ ไม่สามารถผลิตได้ก็จะไม่รับส่งสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มนั้น จะไม่มีการนำข้าวของที่อื่นมาติดตราของตนเองเป็นอันขาด ซึ่งเป็นกลไกทางการตลาดที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อลูกค้า สร้างความเชื่อมั่น การบอกต่อเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันมาก ส่งผลให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและจัดส่งศูนย์จำหน่ายสินค้าภายในจังหวัด รวมไปถึงทั่วประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้าวสังข์หยดพัทลุงเป็นข้าวพันธุ์แรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์โดยใช้ชื่อว่า "ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง"
โดยสีผ่านโรงสีข้าว GMP : Good Manufacturing Practices for Rice Mill ที่ได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ ๔๔๐๓-๒๕๕๓ ครอบคลุมสุขลักษณะของสถานที่ผลิตและกระบวนการผลิตของโรงสีข้าว ตั้งแต่การตรวจรับ การลดความชื้น การทำความสะอาด กะเทาะเปลือก การขัดสี การคัดแยกคุณภาพ การบรรจุ การเก็บรักษาและการขนส่ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค หรือใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากข้าว ที่นี่เป็นโรงสีขนาดเล็ก กว่าจะเริ่มต้นได้ทางอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรมาให้ความรู้อย่างต่อเนื่องกว่า ๒ ปี ผญ.นัดจึงสามารถเปิดโรงสีและผ่านมาตรฐานเป็นแห่งแรกของภาคใต้ ความสำคัญของ GMP โรงสีข้าวเพื่อพัฒนาโรงสีข้าวโดยการควบคุมสถานที่ กระบวนการผลิตให้มีความปลอดภัย และคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่วางแผนการผลิต การจัดเก็บ การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนการขนส่งถึงผู้บริโภคนับเป็นอีกปัจจัยความสำเร็จของกลุ่ม

กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นด้วยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสำคัญได้แก่ กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการพัฒนาชุมชน บวกกับเงินหุ้นจากสมาชิก ๘๔ ราย จำนวน ๒.๙ แสนบาท เงินยืมจากกลุ่มออมทรัพย์ บ้านเขากลางฯ จำนวน ๓ ล้านบาท เงินกู้จากธนาคารออมสิน ๓ ล้านบาท

จากพื้นฐานคนในหมู่บ้านยากจน รวมตัวกันไม่ได้ ผลผลิตมีหลากหลายสายพันธุ์ จึงได้แก้ปัญหาด้วยการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม ระดมทุน ลงหุ้นด้วยกัน เลือกพัฒนาเฉพาะข้าวสังข์หยด GI ทำทุกอย่างตามมาตรฐาน สมาชิกที่เข้าร่วมได้รับการประกันราคาที่เหมาะสม แต่ไม่สูงกว่าผลักภาระให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ

“ทำแค่พอทำได้ ไม่เป็นทุกช์” “คุณธรรมนำการบริหารจัดการ” “ทุกอย่างมีค่าหมด” นี่คือแนวคิดหลักของผญ.นัด ทำให้สามารถปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มมาได้เรื่อยๆ มีแต่เพียงช่วงแรกที่กลุ่มมีปัญหาปลายสารเหลือมากในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นที่ทำให้เป็นทุกข์ เมื่อตัดสินใจนำการแปรรูปข้าวกล้องมาโม่งเป็นแป้ง และทำขนมทองพับ คุกกี้เพิ่มมูลค่า นับแต่นั้นก็ไม่เคยมีปัญหาให้ทุกข์ใจอีกเลย

แกลบดิบก็นำไปเผาเป็นขี้เถ้า นำไปทำถ่านแกลบ ฟางข้าวก็นำมาทำกระดาษสา รำข้าวก็นำไปทำเครื่องดื่มจมูกข้าว ที่นี่ยังได้เปิดเป็นโรงเรียน OTOP ให้ความรู้แก่ผู้สนใจ จึงเป็นสถานที่ซึ่งมีคนเข้ามาดูงานและเรียนรู้ตลอดเวลา กลุ่มจึงได้พัฒนาโฮมสเตย์มาตรฐาน ๔ ดาวขึ้นมารองรับผู้มาดูงาน รวมไปถึงมีรูปแบบ “อาหารชนชั้น” นั่นคือปิ่นโตที่นำมารองรับผู้มาเยือนโดยสมาชิกที่รับผิดชอบปรุงอาหารตามเมนูของตนมาเป็นอาหารแต่ละมื้อ อาหารแต่ละชั้นของปิ่นโตนำมาวางเรียงชนกัน บริการแก่ผู้มาเยือนได้เลือกทาน

แม้กระทั่งช่วงโควิดระบาด กลุ่มก็ไม่ได้รับผลกระทบ อาศัยฐานลูกค้าที่มี ผญ.ได้ปรับตัวโดยใช้วิธีส่งผลผลิตให้ถึงบ้าน ทำตลาดเชิงรุก

ชาคริต โภชะเรือง บันทึกแห่งกาลเปลี่ยนเมือง

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน