"คูหาของเรา"

photo  , 958x720 pixel , 192,986 bytes.

"คูหาของเรา"

ปลุกสำนึกรักถิ่น พัฒนาคน จัดทำ care plan คุณภาพชีวิตรายบุคคล

ตำบลคูหาโดยการนำของนายกปัญญา สร้างการมีส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันขององค์การบริหารส่วนตำบลคูหา พัฒนาคน พัฒนาผู้นำ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนร่วมดูแลกันและกัน

๑.ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาเป็นชุมชนโบราณ มีสองวัฒนธรรมไทยพุทธและมุสลิมผสานกัน ที่นี่มีโบราณสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวด ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมามีชุมชนมุสลิมย้ายเข้ามาอยู่อาศัย ด้วยต้นทุนทรัพยากรสวนยางในยุคที่กำลังบูมสุดขีด เกิดเศรษฐีของทั้งไทยพุทธและมุสลิมมากมาย เห็นได้จากการซื้อรถคันใหม่และคาราโอเกะริมถนนเต็มไปหมด จนผ่านยุคยางกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท มาสู่ยุคเศรษฐีตกยาก รถใหม่ก็หายไปด้วย ทุกอย่างก็ซบเซาลง ช่วงหลังมีประชากรจากสามจังหวัดชายแดนย้ายเข้ามาอยู่ผสมผสานกันมากขึ้น และเคยมีเหตุความไม่สงบในพื้นที่ สาเหตุจากคนภายนอกที่เข้ามาอาศัย

๒.โดยการนำของนายกฯได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรของอบต.คูหาให้ทำงานร่วมกัน ที่นี่ทุกไตรมาสจะมีการประชุมทีมงานของอบต.ทั้ง ๔ กอง ได้แก่ สำนักปลัด กองศึกษา กองช่าง และกองคลัง เพื่อประสานการทำงานร่วมกัน พร้อมกับประชุมงานทุกเดือน ลงตารางงานร่วมกัน หากกองใดมีภารกิจจะไปช่วยกัน หรือเจ้าหน้าที่มีภารกิจอืนใดจะมีการรายงานผ่านกลุ่มline สื่อสารกัน พร้อมกับพัฒนาศักยภาพทีมงาน แกนนำชุมชน ผ่านโรงเรียนผู้นำ และเรียนรู้กับสสส.ที่มายกระดับเป็นตำบลแม่ข่าย ค้นหาแกนนำที่สนใจทำงานจริงไป ผลการพัฒนาคนโดยเน้นให้โอกาสคนทำงานจริงทำให้มีทีมงานที่เข้มแข็ง จนเป็นจุดเด่นของคูหา พร้อมกันนั้นทีมก็อาศัยการทำงานเข้าไปฝังตัวให้เป็นเนื้อเดียวกับชุมชน เปลี่ยนจาก "คนนอก" มาเป็น "คนใน" ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกับชุมชน โดยอบต.ไม่เน้นการลงไปทำให้ แต่ต้องการเสริมหนุนความต้องการที่เกิดจากการ "ระเบิดจากข้างใน" ผลการทำงานแบบทั้ง "ทุ่มเท" และ "ทุ่มทิ้ง"พบว่าชุมชนที่ตื่นตัว แสดงออกถึงความต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจะพบในชุมชนชายเขา ขณะชุมชนในเขตเมืองจะพบน้อย

พร้อมกันนั้นก็ได้พัฒนาระบบข้อมูลกลาง โดยประสานข้อมูล จากแนวทางของ สสส.สำนัก ๓ ประกอบด้วยชุดข้อมูลอย่างน้อย ๔ ชุด ได้แก่

(๑) ข้อมูลชุดพื้นฐาน ๗ ด้าน (ข้อมูลด้านทุนที่แสดงถึงศักยภาพของตำบล ข้อมูล ด้านการสื่อสาร ข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ ข้อมูลด้านประชากร ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม ข้อมูล ด้านเศรษฐกิจชุมชน และข้อมูลด้านการเมืองการปกครอง) (๒) ข้อมูลชุดวิเคราะห์ (๓) ข้อมูลชุด จัดการ  และ(๔) ข้อมูลชุดผลลัพธ์ นำไปสู่การวางแผนการพัฒนาตำบลได้ตรงจุด และร่วมกับอบจ.สงขลา/มูลนิธิชุมชนสงขลาในการจัดเก็บข้อมูลกลุ่มเปราะบางรายบุคคล(คนพิการ ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยรอการฟื้นฟู คนยากลำบากฯ) ผ่านกลไกศูนย์สร้างสุขชุมชน การได้ทีมเก็บข้อมูลที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพทำให้เข้าใจประโยชน์ของข้อมูล จึงได้ข้อมูลที่มีคุณภาพนำมาสู่การวิเคราะห์ และการประสานบูรณาการกลไก (เช่น กองทุนสุขภาพ ศูนย์ช่วยเหลือราษฎร ศูนย์สร้างสุขชุมชน ฯลฯ) รวมถึงระเบียบปฎิบัติที่มีในตำบลเพื่อลดความซ้ำซ้อนของตัวบุคคล งบประมาณ นับเป็นอีกจุดเด่นของคูหา

นอกจากนั้นแล้วทีมงานท้องถิ่นยังเป็น "ข้อต่อ"กลางในการทำงานระหว่าง ท้องที่กับท้องถิ่นอีกด้วย เพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้บริหารที่เป็นนักการเมืองกับฝ่ายปกครอง รวมถึงบทบาทของสมาชิกอบต.ที่สามารถทำงานเชิงรุกจากฐานความร่วมมือที่ดีรองรับดังกล่าวมา

๓.จุดเด่นของความเข้มแข็งไปปรากฏในชุมชนทับยางที่เรียกตัวเองว่า ชุมชนคนหลังเขา ที่นี่มีมัสยิดสวยงามมาก กับชุมชนห้วยเต่าเป็นชุมชนที่เกิดหลังทับยาง ฐานะยากจนกว่าชุมชนทับยาง ห้วยเต่าเป็นชุมชนในหุบเขา มีเยาวชนที่เข้มแข็งรวมตัวกันพัฒนาชุมชนของตน จัดทำธรรมนูญ "ห้วยเต่ากำปงกีตอ"

๔.จุดเน้นของคูหาปัจจุบันอยู่ที่ประเด็นการจัดการขยะ และการดูแลกลุ่มเปราะบาง

๔.๑ การจัดการขยะ เนื่องจากเป็นประเด็นที่สนใจของผู้บริหาร ที่ไม่ต้องการให้มีรถขยะ หรือขยะตกค้าง และชุมชนก็ไม่อยากสร้างขยะเพิ่มให้เป็นภาระของชุมชน

๔.๒ การดูแลกลุ่มเปราะบาง นอกจากมีกลไกของศูนย์สร้างสุขชุมชนแล้ว ยังร่วมกับรพ.สะบ้าย้อย พชอ.สะบ้าย้อย โดยมีรพ.สต.ที่เข้มแข็งคอยสนับสนุน ที่นี่ยังดำเนินการไปถึงขั้นการจัดทำ care plan คุณภาพชีวิตรายบุคคล โดยอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ อาศัยตัวคนเป็นฐาน แล้วประสานกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำแผนดูแลร่วมกัน เช่น เคสผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ได้รับความอนุเคราะห์จากทางอำเภอในการทำบัตรประชาชน ,กรณีเคสเด็กเป็นผู้ป่วยเอดส์ ได้มีการทำบัตรรับรอง และส่งเรื่องขึ้นทะเบียนได้รับเงินช่วยเหลือผู้ป่วย HIV ,การหาอาชีพเสริมให้กับญาติที่ดูแลผู้ป่วย เพื่อคลายความตึงเครียด หรือกรณีผู้พิการ ได้มีการซ่อมบ้านและส่งเสริมอาชีพให้ทำ เช่น การทำข้าวต้มสามเหลี่ยม ทำให้ผู้ป่วยมีรายได้พอที่จะช่วยเหลือตัวเองได้

๕.ปัจจัยความสำเร็จ

๑)ฝ่ายบริหาร นายกอบต. ปลัดอบต. และคนทำงาน มีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกัน

๒)มีการสร้างกระบวนการพูดคุย สร้างเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ไม่เอาการเมืองมาเป็นข้อจำกัดในการทำงาน สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการทำงาน

๓)ใช้สำนึกอัตลักษณ์ท้องถิ่น สำนึกร่วมความเป็นเจ้าของชุมชน ว่าทุกอย่างเป็นของเรา หล่อหลอมการเป็นชุมชน

๔)การมีระบบสนับสนุนทั้งการเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำแผนจากฐานข้อมูลของ TCnap สสส. ฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางรายบุคคล iMed@home ของมูลนิธิชุมชนสงขลา มาบูรณาการร่วมกันเป็นฐานข้อมูลชุดเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนและสร้างเอกภาพในการทำงาน ข้อมูลยังส่งผลทำให้เกิดความเป็นเจ้าของ เช่น ความรู้สึกเป็นเจ้าของข้อมูล ความเป็นเจ้าของชุมชน ความเป็นเจ้าของในการรับผิดชอบดูแลคนเปราะบาง

สรุปเนื้อหาจากธรรมนูญ on air ครั้งที่ ๑๙ อบต.คูหาตอนที่ ๑

ปฎิบัติการพลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด

ชาคริต โภชะเรือง รายงาน

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน