ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 10

by punyha @15 เม.ย. 63 12:36 ( IP : 124...194 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , มองมุมหมอ
photo  , 960x720 pixel , 116,555 bytes.

ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 10

โควิด ควบคุมโรคเข้มข้น เศรษฐกิจยากลำบาก ประเทศไทยจะไปอย่างไรต่อดี

คนจนเมืองมากกำลังลำบาก เศรษฐกิจแย่และซึมยาว ลูกจ้างตกงาน เงินเก็บไม่มี ชีวิตลำบาก เราเห็นแล้วในข่าว เงินค่าเช่าห้องไม่มีจ่ายต้องออกมานอนสวนสาธารณะ งานไม่มีทำแต่ดอกเบี้ยเดินไม่หยุด คนชนบทก็ไม่ต่างกัน

ที่จะนะ ชาวประมงพื้นบ้าน เล่าให้ผมฟังว่า ภัตตาคารปิดหมด การส่งออกก็น้อยลง ปลาปูกุ้งหอยที่จับได้มา ไม่มีใครรับซื้อ ชาวบ้านเองก็ไม่มีห้องเย็นเอาไว้เก็บรอขายได้ สิ่งที่ได้มา ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย ทำให้ชีวิตชาวประมงลำบากมากขึ้นมาก แม่ค้าพ่อค้าในตลาดก็ลำบาก หมอนวดแผนไทยที่มานวดให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลยิ่งลำบาก คนปลูกผลไม้ ช่างตัดผมเสริมสวย ต่างก็รอเวลาผ่อนคลายกติกา

ชาวสวนยางก็ลำบากมาก ราคายางในช่วงเดือนเมษายนที่ไม่มีน้ำยางออกสู่โรงงาน ราคาน้ำยางดิบยังเพียงแค่กิโลกรัมละ 30 บาทเศษๆ หากถึงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ยางเริ่มเปิดกรีด แล้วราคาน่าจะต่ำลงมาก หากโรงงานผลิตถุงมือหรือโรงงานที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบยังไม่ได้เปิดเดินเครื่อง แล้วชาวสวนยางจะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่าย เงินออมเงินเก็บนั้นหมดไปนานแล้วเพราะราคายางตกต่ำมาหลายปีต่อเนื่อง

ระบบตลาดพิกลพิการไปจากหลายมาตรการหยุดการระบาดของโควิด ซึ่งแน่นอนว่ามีความจำเป็นในช่วงแรกที่ต้องควบคุมโรคอย่างเข้ม แต่ไวรัสจะอยู่กับเราไปอย่างน้อย 12-18 เดือน ความสมดุลของความเข้มในการควบคุมโรคกับการผ่อนคลายเพื่อให้ผู้คนทำมาหากินได้ คือโจทย์ใหญ่ของสังคม

สังคมไทยสอบผ่านการควบคุมโรคจนกดการติดเชื้อรายใหม่ได้ต่ำกว่า 50 รายต่อวันแล้ว การเยียวยา 5,000 บาทนั้นคือมาตรการสังคมสงเคราะห์ชั่วคราวที่ใช้เงินมากและมีปัญหาความทั่วถึง การทำให้ภาคเศรษฐกิจเดินได้ในท่ามกลางวิกฤตไวรัส คือความท้าทายที่แท้จริงของรัฐบาล

มาตรการปิดเมือง ปิดจังหวัด ปิดห้าง ปิดถนน ปิดโรงงาน ปิดทุกอย่าง ทั่วประเทศนั้น อาจต้องทบทวน ควรเปลี่ยนเป็นการปิดเฉพาะจุดเฉพาะตำบลหรืออำเภอที่มีการระบาด เพื่อเป็นให้กลไกทางเศรษฐกิจสามารถเดินไปได้ในระดับที่สามารถควบคุมโรคได้ด้วย แน่นอนว่าเมื่อเปิดการสัญจร เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(ไม่ใช่กิจการด้านการบันเทิง) ไวรัสก็จะมีการระบาดมากขึ้น ระบาดตรงไหนก็เข้มงวดตรงนั้น เป็น target specific หรือเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่

เราไม่มีทางที่เราจะควบคุมไวรัสให้หยุดการระบาดโดยสมบูรณ์ได้ จนกว่าเราจะมีวัคซีน ซึ่งต้องรออีกนานนับปี ผมไม่มีความรู้ในด้านมาตรการทางเศรษฐกิจมากนัก แต่ผมรับรู้จากชาวบ้านได้ว่า เงินออมเขาหมดแล้ว เขากำลังลำบากมาก ต้องกินต้องใช้ แม้ประหยัดแต่ก็ยังรายจ่ายมากกว่ารายได้ มิเช่นนั้นปัญหาความเครียด ปัญหาการฆ่าตัวตายหนีพิษเศรษฐกิจ และปัญหาสังคมอื่นๆจะตามมา

สมดุลของการควบคุมโรคและระบบเศรษฐกิจที่เดินหน้าได้ คือโจทย์ใหญ่โจทย์ยากของประเทศไทย

ปล. ขอบคุณภาพทะเลจะนะอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง จากคุณศุภวรรณ ชนะสงคราม

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  14 เมษายน 2563

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน