ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 9
ความเข้าใจพื้นฐานต่อโรคโควิด ตอนที่ 9
โควิด มีนัดตรวจรับยาโรคเรื้อรัง ป้าต้องไปไหม
คำถามที่พบบ่อยมากๆในช่วงการระบาดของโควิด “ป้าเป็นเบาหวานวันที่หมอนัดยังต้องไปไหม” “หนูมีนัดฝากท้องจะเสี่ยงไปตามนัดดีไหม” “น้ามีนัดผ่าตัดแล้วจะยังไงดี” สารพัดคิวนัดที่โรงพยาบาล เราควรจะจัดการตนเองอย่างไร
การระบาดของโควิดในปัจจุบัน ทำให้ผู้ป่วยหายไปจากโรงพยาบาลประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เพราะกลัวติดโรคจากโรงพยาบาล ยิ่งหากโรงพยาบาลนั้นมีการรับผู้ติดเชื้อโควิดมากักตัวหรือรักษาด้วยแล้ว คนไข้ก็จะยิ่งไม่กล้ามา จะเสี่ยงติดโควิดหรือจะเสี่ยงให้อาการแย่ลงเพราะขาดยา นี่คือโจทย์ที่ต้องชั่งน้ำหนัก
ถ้าทางโรงพยาบาลโทรศัพท์มาเลื่อนนัดก็คงชัดเจนว่าเลื่อนไปก่อน เช่นกรณีการผ่าตัด ทันตกรรม เพื่อลดความเสี่ยง แต่ถ้าทางโรงพยาบาลไม่ได้โทรมา เพราะเป็นนัดตรวจและรับยาต่อเนื่องในคลินิกโรคเรื้อรัง อันนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า ยาเดิมยังมีเหลือพอทานไหมพอกี่วัน หากไม่พอหรือมีน้อยจะเอาอย่างไร ก็ควรไปพบแพทย์ตามนัด การขาดยาในบางสภาวะอาจจะทำให้ตัวโรคประจำตัวแย่ลงมากจนอาจอันตรายได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกโรงพยาบาลก็ได้ทำเช่นเดียวกับโรงพยาบาลจะนะ คือมีการส่งยาทางไปรษณีย์หรือฝากไปทาง อสม.เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานความดันไม่ขาดยา ที่จะนะก็กำลังจัดส่งยายาให้คนไข้ที่บ้านกว่า 5,000 ราย ซึ่งก็มีความโกลาหลมากพอควร แต่ประเด็นคือ หมอก็จะจัดยาเดิมไปให้ บางคนที่คุมอาการได้ดีนั้นก็ไม่มีปัญหา แต่บางรายยังคุมอาการได้น้อย ควรได้พบแพทย์ ก็ต้องมาโรงพยาบาล แพทย์จึงมักจะแยกแยะว่า รายนี้ยังคุมอาการไม่ดีขอนัดมาตรวจและเจาะเลือดที่โรงพยาบาลดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเสี่ยงโควิดเพิ่มขึ้น แต่หากล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย อยู่ห่างๆกันกับคนป่วยคนอื่น ความเสี่ยงก็แทบจะน้อยมาก
ตัวเลขการระบาดในอำเภอที่เราอยู่สำคัญที่สุด หากไม่พบการระบาด หรือมีผู้ป่วยแต่อยู่ในการดูแลของแพทย์แล้ว หากมีนัดและยาใกล้หมด ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิดก็ต่ำๆมากๆ ไปหาหมอตามนัดดีกว่าขาดยา
สำหรับผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยฝากครรภ์ใกล้คลอด ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ป่วยที่กิน methadone ทดแทนไม่ให้หันกลับเสพยาเสพติด ผู้ป่วยโรคไตโรคหัวใจ การไปพบแพทย์และรับยาที่โรงพยาบาลยังมีความจำเป็น การขาดยาจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ขอให้อย่าขาดยา
แต่หากในอำเภอนั้นๆมีการระบาดอย่างหนัก ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ หากหยิบยืมสามารถวัดความดันไปจากบ้าน เจาะน้ำตาลไปจากบ้าน แล้วฝากลูกหลานคนหนุ่มสาวไปพร้อมตัวเลขที่วัดมาแล้วเพื่อรับยาแทน จะดีกว่าไปตัวเปล่า ลูกหลานไปเร็วมาเร็ว ถึงบ้านก็อาบน้ำล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ความเสี่ยงต่างๆก็จะลดลงไป
โรคเรื้อรังต้องไม่ขาดยา นี่คือหัวใจ มีหลายวิธีที่จะไม่ให้ขาดยา คนไข้บางคนอาการคงที่ทางโรงพยาบาลจะส่งยาไปให้ บางคนอาการควรพบแพทย์ก็อาจจะไปพบแพทย์หรือส่งลูกหลานไปรับยาแทนโดยมีผลน้ำตาลและค่าความดันโลหิตไปบอกแพทย์ด้วย ขึ้นกับการประเมินความเสี่ยงในช่วงเวลานั้นครับ
“จะเลือกวิธีไหนก็ตาม เป้าหมายคือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องไม่ขาดยา”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 13 เมษายน 2563
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567