มูลนิธิชุมชนสงขลาจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพ
มูลนิธิชุมชนสงขลาร่วมกับเครือข่ายสุขภาพจังหวัดสงขลา ร่วมสร้างและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาพด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ซึ่งปีนี้พิเศษตรงที่ได้มูลนิธิชุมชนสงขลาเป็นเจ้าภาพหลักร่วมดำเนินงานใน นามโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมกรณีสมัชชาสุขภาพ จังหวัดสงขลา พ.ศ.2552-2554
คุณชาคริต โภชะเรือง ในฐานะผู้รับผิดชอบ กล่าวว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลไกและกระบวนการสมัชชาเฉพาะประเด็น / เฉพาะพื้นที่
“การจัดสมัชชาจะเป็นเวทีที่นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาหาฉันทาคติร่วมกันผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสนทนาอย่างสมานฉันท์ เน้นความเห็นร่วม นำมาสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัด ซึ่งการสร้างนโยบายเช่นนี้อาจเกิดได้จากทุกภาคส่วนหรือจากประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตของตน การจัดสมัชชาจะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะ และลดทุกขภาวะในจังหวัดสงขลา และเพื่อเชื่อมโยงกับกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในระดับที่กว้างกว่าพื้นที่จังหวัดและในระดับประเทศ”
ทั้งนี้มิใช่เรื่องใหม่สำหรับคนในจังหวัดสงขลา เพราะได้มีการกำหนดเป้าหมายในเชิงนโยบาย ปี 2552 เป็นการต่อยอดขยายผล “คำประกาศสมิหลา” (วาระสุขภาพที่ได้จากเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาปี 2551) ให้เกิดรูปธรรมระดับพื้นที่ นอกจากนี้แล้วยังมีการบูรณาการข้อเสนอและการขับเคลื่อนนโยบายทั้งเชิงประเด็น เช่น ด้านการแก้ปัญหาไฟใต้ในพื้นที่ 4 อำเภอ , ด้านสิ่งแวดล้อม ,ด้านเด็กและเยาวชน ,ด้านเกษตรและอาหาร, ด้านผู้พิการ และวาระหลักเชิงพื้นที่ มีการสร้างนโยบายสุขภาพแต่ละประเด็นให้เป็นวาระสุขภาพท้องถิ่น ต่อยอดหนุนเสริมการพัฒนาแผนสุขภาวะตำบล และการบูรณาการกลไกการทำงานในพื้นที่ระดับตำบลของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ปี 2552
คุณชาคริต ยังเล่าถึงขั้นตอนในการจัดสมัชชาสุขภาพในปีนี้ว่าเริ่มต้นจากการเตรียม “เราได้มีการจัดพิมพ์คำประกาศ “สมิหลา” รวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายที่ผ่านฉันทามติจากการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดเผยแพร่ไปยังอปท.ในพื้นที่จังหวัดสงขลา แล้วยังร่วมงานวันอบต.ช่วยกันกระตุ้นให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตมากขึ้นกว่าการพัฒนาที่จะให้น้ำหนักกับโครงสร้างพื้นฐาน”
และยังเล่าอีกว่า ได้มีการจัดประชุมคณะทำงานและภาคียุทธศาสตร์คัดเลือกพื้นที่ดำเนินงาน อปท. 10 พื้นที่ โดยใช้เกณฑ์เบื้องต้นคือ อปท.ที่ตอบรับการเข้าร่วมงานจากการจัดสมัชชาสุขภาพปี 2550 พื้นที่ดังกล่าวควรมีเครือข่ายสุขภาพเชิงประเด็นในพื้นที่,มีแผนสุขภาวะตำบล, มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น,มีกองทุนสวัสดิการชุมชน,อบต/เทศบาล มีความพร้อมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม
“หลังจากนั้นจะมีการจัดเวทีเรียนรู้กระบวนการนโยบายสาธารณะและกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานกับคณะทำงานกลาง”
ขั้นตอนจัดสมัชชาสุขภาพตำบล
ในฐานะที่มูลนิธิชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน คุณชาคริต ผู้จัดการเล่าว่ากิจกรรมโครงการจะเริ่มด้วยการทำความเข้าใจร่วมกับแกนนำในพื้นที่เป้าหมาย กำหนดทิศทางหรือประเด็นหลักในการจัดสมัชชา ใช้กระบวนการmapping ระบบสุขภาพใน 10 พื้นที่และพัฒนากลไกความร่วมมือของภาคีสุขภาพในแต่ละพื้นที่
“แล้วเราก็ใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับตำบลใน 10 พื้นที่ เริ่มตั้งแต่การสร้างความตระหนัก ความเข้าใจ ร่วมกันค้นหาประเด็นหลักในการดำเนินงาน จากนั้นคณะทำงานในพื้นที่จะมีการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและการตัดสินใจเลือกข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาสุขภาวะของชุมชน นำวาระสุขภาวะของชุมชนเข้าสู่เวทีสมัชชาสุขภาพ นำไปสู่การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายระดับพื้นที่”
ขณะเดียวกัน ก็มีการดำเนินงานคู่ขนานมีการขับเคลื่อนนโยบายของภาคีเชิงประเด็นในแผนสุขภาพจังหวัด ร่วมกับรายการสมัชชาทางอากาศขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมกับแผนสุขภาพจังหวัดในประเด็นที่มีความสำคัญ ได้แก่ เด็กและเยาวชน เกษตรและอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม ผู้พิการ ผู้บริโภค หรือไม่ก็ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ในแต่ละประเด็นของแผนสุขภาพจังหวัดจัดเวทีสาธารณะนำเสนอเชิงนโยบาย
ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นตามกิจกรรมหรือเวที
กิจกรรมขยายผลคำประกาศสมิหลา บูรณาการข้อเสนอและการขับเคลื่อนนโยบายทั้งเชิงประเด็น(ด้านการแก้ปัญหาไฟใต้ในพื้นที่ 4 อำเภอ , ด้านสิ่งแวดล้อม ,ด้านเด็กและเยาวชน ,ด้านเกษตรและอาหาร, ด้านผู้พิการ) และเชิงพื้นที่
“เราได้มีการจัดพิมพ์จดหมายข่าว “คำประกาศสมิหลา” เผยแพร่ให้กับอบต. รวมถึงเครือข่ายจำนวน 1000 ฉบับ ได้ร่วมงานวันอบต. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552 นำเสนอแนวทางสร้างสุขภาวะ และจัดส่งแบบตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมของอปท.ให้กับภาคียุทธศาสตร์ ได้แก่ สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 จ.สงขลา) และสกว.(โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและสร้างสุขภาวะ) จำนวน 20 แห่ง และคัดเลือกอปท. 10 แห่ง เข้าร่วมกระบวนการสมัชชาสุขภาพตำบล”
นอกจากนี้แล้ว ยังร่วมกับแผนสุขภาพจังหวัดสงขลาและรายการสมัชชาทางอากาศ สถานีวิทยุ FM.88.00 MHz และ FM.101.00 MHz http://www.banbanradio.com ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ได้ผลสรุปที่สำคัญดังนี้
- มีการเปิดพื้นที่สาธารณะร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ รองรับกิจกรรมเด็กและเยาวชน
- ขับเคลื่อนนโยบายให้สงขลาเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็ก โดยมีเทศบาลนครสงขลาและรร.เทศบาล 2 อ่อนอุทิศ รับเป็นโรงเรียนนำร่อง จัดทำหลักสูตรระดับท้องถิ่น
- เทศบาลตำบลเกาะแต้วร่วมขับเคลื่อนครอบครัวเข้มแข็ง สภาเด็กและเยาวชน
- ขับเคลื่อนให้เกิดตลาดปลอดสารพิษในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ 2 จุด และกำลังเปิดตลาดสุขภาพร่วมกับ 4 อบต.ในอำเภอรัตภูมิ
- ร่วมกับท้องถิ่นจังหวัดสงขลา ทสจ. นำเสนอนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การแก้ปัญหาน้ำเสียด้วยฝายดักขยะวัดคลองแห
- ร่วมกับคณะทันตะแพทย์ศาสตร์ อบต.จะโหนง ร่วมจัดทำโรงน้ำชุมชนแก้ปัญหาน้ำมีค่าฟลูออไรด์เกินมาตรฐาน
- ผลักดันให้เกิดเครือข่ายนักวิชาการ สนับสนุนกระบวนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่
- ขับเคลื่อนร่วมกับอบต.ท่าข้าม เกิดระบบอาสาสมัครในการดูแลสุขภาพผู้พิการ
- นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายการทำให้สงขลาเป็นเมืองสุขภาวะให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งอบจ.
- ร่วมกับพมจ.(พัฒนาสังคมและความมั่นคงของความเป็นมนุษย์)และภาคีจัดทำแผนคุณภาพชีวิตผู้พิการจังหวัดสงขลา ปี 2553-2555
คุณชาคริต ยังเล่าอีกว่า “เราได้ร่วมกับสมาคมอสม.สงขลา จัดทำแบบสอบถามข้อมูลสถานการณ์สุขภาพจังหวัดสงขลา ซึ่งคาดว่าจะมีการประมวลผลโดยภาพรวมในเร็วๆนี้ นอกจากนั้นแล้วเรายังร่วมกับพมจ.และภาคีกำลังจัดทำแผนแม่บทเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาร่วมกับจังหวัดสงขลา เกษตรจังหวัด กศน.พัฒนาการจังหวัดจัดทำ “ท่าช้างโมเดล” เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคท้องถิ่น ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชนในด้านเศรษฐกิจพอเพียง และร่วมกับภาคีจัดตั้งสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาภาคประชาชน”
สร้างนโยบายสาธารณะให้เป็นวาระสุขภาพท้องถิ่น
ในปี 2552 ได้พื้นที่อปท.เข้าร่วมกระบวนการ 10 พื้นที่ได้ แก่ เทศบาลเมืองบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา เทศบาลตำบลกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ อบต.คลองรี อำเภอสทิงพระ อบต.ควนโส อำเภอควนเนียง อบต.เชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ อบต.พิจิตร อำเภอนาหม่อม อบต.สะกอม อำเภอเทพา อบต.รำแดง อำเภอสิงหนคร อบต.ชะแล้ อำเภอสิงหนคร
ในการดำเนินงานจะมีคณะทำงาน เท่ากับว่าได้กลไกความร่วมมือของภาคีสุขภาพในแต่ละพื้นที่ มาร่วมสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนนโยบายในประเด็นสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนใน 10 พื้นที่ได้แก่
1. เทศบาลตำบลปริก ผลักดันให้เกิดศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจร “ คลินิกชุมชนอบอุ่น “ ที่ทุกภาคส่วน(เทศบาลตำบลปริก/สอ./รพ./ชุมชน/ร่วมกับสปสช./มูลนิธิชุมชนสงขลา)จะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันดำเนินการ มีการบริการทั้งทั้งทางด้านการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพ ให้กับเด็กและเยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และวัยผู้ใหญ่มีแพทย์ประจำคลินิกฯอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหา “รอหมอนาน บริการไม่ดี หมอตรวจหนึ่งนาทีก็เสร็จ” ซึ่งเป็นคำพูดที่เรามักได้ยินกันเป็นประจำในสังคมไทยทั่วทุกภูมิภาค ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ไม่ราบรื่นในการบริการทางการแพทย์
เทศบาลตำบลปริกต้องการพัฒนาต่อยอดให้คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวมในชุมชน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้าน “สุขภาวะ” ซึ่งต้องเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านต่าง เช่น ด้านสุขภาพ อาชีพ และการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพ อสม. เพื่อให้ อสม.เป็นผู้ช่วยเหลือพยาบาล และต้องการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในชุมชนแล้วให้เด็กเหล่านี้กลับมาใช้ทุนที่คลินิกชุมชนอบอุ่น
2. เทศบาลเมืองบ้านพรุ ขับเคลื่อนให้เกิด"ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง"ร่วมแก้ปัญหาครอบครัว ด้วยการสร้างการเรียนรู้สู่ครอบครัวในทุก “ชุมชน” เด็กและเยาวชนทุกคนได้เรียนรู้ด้าน “ครอบครัวศึกษา”อย่างเหมาะสมกับวัย มีการจัดตั้งชมรมพ่อ / แม่ พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต่อครอบครัว จัดตั้งศูนย์บริการ
ร่วมแก้ปัญหาการส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ยังมีน้อย ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนา และจัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาทุกศาสนา สนับสนุนกิจกรรมเด็ก เยาวชน และเข้าค่ายอบรมคุณธรรม / จริยธรรม ประสานโรงเรียน / วัดสอดแทรกเนื้อหาการเรียนการสอนรายวิชาจริยธรรม / ศีลธรรม
ร่วมแก้ปัญหาการพัฒนาขาดความต่อเนื่อง ด้วยการจัดเวทีพูดคุยปัญหา / สื่อสารแลกเปลี่ยนกันในชุมชน การมีส่วนร่วมของทุกองค์กรในชุมชน ร่วมแก้ปัญหาการพนัน และแหล่งอบายมุข รณรงค์สร้างกระแสให้คนเลิกมั่วสุมในอบายมุขและสิ่งยั่วยุต่าง ๆขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านเกมส์ ขยายพื้นที่สร้างสรรค์ จำกัดพื้นที่ไม่สร้างสรรค์ เพิ่มลานกีฬา เพิ่มห้องสมุดและแหล่งเรียนรู้
ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด มีการบังคับใช้ของกฏหมาย กีฬาครอบครัวสัมพันธ์ เครือข่ายแจ้งเบาะแส และร่วมแก้ปัญหารถซิ่ง อบรมเรื่องการขับขี่ปลอดภัย บังคับใช้ของกฏหมาย โรงเรียนมีส่วนร่วม โดยมีการลงโทษโดยใช้การตัดคะแนน กิจกรรมเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ สร้างกรอบเวลาเน้นความสัมพันธ์ในครอบครัว
3. เทศบาลตำบลกระแสสินธ์ มีประเด็นหลักได้แก่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และพัฒนา “ระบบสุขภาพชุมชน” พื้นที่นี้ต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการบริหารจัดการพัฒนา “ระบบสุขภาพ” ชุมชน จัดให้มีกระบวนการสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ ดำเนินการเองหรือร่วมมือกับหน่วยงาน/ภาคประชาชน/ผู้นำชุมชน อสม. ในการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพ เช่นสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินการจัดการสุขภาพชุมชน การลดอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม การทำเกษตรปลอดสารพิษ การปลูกผักพื้นบ้านต้านทานโรค การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแนะนำด้านอาหารแก่กลุ่มเสี่ยง มีการจัดทำเมนูสุขภาพชุมชนและจัดให้มีตลาดน่าซื้อสินค้า อาหารปลอดภัย
นอกจากนั้นยังอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพมาจัดทำแผนสุขภาพตำบลและบูรณาการกับแผนพัฒนา 3 ปีของเทศบาลตำบล มีการนำเสนอผลการดำเนินงานแก่ชุมชน มีการบริหารจัดการ “ระบบสุขภาพ” อย่างเป็นระบบ ให้มีคณะทำงานแผนสุขภาพตำบลและคณะทำงานสมัชชาสุขภาพตำบลอย่างเป็นระบบ บูรณาการแผนสุขภาพตำบลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีกองทุนสุขภาพท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณผลิตอาหารปลอดภัยและการบริโภคอาหารปลอดภัย สนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จัดทำข้อมูลสุขภาพชุมชน ประเมินผลกระทบทางสุขภาพชุมชน สร้างจิตสำนึก ในการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย
และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนทุกระดับพัฒนา“ระบบสุขภาพชุมชน” พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพชุมชน จัดให้มีกลไกประสานงาน ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา “ระบบสุขภาพชุมชน” จัดตั้งกองสาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจัดทำนิทรรศการผลงานและผลการดำเนินงานด้านสุขภาพ ปีละ 1 ครั้ง นำเสนอผลงานและสถานการณ์ด้านสุขภาพ
4. อบต.คลองรี มีวาระการเสริมความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายสุขภาพ ดำเนินการให้มีเครือข่ายสุขภาพ 28 เครือข่ายในชุมชนครอบคลุมทุกกลุ่ม พัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพให้มีบทบาทสามารถดูแลสุขภาพภายในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เครือข่ายสุขภาพทุกเครือข่าย มีกิจกรรมเชื่อมโยงช่วยเหลือทุกเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะของคนในตำบลไปพร้อมๆกันได้อย่างเข้มแข็ง
5. อบต.พิจิตร โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และอบต.กำหนดวาระ คนพิจิตรร่วมใจ 5 รั้วป้องกันภัย ร่วมใจขจัดยาเสพติด เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่เริ่มระบาดในชุมชน เป็นการล้อมรั้วป้องกันก่อนจะสายเกินไป 5 รั้วดังกล่าวได้แก่
- สร้างรั้วชายแดน อบต. ให้ตำรวจมีการลาดตระเวน จัดจุดตรวจ จุดสกัดเส้นทาง ปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดในเชิงรุก ด้วยการดำเนินการทางการข่าว การร่วมมือกับหมู่บ้าน อำเภอใกล้เคียง
- สร้างรั้วครอบครัว โดยความรับผิดชอบของอสม. โรงพยาบาล และครอบครัวประสานใจต้านภัยยาเสพติด เน้นการคบหาเพื่อน ๆ ของลูก ให้มีความสำคัญของครอบครัว มีคุณค่าต่อกัน
- สร้างรั้วสังคม โดยเจ้าหน้าที่ของอำเภอ ท้องถิ่น ร่วมดูแล ตรวจตรา หอพัก โต๊ะสนุก โต๊ะพนันบอล การมั่วสุม แก๊งค์รถมอเตอร์ไซด์ หรือการตรวจตราในเวลากลางคืนของกลุ่มเสี่ยง ประกาศให้ตำบลพิจิตรให้เป็นตำบลปลอดยาเสพติด
- สร้างรั้วโรงเรียน โดยเครือข่ายโรงเรียนให้มีกิจกรรมโรงเรียนวิถีพุทธ ค่ายเรียนรู้สู้ภัยยาเสพติด (3ประสาน บ้าน วัด โรงเรียน)
- สร้างรั้วชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ได้เสนอกฎของหมู่บ้านกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จัดตั้งกลุ่มเยาวชนภายในหมู่บ้าน , ตำบล ในการจัดสมัชชายังได้สอดแทรกเรื่องเล่า ตำนานที่มาของชุมชน ผ่านละครที่นำเสนอโดยเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สร้างจิตสำนึกรักท้องถิ่นและร่วมกันเรียนรู้ที่มาหรือรากเหง้าของคน ปลุกพลังของชุมชนลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งไม่ดีงามที่กำลังคุกคาม
6.อบต.สะกอม กำหนดวาระ การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติด ใช้แนวทาง 5 รั้วเช่นเดียวกัน ได้แก่
รั้วครอบครัว ให้มีการจัดทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อค้นหากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด นำเยาวชนที่เสพ เข้ารับการบำบัดรักษา ใช้วิธีการตักเตือนผู้เสพ ถ้าไม่เชื่อฟังต้องจับกุม ให้ความรู้เรื่องโทษของยาเสพติด โทษทางกฎหมายด้านผู้เสพ ผู้ค้าเมื่อถูกจับกุมกับครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้มีอาชีพเสริมในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว เชิญชวนวัยรุ่นให้หันมาทำกิจกรรมทางศาสนามากขึ้น เช่น ศาสนาอิสลามคือออกดะวะห์ อย่างน้อยเดือนละ 3 วัน ศาสนาพุทธคือการฟังเทศน์ นั่งสมาธิ และส่งเสริมการเล่นกีฬา ดนตรีแก่เยาวชน
รั้วชุมชน ให้ผู้นำแสดงบทบาท สร้างความเชื่อถือ ศรัทธาในหมู่เยาวชน มองหามาตรการกดดันทางสังคมกับครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทุกครอบครัวต้องร่วมมือกันสอดส่อง ดูแลบุตรหลาน เยาวชนในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งตรวจค้น จับกุมผู้ค้า ผู้เสพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการแจ้งเบาะแสการเสพ การค้าในหมู่บ้าน ส่งเสริมอาชีพให้กับเยาวชน เพื่อสร้างรายได้
รั้วโรงเรียน จัดอบรมให้ความรู้เรื่องยาเสพติด จัดกิจกรรมเสริมทักษะ ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง จัดตั้งแกนนำต่อต้านยาเสพติด ส่งเสริมการเล่นกีฬา ดนตรีให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง
7. อบต.เชิงแส ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนปลอดภัยสำหรับเด็กของตำบลเชิงแส มีผลสรุปในเชิงนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่สำคัญได้แก่ ให้มีชมรมผู้ปกครอง โดยให้ อสม.และรพ.กระแสสินธฺรับผิดชอบ ให้มีชมรมเด็ก โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลรับผิดชอบ จัดค่ายอิงกันแบ่งปันความสุข โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ร่วมคัดเลือกผู้ปกครอง หาแกนนำ ทำกิจกรรมกับลูก ค้นหาปัญหาแนวทางครอบครัวอบอุ่น
- รร.ทำฐานให้ความรู้
- กศน./วิชาชีพพัฒนาอาชีพ
- โรงพยาบาลให้ความรู้เรื่องสุขภาพ
- ชุมชนเล่าความหลังในอดีต
- กรรมการชุมชนเฝ้าระวัง
- มีกติกาชุมชนร่วมกัน
กิจกรรมครอบครัวอบอุ่น โดยยึดหลักศีลห้ามีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และชุมชนดูแลเด็กครอบครัวแตกแยก โดยวัดเป็นผู้ดูแล
8. อบต.รำแดง ขับเคลื่อนร่วมกับอบต.ให้เกิดยุทธศาสตร์ “รำแดงน่าอยู่” มีการสำรวจปัญหา ทุนทางสังคมในพื้นที่ กำหนดแนวทางบ้านน่าอยู่เศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สุขภาวะดี และครอบครัวอบอุ่น
9. อบต.ควนโส ร่วมสร้าง “สังคมควนโสเป็นสุข” ด้วยผู้สูงอายุ อยากให้ได้รับการดูแลและการเอาใจใส่มากขึ้น มีการทำกิจกรรมร่วมกันของคน 3 วัย เด็กและเยาวชน การจัดค่ายเยาวชนเครือข่ายเรื่องความปลอดภัย ให้มีการจัดเวรยามคอยตรวจตราในหมู่บ้านโดยใช้กำลังของ อปพร. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและตำรวจเข้ามาร่วมกัน และส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ประเพณีชักพระเดือน ๕
10. อบต.ชะแล้ ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจาก สช.จึงไม่ได้นำผลดำเนินงานมารายงานในเอกสารชุดนี้
หมายเหตุ
- ความร่วมมือระหว่างสช.ผ่านโครงการสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา งบประมาณตำบลละ 4 หมื่นบาท
- มูลนิธิชุมชนสงขลา สนับสนุนการให้ความรู้ การพัฒนาศักยภาพ และและสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.) สนับสนุนงบประมาณ กิจกรรม(เบื้องต้น)ภายใต้ข้อเสนอเชิงนโยบาย ตำบลละ 100,000 บ.
- อปท.ในพื้นที่เป้าหมาย สนับสนุนให้เกิดกลไกคณะทำงาน และร่วมขับเคลื่อนนโยบาย
- อปท.เข้าแผนประจำปีสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง
- ภาคีเป้าหมายตามข้อเสนอเชิงนโยบายในแต่ละพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฎิบัติ
Relate topics
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567
- “พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”