จดหมายน้อย (แต่ยาวนิดหน่อย) ถึงครูใหญ่พี่หมอโกมาตร

by punyha @10 ต.ค. 62 22:17 ( IP : 124...244 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , มองมุมหมอ
photo  , 898x601 pixel , 48,802 bytes.

เวลาเรารู้สึกดีๆกับใคร เราก็เขียนจดหมายบอกเขาได้ ในโอกาสที่พี่หมอโกมาตรเข้าใกล้วันเกษียณครับ

จดหมายน้อย (แต่ยาวนิดหน่อย) ถึงครูใหญ่พี่หมอโกมาตร

นานมากแล้วที่ผมไม่ได้มีเวลาให้ตนเอง ทบทวนความทรงจำดีๆกับครูใหญ่ “นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์”

ช่วงที่ผมเรียนแพทย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราวปี 2531 ผมได้ยินตำนาน “รำผีฟ้ารักษาโรคบนตึกคนไข้ในที่โรงพยาบาลชุมพวง” รุ่นพี่ๆเล่าให้ฟังตั้งแต่ตอนนั้นว่า มีรุ่นพี่จุฬาคนหนึ่ง อาการหนักในทางฐานะแพทย์แผนตะวันตก อนุญาตให้คนไข้และญาติจัดหาผีฟ้ามารำที่ตึกผู้ป่วยใน ในขณะที่ผู้ป่วยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งปกติหมอๆเขาไม่ทำกัน หากคนไข้อยากมีการรำผีฟ้าก็จะให้กลับบ้าน แล้วหากรอดไม่รอดก็ค่อยกลับมา admit ใหม่ แต่สำหรับผมแล้ว เรื่องรำผีฟ้านี้ นับเป็นเรื่องเล่าที่น่าทึ่งมาก ที่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนคนหนึ่งที่เข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่มีหลายเหลี่ยมหลายมุมในแต่ละคน และกล้าฉีกขนบประเพณีของการแพทย์แผนตะวันตกอย่างโจ่งแจ้ง เพราะการแพทย์ตะวันตกมักปิดกั้นและไม่ให้คุณค่ากับความลี้ลับมหัศจรรย์แห่งสัญญะในอีกวิถีวัฒนธรรม ผมรู้มาก่อนแล้วว่า แพทย์คนนั้นคือ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ แต่ไม่คิดว่าจะได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูใหญ่โกมาตร แห่ง คศน.ในปี 2552

ผมเป็นคนที่ชอบเรียนรู้หลายๆศาสตร์ ในสมัยเรียนแพทย์ที่จุฬา ก็มักจะหาโอกาสไปฟังเสวนาของคณะอื่นๆทั้งที่ว่าด้วยการเมือง ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจบไปแล้ว การได้ฟังความรู้ ได้แลกเปลี่ยนเปิดโลกทัศน์ยังเป็นสิ่งที่สนุกและประดุจน้ำหล่อเลี้ยงปัญญาของผม ผมพบว่าในบรรดานักคิดนักเขียนของสังคมไทย คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นหนึ่งในปัญญาชนคนสำคัญของสังคมไทย

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดประการสำคัญของคุณหมอโกมาตรก็คือ ความเป็นพหูสูต เป็นผู้มีความรู้มาก รู้หลายศาสตร์ และมีความสามารถในการบูรณาการความรู้จากหลายๆศาสตร์ ให้เข้ามาผสมผสานกัน อีกทั้งมีความสามารถในการถ่ายทอดทั้งการเล่าและการเขียน ให้เกิดอรรถรสและสุนทรียะในการเรียนรู้ได้อย่างน่าทึ่ง ทุกครั้งที่ผมได้ฟังเรื่องราวจากคุณหมอโกมาตร ผมก็จะล่องลอยไปตามจินตนาการแห่งเรื่องราวที่พี่หมอโกมาตรเล่า จินตภาพแห่งความดีความงามความจริงที่สอดแทรกในเนื้อหานั้นแจ่มชัดและได้ข้อคิดที่มีพลังเสมอ

“ข้อคิดที่มีพลังนั้นสำคัญมาก” ในเวทีเสวนานั้น เรามักจะได้ข้อมูลจากการเสวนา หลายครั้งเราจะได้รับรู้รายละเอียดของตัวเลขหรือข้อมูลต่างๆลงไปถึงระดับอะตอม แต่ข้อมูลและตัวเลขเหล่านั้นไม่มีพลัง ไม่กระแทกจิตใจ ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงภายใน ประโยคที่ว่า information is power จึงจริงไม่หมด แต่เวลาฟังคุณหมอโกมาตร สิ่งที่ชัดเจนควรเอาเป็นแบบอย่างคือ การนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง การย่อยความคิด และการยกตัวอย่าง ด้วยเรื่องราวที่มีพลัง พลังในการสื่อสารที่สามารถรับรู้ได้ เสมือนได้ชาร์จแบต และแต่ละคนสามารถนำพลังและข้อคิดที่ได้กลับไปสร้างสรรค์ปฏิมากรรมทางสังคมในบริบทของตนเองหลังจากเวทีสิ้นสุดได้ นี่คือจุดเด่นและพลังของหมอคนหนึ่ง “โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์”

ข้อคิดหนึ่งที่ผมชอบมากๆคือ ครั้งหนึ่ง พี่หมอโกมาตรเล่าว่า “มีชายสามคนนั่งทำงานก่ออิฐอยู่ใกล้ๆกัน เมื่อเข้าไปถามว่า “ลุงทำอะไรอยู่” ชายคนแรกก็ตอบว่า “กำลังก่ออิฐ ก่อมาหลายวันแล้วไม่เสร็จเสียที ทั้งร้อนและเหนื่อย” พอถามชายคนที่สอง เขาตอบว่า “กำลังสร้างกำแพงวัด อิฐที่เขาก่อนี้คือกำแพงวัด เขาต้องสร้างให้สวยให้เรียบเพราะนี่คือวัดประจำหมู่บ้านของเขา ส่วนชายคนที่สามตอบว่า “เขากำลังสืบต่ออายุพุทธศาสนา เขาจะก่ออิฐฉาบปูนอย่างเต็มกำลังให้สวยที่สุด วัดประจำหมู่บ้านแห่งนี้จะได้ยืนยงสืบต่อพุทธศาสนาไปอีกเป็นร้อยๆปี ถึงจะร้อนจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข”

เรื่อง “ชายก่ออิฐ” ของคุณหมอโกมาตรสะท้อนชัดว่า “งานก่ออิฐเดียวกัน แต่มุมมองหรือญาณทัศนะต่อสิ่งที่เป็นอยู่ของชายทั้งสามคนนั้นต่างกัน หากเราเห็นงานของเราในฐานะส่วนหนึ่งของขบวนการที่ใหญ่กว่าแล้ว เราจะเห็นคุณค่าในงานที่เราทำ และเราจะทุ่มเทเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นอย่างเต็มกำลังและมีความสุข”

เนื่องจากผมมีทัศนะการพัฒนาที่แตกต่างจากการพัฒนากระแสหลัก การยืนข้างชาวบ้านที่ถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นก็ย่อมมีความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าไม่ต่างจากการก่ออิฐ แต่เมื่อเราเห็นแล้วว่า การยืนหยัดร่วมก่ออิฐหรือร่วมต่อสู้ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อปกป้องฐานทรัพยากรนั้น ไม่ว่าการรณรงค์ การยื่นหนังสือ การทำข้อมูลชุมชน การจัดเวทีวิชาการ การสื่อสารสร้างกระแส การประท้วงหน้าศาลากลางหรือหน้าทำเนียบ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งของกระแสสีเขียว กระแสกู้โลกร้อน และกระแสการเคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนของโลก การก่ออิฐของผมและเพื่อนๆร่วมอุดมการณ์ที่มีไม่มากนักจึงมีความหมายขึ้นมาในทันที บทเรียนจากเรื่องเล่าง่ายๆและข้อคิดเรื่อง “ชายก่ออิฐ” จากคุณหมอโกมาตร จึงมีพลังชี้นำให้กำลังใจผมในการทำงานทางสังคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อีกประเด็นที่ผมรู้สึกก็คือ ปัจจุบัน เราส่วนใหญ่ที่เรียนสูงๆได้ก้าวสู่โลกแห่งการเป็นผู้เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญในศาสตร์หนึ่งๆของเราเอง ถ้าเป็นแพทย์ก็เก่งขนาดทุกอย่างเกี่ยวกับหูข้างซ้ายจะชำนาญมาก แต่อย่ามาให้ผ่าตัดหูข้างขวานะ เหรียญมีสองด้านเสมอ การลงลึกเป็นสู่โลกแห่งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางย่อมจะสุดยอดในการแขนงนั้นๆ แต่การบูรณาการและการผสานข้ามศาสตร์นั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยากด้วย ท่ามกลางความซับซ้อนของโลกในปัจจุบัน การบูรณาการและผสานข้ามศาสตร์นั้นคือ ทิศทางและความหวังแห่งอนาคตของเรา

คุณหมอโกมาตรเป็นแพทย์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่มีความรู้มากและข้ามศาสตร์อย่างกว้างขวางด้วย ผมจำได้ไม่มีวันลืม เมื่อคุณหมอโกมาตรบรรยายสามวันใน core module 1 ของหลักสูตร คศน.1 ว่าด้วยจักรวาลวิทยาหรือความรู้ปรัชญาของความคิดมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในยุคจักรวาลวิทยาแห่งเทพปกรณัม ยุคกรีกโบราณ ยุคมืด ยุค enlightenment จนถึงยุคเสรีนิยมใหม่(neo-liberalism)ในปัจจุบัน เห็นเป็นสายธารแห่งวิวัฒนาการทางปัญญาของมนุษยชาติ และสะท้อนถึงความยึดติดกรอบของคนแต่ละยุคสมัยสืบเนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่มีส่วนกำหนดญาณทัศนะในยุคนั้นๆ นับเป็นหัวข้อที่ผมชอบมาก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องที่ผมสนใจ เคยอ่านเองแล้วแต่ไม่สามารถปะติดปะต่อได้ แต่ที่มากกว่า “ชอบ” คือ “ผมทึ่งมาก” ทึ่งที่คนเป็นหมอคนหนึ่งสามารถร้อยเรียงประวัติศาสตร์ทางความคิดและหลักปรัชญาของมนุษยชาติได้อย่างลุ่มลึก และถ่ายทอดออกมาได้บนความเข้าใจที่ไม่ยากสำหรับคนทั่วไป

ในกระบวนการ คศน.นั้น ครูใหญ่โกมาตรมักจะกระตุ้นย้ำเสมอว่า “ให้เราคิดดูว่า เมื่อเราตายแล้วเราจะฝากอะไรไว้ในประวัติศาสตร์” คุณหมอโกมาตรบอกชัดว่า “ในท่ามกลางประวัติศาสตร์โลกหรือประวัติศาสตร์ชาติหรือชุมชนที่ยาวนานและซับซ้อนนั้น ประวัติศาสตร์จะจดจำเราเพียงราว 1 บรรทัด เช่น เมื่อพูดถึงลุงโฮ เราจะนึกถึงการปลดปล่อยเวียดนามจากการเป็นอาณานิคม เมื่อนึกถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราจะนึกถึงการปฏิวัติสยาม 2475 หรือเมื่อพูดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ เราจะนึกถึงอุดมการณ์สังคมนิยมและเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา เป็นต้น คุณหมอโกมาตรจึงมักถามเราทุกคนในฐานะลูกศิษย์เสมอว่า “เรามีอะไรที่เป็นโปรเจคของชีวิต ที่เราจะเอาจริงเอาจังกับความคิดฝันนั้นๆ และผลักดันให้เป็นจริง เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตที่จะขับเคลื่อนผลักดัน และนี่คือสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะจดจำเรา” คำถามนี้ช่างใหญ่และยากจริงๆ

ผมก็มาครุ่นคิดว่า อะไรคือ “โปรเจคแห่งชีวิตของผม” เดิมผมเคยเสนอว่า โปรเจคเรื่อง “อำนาจ” คือโปรเจคแห่งชีวิต (เราทำกันสามคน) หวังจะขยับขับเคลื่อนสังคมเพื่อเอาอำนาจถ่ายเทจากมือของรัฐและทุนมาสู่มือของประชาชน คิดเสร็จเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ก้แยกย้ายกลับไปทำงานประจำของแต่ละคน ซึ่งจริงๆตอนนี้ผมก็คิดว่าผมกำลังทำโปรเจคของชีวิตนี้อยู่แบบที่กลืนไปกับบทบาทของตัวผมเอง เพียงแต่ความก้าวหน้านั้นอยู่ในระดับถอยหลัง เพราะได้แต่เพียงตั้งรับแบบค่ายบางระจัน ยันเอาไว้ไม่ให้อำนาจรัฐและอำนาจทุนมารุกรานฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

สิบปีผ่านไป โปรเจคเรื่อง “อำนาจ” ทำได้แค่ยันเอาไว้จริงๆ แถมทำท่าจะยันไม่อยู่ด้วย ถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถขับเคลื่อนเชิงรุกได้อย่างเป็นระบบที่จะลดอำนาจรัฐและทุน เพิ่มอำนาจภาคประชาชนได้ แต่มีสิ่งที่ผมอยากบอกครูใหญ่โกมาตรครับ ว่า “โปรเจคของชีวิตของผมนั้นยังไปไม่ถึงไหน แต่ผมอ่านหนังสือ “Sophie’s world – โลกของโซฟี” และ “A brief history of time-ประวัติย่อของเวลา” จบแล้วครับ ครูใหญ่”

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 21 กันยายน 2562

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน