สงขลา "๑ จังหวัด ๒ ระบบ"
"๑ จังหวัด ๒ ระบบ"
เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
ด้วยโครงสร้างประเทศที่รวมศูนย์แห่งอำนาจ รัฐบาลกลางคือจุดศูนย์กลางของการปกครอง ส่งต่อฟันเฟืองการบังคับบัญชากระจายลงมายังพื้นที่
ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ แม้จะมีส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนการใช้ปัญหาและศักยภาพของพื้นที่เป็นฐานมา "ถักทอ" กับโครงสร้างอำนาจแห่งส่วนกลาง แต่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการใช้พลังแห่งอำนาจสั่งการณ์ เห็นกลไกเสมือนจักรกลแห่งระบบตามลักษณะแนวคิดแบบสังคมอุตสาหกรรม และนโยบายส่วนบุคคลของผู้มีอำนาจในระดับท้องถิ่น ทำให้เกิดช่องว่างการพัฒนา
ด้วยเหตุสังคมใหม่ ซับซ้อน ผันแปร และมีพลวัตรไปอีกแบบ ก่อผลสะเทือนสร้างความปั่นป่วนไปทุกระบบ สังคมไทยก็หนีไม่พ้น ขณะที่ยังติดกับดักความขัดแย้งการพัฒนา มีความหลากหลายของผู้คน ความคิด พื้นฐานการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกัน โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ทำให้การพัฒนาที่ตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจและโครงสร้างรวมศูนย์ ไม่ยืดหยุ่นทำให้เกิดความตึงเครียด มีเกมชักกะเย่ออำนาจระหว่างความคิด "เสรีนิยม" และ "อนุรักษ์" อีกด้วย
พ้นไปจากเกมแห่งอำนาจของส่วนกลาง เรามีทางออกอื่นๆอีกหรือไม่
เราเริ่มเห็นการต่อรอง เห็นการเปิดประเด็นสาธารณะโดยอาศัยพลังจาก Social media เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงพลังเหล่านี้มาจากกระแสสังคมที่พยายามรวมตัวกัน สร้างความเป็นชุมชนแบบใหม่ เปิดพื่นที่เคลื่อนไหวทางความคิดเพื่อให้หลุดลอดพ้นจากมือแห่งผู้มีอำนาจที่จะควบคุม อีกด้านหนึ่ง แต่ละจังหวัดเองก็เริ่มมีการพัฒนาอีกรูปแบบที่อาศัยพลังพลเมืองถักทอและกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง เป็นพลังแห่งเครือข่ายแนวราบ(Soft power) ที่จะมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางแห่งอนาคตบนฐานการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างความต่อเนื่องของการแก้ปัญหาและนำศักยภาพที่มีอย่างหลากหลายมาลดช่องว่างการพัฒนา
อย่างไรก็ดี โจทย์ของแนวคิดเช่นนี้ยังอยู่กับการสร้างสมดุลกับกลไกปกติและการมีส่วนร่วมของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากจะต้อง "ถอดรื้อ" ความคิดและวัฒนธรรมการทำงานที่ถูก "แช่แข็ง" กับที่ ยังต้องระวังไม่ให้เกิดความสูญเสียจากความขัดแย้งแตกหักในช่วง "เปลี่ยนผ่าน" รวมไปถึงเปิดพื้นที่ให้กับปัจเจกชนหรือเสรีชนได้มีพื้นที่แสดงออก และสามารถต่อรองการพัฒนาที่มาจากส่วนกลางหรือทุนข้ามชาติ บวกกับแนวคิดการพัฒนาที่มีพลวัตรทั้งแบบ "ก้าวหน้า" หรือเป็นแบบรับมรดกตกทอดมาจากความคิดความเชื่อใดเป็นพิเศษ การปะทะสังสรรค์กันของแนวคิดดังกล่าว ไหลเวียน เกิดขึ้นอยู่ในแทบทุกพื้นที่
สงขลามี ๑๕ ภาคีบริหารจัดการพยายามที่จะกำหนดแนวทางการพัฒนาของตนเองผ่านการจัดทำวิสัยทัศน์สงขลา ๒๕๗๐ มีการตีความ และพยายามขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ดังกล่าวไปในหลายรูปแบบ ทั้งมาจากในกลุ่ม "ผู้หลักผู้ใหญ่" ของเมือง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มภาคเอกชน และประชาสังคม ต่างก็ช่วงชิง ต่อรอง มีปฎิสัมพันธ์กันอย่างหลากหลายแนวคิด กระบวนการ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่กำลังสร้างทิศทางการพัฒนาแบบใหม่ ต่างปรับตัว พัฒนาตัวเองไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในขบวนก็มีคนใหม่ และเก่าที่หมุนเวียนเข้ามาทำงานด้วย รวมไปถึงยังมีอีกหลายกลุ่ม หลายเครือข่ายที่ยังไม่ได้มีส่วนร่วม
ช่องว่างดังกล่าว หากสามารถยกระดับก้าวจากทิศทางการร้องขอ หรือเฝ้ารอพึ่งพิง มาสู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา มีส่วนร่วมในระดับร่วมคิด ร่วมทุน ร่วมทำ การที่มีแผนหรือยุทธศาสตร์ร่วมกันของกลุ่มเครือข่ายที่มีแนวคิดสอดคล้องกันจึงเป็นทิศทางที่น่าสนใจ พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความรู้ การพัฒนา "ข้อต่อ" กลาง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางความคิด ข้อมูลกลาง กลไกกลาง เวทีกลาง กองทุนกลาง พื้นที่การทำงานร่วมกันเช่นนี้ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตามลำดับ
เป็นอีกพลวัตรหนึ่งของสังคม
เหล่านี้คือผลพวงจากวงมื้อเที่ยงต้อนรับผู้ว่าสงขลาท่านใหม่ ของ ๑๕ ภาคีบริหารจัดการ
หมายเหตุ ๑๕ ภาคีบริหารจัดการ ประกอบด้วย ๕ องค์กรวิชาการ ๒ องค์กรภาครัฐ ๓ องค์กรภาคเอกชน และ ๕ องค์กรภาคประชาชน ได้แก่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
จังหวัดสงขลา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
หอการค้าจังหวัดสงขลา
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา
สมาคมสมาพันธุ์ธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา
สมาคมมูลนิธิพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
มูลนิธิสวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
มูลนิธิมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มูลนิธิชุมชนสงขลา และมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ
ต่อมาได้เพิ่มสภาองค์กรชุมชน สภาเกษตรกรจังหวัด และธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นที่ปรึกษา
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567