"๑๐ ปีมูลนิธิชุมชนสงขลา : วันพลเมืองสงขลา ปี ๒๕๖๒"
"๑๐ ปีมูลนิธิชุมชนสงขลา : วันพลเมืองสงขลา ปี ๖๒"
เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
"เราทำงานร่วมกับรัฐแต่ไม่พึ่งรัฐ" หลักคิดสำคัญที่นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เน้นย้ำ ผ่าน Songkhla talk แม้หมวกที่สวมอยู่จะสังกัดภาครัฐก็ตามด้วยเข้าใจข้อจำกัดที่มี เมื่อเท่าทันจึงทำให้มองข้ามและลงมือแปรความคิดไปสู่การกระทำด้วยพลังของพลเมือง ด้วยทัศนะเช่นนี้ทำให้หมอระดมทุนติดตั้งโซลาเซลบนหลังคารพ.จะนะสำเร็จได้ในเวลาเพียง ๕ วัน
การทำงานภาคพลเมืองในพื้นที่ก็เช่นกัน เมื่อไม่ได้คิดพึ่งพิงรัฐ ทำให้พลเมืองหันหน้าเข้าหากัน จับมือร่วมกันแก้ปัญหา กำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง ลงมือทำโดยไม่รีรอ นี่คือแนวคิดหลักในการจัดงานวันพลเมือง...พลเมืองที่ไม่ได้หมายความแต่ประชาชน แต่คือคนสงขลา คนที่เข้ามาอาศัยหรือทำงานในสงขลา ต่างก็ได้ใช้ชื่อว่าพลเมืองของแผ่นดิน
อาศัยธงนำวิสัยทัศน์สงขลา ๒๕๗๐ สงขลาเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สงคมเป็นสุข แบ่งกลุ่มผู้คนและองค์กรภาคส่วนต่างๆที่มาร่วมราว ๒๕๐ คนเป็น ๓ กลุ่ม รายงานกิจกรรมที่ดำเนินการของตนในตลอดปีที่ผ่านมาและร่วมกำหนดแนวทางดำเนินการที่จะทำด้วยตัวเองหรือชวนเพื่อนมาร่วมทาง กระบวนการแนวราบเช่นนี้ไม่ได้เรียกร้อง กดดัน สัมพันธ์กันอย่างอิสระ เสมอภาค มีทั้งคิดร่วมแยกทำ คิดร่วมทำร่วม รับผลร่วม บนฐานเครื่องมือและกระบวนการที่หลากหลาย
งานปีนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการบูรณาการสร้างสุขภาพอนามัยอบจ.สงขลา โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม(๔PW สงขลา) โครงการพัฒนาศักยภาพกลไกสนับสนุนภาคีพลเมืองฯ
ผลสำเร็จสำคัญในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราเปิดตลาดอาหารสุขภาพได้มากขึ้น มีการจัดทำมาตรฐานการผลิตเกษตรสุขภาพ การท่องเที่ยวชุมชน การนำพืชอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ตาลโตนด ทุเรียนบ้าน ส้มจุก มะม่วงเบา มาต่อยอดสร้างรายได้,
ในด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เราร่วมกันทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิลได้ในสิบกว่าตำบล นำเงินไปช่วยคนยากลำบาก มีการจัดการขยะจากครัวเรือนทั้งรูปแบบคนเมือง การทำถังหมัก การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในแต่ละลุ่มน้ำเชื่อมโยงความรู้ด้านอุตุฯในชีวิตประจำวัน มีการปลูกป่าต้นน้ำคลองอู่ตะเภา
และด้านสังคมเป็นสุข มีความร่วมมือทั้งจากอบจ. พมจ. สสจ.ในการพัฒนาระบบการดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ คนยากลำบากมีระบบข้อมูลกลางผ่านแอพฯiMed@home มีการพัฒนาระบบเยี่ยมบ้านในการให้ความช่วยเหลือดูแล มีการจัดทำธรรมนูญตำบลในการวางข้อตกลงหรือกติกาในการสร้่างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เป็นต้น
ปีต่อไปจุดเน้นก็คือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และสังคมเป็นสุขเข้าหากัน มีรูปธรรมงานระดับเมืองให้เห็น มีต้นแบบพื้นที่ บุคคลมากขึ้น มีระบบข้อมูลกลางที่จะมีทั้ง ๓ ด้านใช้ในการประสานการขับเคลื่อน มีกลไกเชื่อมประสาน "ตัวจริง" ที่เป็นระดับผู้ปฎิบัติแต่ละหน่วยงานมาทำงานร่วมกันเป็นแบบเครือข่าย มีเวทีกลางได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการระดมทุนจัดตั้งกองทุนกลางในพื้นที่(พร้อมต่อยอดเป็นธุรกิจเพื่อสังคม) นำขยะมาใช้เป็นพลังงานและให้เกิดประโยชน์หลากรูปแบบ พร้อมกับตั้งเป้าลดจำนวนคนยากลำบากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพื้นฐานกับปัจจัย ๔ ให้ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งหมดนี้จะยืนอยู่บนฐานความร่วมมือที่ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ ท้องถิ่น ส่วนภูมิภาคจะไขว้โยงข้ามพื้นที่ ข้ามองค์ฺกร มาทำงานร่วมกัน
๑๐ ปีมูลนิธิชุมชนสงขลา ถือโอกาสแนะนำกรรมการและปวารณาตัวเองในการเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมร้อยพลังคนสงขลามาทำงานร่วมกันต่อไป
พิเศษสุดปีนี้ จัดงานที่ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ อบจ.สงขลา สมาคมอาสาสร้างสุขจัดทำกระเป๋าประชุมจากเสื้อผ้าบริจาค ใส่เอกสารประกอบการประชุม มีการจัดเลี้ยงมื้อเที่ยงแบบบุฟเฟต์ และหิ่วปิ่นโตมาร่วมแลกเปลี่ยนรสชาติอาหารแต่ละพื้นที่ พร้อมมอบประกาศเกียรติบัตรให้กับ ๒๒ ตำบลที่จัดทำธรรมนูญตำบลน่าอยู่ และมอบผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ได้รับบริจาคมาจากภาคเอกชน บริษัทคาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย)จำกัดมอบผ่านโครงการอิ่มอุ่นอวอร์ด จำนวน ๖๐๐๐ ชิ้นมูลค่ากว่า ๖ หมื่นบาท
ขอบคุณเครือข่ายทุกท่าน ขอบคุณกรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลา ประธานหอการค้าจังหวัด ขอบคุณรองผู้ว่าอำพล พงศ์สุวรรณ ท่านปลัดอบจ.สงขลา ที่ให้เกียรติมาร่วมงาน
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567