ธรรมนูญตำบลท่าช้าง
"ธรรมนูญตำบลท่าช้าง"
ดำเนินการร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลท่าช้างกับมูลนิธิชุมชนสงขลา/ศปจ. จุดเน้นของพื้นที่นี้ต้องการสร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ตำบลท่าช้างมีชื่อในด้านการดูแลผู้สูงอายุ ที่นี่มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพดูแลผู้สูงอายุที่สามารถช่วยตัวเองได้และมีศูนย์ฟื้นฟูฯเพื่อดูแลผู้สูงอายุในวัยพักพิง มีโรงเรียนผู้สูงอายุ กิจกรรมผู้สูงอายุได้รับการยอมรับเป็นจุดเด่น
ตำบลท่าช้างมีที่มาจากสายคลองที่มีช้างจำนวนมากมาลงอาบน้ำขึ้นท่าที่นี่ ซึ่งปัจจุบันคือหมู่ ๒ บ้านท่าช้าง และมีวัดท่าช้าง มี ๑๘ หมู่บ้าน ๒๒ ชุมชน ประชากรกว่า ๘ พันครัวเรือน สภาพภูมิประเทศกว้างขวาง มีเนื้อที่๑ใน ๓ ของอำเภอ แต่การตั้งถิ่นฐานของครัวเรือนกระจัดกระจายกัน ไม่ง่ายต่อการรวมกลุ่มทำกิจกรรม ความหลากหลายมีทั้งพุทธ มุสลิม สภาพชุมชนมีทั้งชนบท ชานเมือง และเขตเมือง
สภาพปัญหาพื้นฐานของผู้สูงอายุ ปัญหาที่มากที่สุดคือ ด้านสุขภาพจากโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ซึมเศร้า ปวดข้อ สาเหตุมาจากไม่มีเวลาออกกำลังกายและการบริโภคอาหารปนเปื้อน ติดหวาน มันเค็ม
ด้านสังคม ไม่มีคนดูแล เจ็บป่วยอยู่บ้านคนเดียว มีภาระเลี้ยงหลาน ขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม
ด้านเศรษฐกิจ มีภาระหนี้สิน รายได้ไม่เพียงพอ
วันนี้ทีมงานเทศบาลโดยการนำของนายก รองนายก รองปลัด ผอ.กองสาธ่ารณสุขและสิ่งแวดล้อม นำทีมนัดหมายแกนนำผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชนทั้ง ๑๘ หมู่บ้าน ๒๒ ชุมชน มาประชุมทำความเข้าใจและร่วมยกร่างธรรมนูญ พร้อมจัดตั้งคณะทำงาน
(ร่าง)ธรรมนูญตำบลท่าช้าง จุดเน้นก็คือข้อตกลงที่ชุมชนจะดำเนินการด้วยตัวเองในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ๑.ออกกำลังกายสัปดาห์ละ ๓ วัน หรือออกกำลังกายพร้อมกัน ๕ วันในช่วงเย็น ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ได้แก่ ร้องเพลงแล้วร่วมกายบริหาร รำไม้พลอง หรือขี่จักรยานไปทำงาน หรือเปิดสปาผู้สูงอายุ
๒.มีกิจกรรมร่วมเยี่ยมผู้ป่วยให้กำลังใจเดือนละ ๑ ครั้ง พร้อมนักจิตวิทยา ดูแลความสอาดทางกายให้กับผู้สูงอายุ มีการมอบของขวัญทุกปี
๓.มีกิจกรรมทางศาสนา ชาวพุทธให้สวดมนต์ทุกวันพระ ชาวมุสลิมอ่านอัลกุรอ่าน
๔.ส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคในครัวเรือน
๕.มีโรงเรียนผู้สูงอายุ พบปะกันเดือนละครั้ง ปรับพฤติกรรมการกิน ลดหวาน มัน เค็ม ทำกิจกรรมเสริมรายได้
๖.เปลี่ยนหรีดดอกไม้สดเป็นหรีดพัดลม
๗.ร่วมเก็บขยะเดือนละครั้ง
และมีข้อเสนอแนะว่าข้อตกลงที่ได้รับการประกาศใช้เป็นธรรมนูญตำบลให้มีการสื่อสารแนวปฎิบัติให้เกิดความรับรู้และเข้าใจถึงระดับครัวเรือน
มูลนิธิชุมชนสงขลาได้ส่งมอบงบประมาณให้กับคณะทำงาน จากนี้คณะทำงานจะนำร่างเอกสารไปรับฟังความเห็นจากครัวเรือนและนำข้อตกลงที่เห็นชอบร่วมกันจัดเวทีสาธารณะประกาศใช้ต่อไป
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567