"ชุมชนพาณิชย์สำโรง"
"ชุมชนพาณิชย์สำโรง"
ลืมไปว่านัดชุมชนพาณิชย์สำโรงไว้ตรงกับวันที่ ๑๖ ทำไมน่ะหรือครับ ก็ตรงกับวันหวยออกไง!
ผลก็คือ มีคนมาร่วมไม่มาก แกนนำชุมชนเล่า วันนี้เครือข่ายต่างๆมาร่วมกันเช่นเคย ได้แก่ ชุมชนแหลมสนอ่อน หลังอาชีวะ วัดห้วป้อม มีฉิ้ม (จันทนา เจริญวิริยะภาพ) ที่กำลังทำงานวิจัยกับแรงงานนอกระบบของอำเภอเมืองและเป็น Node คนพิการของสสส.มาร่วมด้วย
เรานัดกันเที่ยงตรง กินเที่ยงด้วยกัน รอกันจนบ่ายก็มีคนในชุมชนมาไม่มาก ผมยกถุงเสื้อผ้ามือสองติดรถไปด้วย ไปถึงก็ทราบว่ามีเด็กๆมาแล้วรอบหนึ่ง ยกเสื้อชุดที่ลุงนิพนธ์คัดไว้แล้วกลับไปก่อนแล้ว จึงไม่มั่นใจนักว่าต่อให้นัดวันปกติจะมีคนมามากดังที่ตั้งใจไว้ ถามไปถามมาก็พบคำตอบว่า ชุมชนทุกวันนี้จะให้มาประชุมต่างเคยชินกับการมีของล่อของแจก หมายความว่ามาแล้วต้องมีอะไรติดมือกลับบ้าน จะให้มาร่วมคิด ร่วมเสนอข้อมูลโดยไม่ได้อะไรที่จับต้องได้นั้นยากมาก อสม.ที่เป็นแกนนำและเป็นกรรมการชุมชนเล่าว่า แม้เป็นเรื่องที่ตนเองได้ประโยชน์ เช่น มาคัดกรอง ฉีดยา ก็ไม่มา ต้องให้ไปบริการถึงบ้าน ทำกิจกรรมอะไร ก็หวังเพียงของแจกแล้วก็ไม่ทำ
ชุมชนพาณิชย์สำโรงเป็นหนึ่งในเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตำบลบ่อยางที่ตั้งใจจะพัฒนาร่วมกัน ที่นี่ชุมชนแยกเป็น ๒ ส่วนคือ สมาชิกในส่วนที่จะต้องจัดการกับปัญหาการเช่าที่กับการรถไฟที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนาน มีปัญหาซ้ำเติมตรงที่สมาชิกบางส่วนชวนกันไม่จ่ายค่าเช่า เกิดการเลียนแบบตามๆกัน ความไม่พร้อมหรือไม่ยอมให้ความร่วมมือทำให้เกิดอาการต่างคนต่างอยู่ บวกกับชุมชนเดิม มิหนำซ้ำบ้านเช่าก็มีไม่น้อย ที่เหลือเชื่อคือ บ้านเช่าเหล่านี้เป็นของข้าราชการ(บางคน)ที่มาจับจองที่สร้างแล้วหารายได้
มีปัญหาพื้นฐานหลายอย่างที่ไม่มีใครศึกษาอย่างลึกซึ้ง สิ่งที่เราพบล้วนเป็นปลายยอดแห่งปรากฏการณ์ที่สะสมตัวมายาวนาน จนถึงวันหนึ่งก็ถูกปล่อยเลยตามเลย ด้วยเหตุแห่งปัญหามีความหลากหลาย ทับซ้อนกันไปมา มีความเหลือมล้ำของการจัดการ รวมไปถึงสภาพพื้นฐานของชีวิตที่ขัดสน เมื่อมาอยู่รวมกัน ที่พึ่งทางใจหรือทางออกแบบใช้การพนันดับทุกข์จึงเกิดขึ้นจนเป็นวิถีปกติ
ตกลงกันว่าจะสำรวจข้อมูลคนยากลำบากและเปราะบางทางสังคม มีคำถามว่าหากคนเหล่านี้มีพฤติกรรมแย่ๆที่เกิดจากตัวเองล่ะเราจะคำนึงถึงไหม ไพ่..หวย เหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานของคนจนเมืองที่ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างอยู่ หลายอย่างทำซ้ำกันจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชิน การพัฒนาในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะลงมาช่วยโดยชุมชนไม่วางรากฐานหรือสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความเป็นเจ้าของร่วมอย่างต่อเนื่อง ก็จะเกิดปัญหาลิงแก้แห พัลวันวุ่นวายไม่จบ กลายเป็นภาระของแกนนำที่ต้องอดทน เสียสละ เข้าใจคนอื่นอย่างลึกซึ้ง
การมองว่าคนรอบข้างหาใช่คนอื่นจะทำให้เกิดสำนึกใหม่ กระบวนการหรือกิจกรรมพื้นฐานจึงจำเป็นที่จะต้องค้นหา สร้างสรรค์ เก่งจากชุมชนหลังอาชีวะเล่าว่าหลังจัดประชุมไปแล้วก็กลับมาคิด การชวนการทำเรื่องลดรายจ่าย เช่น ทำสะบู น้ำยาเอนกประสงค์ หลายคนอาจจะมองว่าเสียเวลา ซื้อตามร้านเอาสะดวกกว่า จึงเลี่ยงมาชวนเยาวชนมาช่วยกันทำ หวังให้เยาวชนไปสื่อสารกับพ่อแม่
ทำความเข้าใจกับแกนนำเท่าที่มา ให้เข้าใจแนวคิดการทำงานแบบเครือข่าย เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ และอบรมการใช้สมาร์ทโฟนเก็บข้อมูลคนยากลำบากฯผ่านแอพฯ iMed@home ให้กับทีมเก็บข้อมูลที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ หวังว่าพวกเขาจะได้เรียนรู้ชุมชน รวมถึงชุมชนจะได้เรียนรู้ตัวเอง ค้นพบแกนนำที่ให้ความสนใจ พร้อมจะมาร่วมเคียงคู่พัฒนาชุมชนไปด้วยกัน
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567