ชุมชนหลังอาชีวะ
"ชุมชนหลังอาชีวะ"
ชาคริต โภชะเรือง บันทึกเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒
จากคนไม่กี่คนมาบุกรุกที่ดินของการรถไฟกระทั่งขยายตัวไปเรื่อยๆ ทั้งที่เผชิญกับการถูกรื้อถอนที่พักที่สร้างชั่วคราวถูกจับปรับ แต่สุดท้ายชุมชนหลังอาชีวะก็ขยายเติบโตจนกลายเป็นชุมชนแออัด
"เด็กๆรุ่นหลังนี้มากันแบบสบาย ไม่เหมือนรุ่นแรกที่เพิ่งมาอยู่" หญิงชราจากคาบสมุทรสทิงพระเล่า
วันนี้มูลนิธิชุมชนสงขลากับเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ตำบลลงไปยังชุมชน ชวนสมาชิกของกลุ่มหลังอาชีวะมาร่วมรับฟังแนวทางทำกิจกรรมร่วมกัน เรานัดกันตอนเย็นย่ำ เพื่อให้สมาชิกมาร่วมประชุมกันได้ แกนนำเสนอให้เลี้ยงข้าวต้ม เก่งใช้วิธีให้สมาชิกแต่ละคนนำคูปองมากินข้าวต้มและน้ำที่เตรียมไว้ร่วมกัน เก่งต้องคอยประกาศผ่านเครื่องเสียงเป็นระยะว่ามากินข้าวต้มแล้วอยู่ประชุมด้วยกัน ไม่ใช่มารับข้าวต้มแล้วกลับไปกินที่บ้าน
สมาชิกที่มาร่วมมีทั้งผู้สูงอายุ และเด็กๆหลายวัย ผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานมีน้อย เด็กเล็กทั้งหญิงชายวิ่งเล่นไปด้วย เด็กที่เป็นวัยรุ่นหน่อยก็เข้ามาร่วมประชุม เด็กเล็กเหล่านี้เป็นปัญหาร่วมของการไร้การศึกษาหรือเรียนต่อไม่จบ เด็กๆเหล่านี้ต้องการอนาคตที่ดี ไม่ต่างจากผู้สูงอายุอีกมากที่มาจากหลายแหล่ง หลายภาค มาเป็นสมาชิกของชุมชนที่ไม่ได้มีพื้นฐานความเป็นชุมชนตั้งแต่แรกเริ่ม
กลุ่มที่นี่มีรูปแบบเฉพาะ ก่อนประชุมจะมีการเปิดเพลง มีเด็กมานำยืนทำความเคารพพร้อมเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี
ไม่ง่ายในการสร้างความไว้วางใจ คนจนมีความเปราะบางในหลายด้าน ตัวเองก็เอาตัวไม่รอดจะให้อาสามาทำเพื่อส่วนรวมรึก็ไม่อยากทำ บางคนอยากทำแต่กลัวคนอื่นรังเกียจความจน พื้นฐานความสัมพันธ์ที่เปราะบางเช่นนี้ต้องการกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ สำนึกใหม่ ผมให้เด็กๆมาสะท้อนปัญหาในชุมชนที่นอกจากจะเป็นชุมชนแออัดแล้ว เด็กๆเล่าแบบซื่อๆว่ามียาเสพติด คราวนี้ผู้ใหญ่ก็ส่งเสียงออกมาบ้างว่า จน รายได้ไม่แน่นอน เด็กๆต้องการการศึกษา ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ต้องการเงินทุนประกอบอาชีพ
ทีแรกผมตั้งใจจะหาอาสามาช่วยเก็บข้อมูลและมาเป็นทีมกลาง เพื่อร่วมทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่เห็นปฎิกริยาที่สะท้อนกลับมาอีกด้านจึงเปลี่ยนใจ ถอยกลับมาปรับวิธีการทำงานใหม่ โดยเริ่มจากการนัดชุมชนมาร่วมทำกิจกรรมเรียนรู้การทำน้ำยาเอนกประสงค์ การเพาะถั่วงอก ทำน้ำส้มหมักจากกล้วย ค่อยๆอาศัยกิจกรรมที่จับต้องได้สร้างความคุ้นเคย ความไว้วางใจ และให้ชุมชนที่ต่างคนต่างอยู่มานานได้มีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งได้ข้อสรุปจากผู้มาร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง ที่สุดท้ายยังคงอยู่ร่วมจนจบ ไม่ลุกหนีไปไหนราวกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาร่วมรับประทานข้าวต้ม
พี่อ้นก็ช่วยบอกเล่าประสบการณ์ที่ทำกับชุมชนแหลมสนอ่อน บอกถึงความรู้สึกที่ได้มาสัมผัสชุมชนขณะเก็บข้อมูล พี่อ้นช่วยประสานหาทุนการศึกษาให้เด็กๆเหล่านี้อีกด้วย
การมาวันนี้ชุมชนยังมองคนเข้ามาว่าคือหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือ เมื่อเจอการต่อรองให้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ แตกต่างจากความคุ้นชินเดิมจึงต้องใช้เวลา และใช้กิจกรรมคัดกรองแกนนำไปเรื่อยๆ ผมเล่าเรื่องของธกส.ที่ใช้วิธีคัดกรองผู้มาขอสินเชื่อโดยให้ช่วยตัวเองตั้งแต่เก็บเงินก่อน หรือสร้างโรงเรือนช่วยตัวเองก่อน จนกระทั่งมั่นใจจึงปล่อยสินเชื่อให้ รูปแบบนี้ทำให้การเกิดหนี้สูญจึงน้อยลง
แกนนำบางคนท้อใจและหมดไฟไปแล้ว ไม่อยากจะเข้ามาแบกชุมชนไว้อีก
ท้าทายมากครับในการทำงานกับชุมชนเปราะบาง ทีมกลางสรุปกันว่าทำไปเรียนรู้ไป!!
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567