ธรรมนูญพหุวัฒนธรรมที่เทศบาลเมืองปาดังเซาร์
"ธรรมนูญพหุวัฒนธรรม"
เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
ปาดังแปลว่าทุ่ง เบซาร์แปลว่าใหญ่ ปาดังเบซาร์จึงหมายถึงทุ่งใหญ่ สภาพภูมิประเทศเดิมเป็นป่าเขาและกลายเป็นชื่อของพื้นที่เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ๑๐ ชุมชน มีประชากรกว่า ๑หมื่นคน มีผู้สูงวัยราว ๑ พันคน
พื้นฐานประกอบด้วยชุมชนมุสลิม ๘๐% ชุมชนไทยจีน ไทยพุทธ ๓ วัฒนธรรมผสมผสานอยู่ในชุมชน ในอดีตบุกเบิกโดยชาวจีนที่มาสร้างทางรถไฟให้หาดใหญ่ จนในที่สุดก็มาตั้งรกรากที่นี่
ปาดังเบซาร์มีภูเขาสองแผ่นดิน ชุมชนบางส่วนยังคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างไทยและมาเลเซีย มีวัดเขารูปช้างที่มีเจดีย์หินอ่อนจากเมืองจีน มีพระสยามเทวาธิราช ๑ ใน ๕ องค์ของประเทศไทย มีชมรมวิ่ง กลุ่มกลองยาว ที่น่าสนใจมากๆก็คือชมรมบุหลันแดงที่รวมสมาชิกไทยมุสลิม ช่วยเหลือดูแลสมาชิกในชุมชนด้วยกัน มีกติกาพื้นฐานในการให้การศึกษาทางศาสนาแก่เด็กและผู้สูงอายุ มีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีการลงเยี่ยมบ้าน มีกายอุปกรณ์หมุนเวียน เช่น เตียง วิลแชร์ ไม้เท้า ให้กับสมาชิก สามารถซ่อมได้ด้วยสมาชิกกันเอง
การจัดทำธรรมนูญตำบลวันนี้ได้ข้อสรุป ดำเนินการโดยอาศัยกลุ่มผู้สูงอายุที่มีทั้งไทย จีน มุสลิม ทำกิจกรรมด้วยกัน ทุกคนเห็นโอกาสนี้ในการขับเคลื่อนสร้างความรักความสามัคคีรวม ๓ วัฒนธรรมที่ปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ ต่างจากอดีตที่ยังมีการไปมาหาสู่ มุสลิมเคยได้กินขนมต้ม ขนมลา มีรายอคนไทยก็ได้กินของคนมุสลิม ไทยจีนก็มีการรวมตัวเล่นดนตรีประจำศาลแปะกง เป็นวงมโหรีจีน อุปกรณ์ยังมีอยู่แต่ไม่มีคนสอน ต้องการฟื้นฟูและนำครูเพลงมาสอนให้สมาชิกสูงวัย
มีข้อเสนอในร่างธรรมนูญที่น่าสนใจ เช่น จะมีการนัดออกกำลังกายในช่วงเย็น สัปดาห์ละ ๓ วัน โดยทางเทศบาลเปิดเพลง แล้วให้ผู้สูงอายุแต่ละบ้านมีกิจกรรมทางกายพร้อมกันราว ๑๐ นาทีต่อวัน มีร้านค้าที่ลดเปอร์เซ็นให้ผู้สูงอายุที่หิ้วปิ่นโตหรือถุงผ้ามาซื้อของ ไม่ใช้ถุงพลาสติก สร้างอัตลักษณ์ชุมชนด้วยการแต่งกายตามวิถีชุมชน/วิถีศาสนาทุกวันศุกร์ อยากให้มีกติกากับร้านค้าในช่วงรอมฎอมเพื่อให้เกิดระเบียบ สื่อสารกับนักท่องเที่ยวซึ่งถือว่ามาเยือนที่นี่เป็นตลาดในช่วงรอมฎอมใหญ่ระดับประเทศ
ข้อตกลงแรกที่จะดำเนินการเลยก็คือ เมื่อมีงานศพ ให้กองสวัสดิฯเทศบาลส่งข่าวให้กับผู้นำและสมาชิกทั้ง ๓ วัฒนธรรมไปร่วมงาน ข้ามพ้นความเชื่อผิดๆว่าต่างศาสนาไปร่วมพิธีศพไม่ได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนที่แยกส่วนจากกัน หรือสัมพันธ์กันแบบห่างๆ
คณะทำงานสรุปว่าจะนำร่างธรรมนูญที่รับฟังในวันนี้ไปเปิดเวทีระดับชุมชน และชวนชมรมที่พร้อมเป็นเจ้าภาพรับฟังความเห็นจากสมาชิก ขยายเครือข่ายผู้สูงอายุที่มีอยู่แล้วจำนวนหนึ่งให้มากขึ้นกว่าเดิม
ชมรมบุหลันแดงอาสาเป็นเจ้าภาพเวทีแรก ๑๓ มิย.นี้ชวนไทยพุทธและจีนไปร่วมเวที โดยจะมีการล้มแพะเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงสร้างจุดเริ่มต้นของการดำเนินงาน จากนั้นจะเดินทางไปมอบของช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากลำบากในพื้นที่ด้วยกัน
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567