"สุขภาวะโลกกับสุขภาวะคน"

by punyha @21 มี.ค. 62 19:47 ( IP : 124...159 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
  • photo  , 960x540 pixel , 34,307 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 41,041 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 48,891 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 51,597 bytes.
  • photo  , 960x540 pixel , 42,825 bytes.

"สุขภาวะโลกกับสุขภาวะคน"

เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ มีโอกาสไปร่วมให้ข้อเสนอแนะต่องานวิจัยชุดโครงการ "การศึกษาวิจัยและพัฒนาสุขภาวะโลก"(Planetary Health) ของพื้นที่ภาคใต้ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ จัดโดยวพส. มีหลายโครงการที่น่าสนใจ ผมไปร่วมได้แค่ครึ่งวัน พอจะมาบอกเล่าได้ตามนี้ครับ

๑.โครงการการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยผศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา นำเสนอการทำงานวิจัยเชิงปฎิบัติการที่เกาะบูโหลน ศึกษาพัฒนาการของเด็กเล็ก ๐-๕ ขวบ ดูค่านิยม สร้างกติการ่วม และศึกษาสารตะกั่วที่อาจปนเปื้อน โดยใช้แบบประเมินพัฒนาการเด็ก ๔๑ คน ทำกลุ่มย่อย สำรวจชุมชน ทำแผนที่เดินดิน พบเด็กมีพัฒนาการล่าช้า ๖๐% อันเกิดจากสภาพพื้นที่ห่างไกล อยู่เกาะ ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน อาหารบางประเภท ครอบครัวไม่ได้อยู่ด้วยกัน ชุมชนที่มีลักษณะเช่นนี้มีต้นทุนในชีวิตทั้งบวกและลบที่มากกว่าคนอื่น มีสภาพทั้งเป็นทั้งชุมชนดั้งเดิมและชุมชนสมัยใหม่ น่าติดตามมากว่าพวกเขาจะปรับตัวต่อไปอย่างไร

๒.โครงการผลกระทบทางสุขภาพทางเดินหายใจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมจากมลพิษ จังหวัดสงขลา โดย ดร.นพ.ธรรมสินธ์ อิงวิยะ เก็บข้อมูลประชากรของพื้นที่มีโรงงานไฟฟ้าชีวมวล กับพื้นที่เทพาที่มีก่อนหน้ามีข่าวจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเก็บข้อมูลเชิงลึกกับคนที่มีปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะกับปอด ผู้วิจัยยังอยู่ในช่วงประมวลข้อมูลสุดท้่าย ที่น่าสนใจก็คือ กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีเกิดขึ้นจำนวนมากในขณะนี้จะได้มีการเก็บข้อมูลเพื่อบอกผลกระทบ ศึกษาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และกรณีโรงไฟฟ้าฯจะมีการเก็บข้อมูลก่อนและหลังดำเนินการเพื่อบอกผลกระทบต่อสุขภาพ(แม้จะมีแนวโน้มยกเลิกโครงการไปแล้ว) กับการพัฒนาแบบสอบถามคุณภาพชีวิต ที่จะดึงมาปรับใช้ในการทำงานกับเขตสุขภาพฯต่อไป

มีแนวโน้มว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลมีผลกระทบต่อสุขภาพในระดับที่น่าเฝ้าระวังครับ

๓.โครงการการติดตามและประเมินผลโครงการฟื้นฟู เสริมสร้างศักยภาพและเตรียมความพร้อมของชุมชนหลังประสบอุทกภัย พื้นที่เทศบาลตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา โดย ดร.พีรพัฒน์ โกศลศักดิ์สกุล ศึกษาบทเรียนการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ วิถีอาชีพ แนวทางรับมือในอดีต นำมาสู่การฟื้นฟูเสริมศักยภาพในด้านอาชีพ(นาข้าว เลี้ยงวัว) ความพร้อมของชุมชนในการรับมืออุทกภัย ซึ่งจำเป็นจะต้องมองในระบบภูมินิเวศของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และระบบชุมชนที่มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิม บวกกับการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การลงทำงานของทีมมีส่วนช่วยชุมชนได้รู้จักตัวเองผ่านข้อมูลได้มาก ส่วนการรับมือและปรับตัวนั้นไม่ง่ายที่จะให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ชุมชนเองอยู่ในสภาพมีแต่ผู้สูงวัย ส่งลูกหลานไปทำงานได้ดิบได้ดีอยู่ต่างถิ่น การทำงานร่วมกันของท้องถิ่นท้องที่หน่วยงานต่างๆยังอยู่กับที่ ไม่คิดว่าเป็นปัญหา

๔.โครงการการวิจัยและพัฒนาการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าชายเลน พื้นที่บางปลาหมอ ตำบลรูสมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยอ.สายฝน สิทธิมงคล ศึกษาระบบนิเวศของคลองคลอกรือมอ และป่าชายเลน มีการลงพื้นที่สำรวจ นักสืบสายน้ำ การสนทนากลุ่ม การทำกิจกรรมกับเยาวชน พบศักยภาพของระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต ที่จะต้องยกระดับ พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านเยาวชน

โครงการเหล่านี้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปค้นหาคุณค่าของธรรมชาติ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ทั้งผลกระทบเชิงบวกและลบต่อมนุษย์ เห็นความเชื่อมโยงที่ส่งผลต่อกันของโลกใบนี้กับผู้คนในชุมชน ด้านหนึ่งเป็นการลดทอนภาวะการพัฒนาที่ล่าช้าและถดถอยของชุมชน ด้า่นหนึ่งเป็นการสะสมทักษะ ความรู้ของนักวิจัย เปิดมุมมองการเรียนรู้ให้กับชุมชน และคณะทำงาน พร้อมกับพัฒนาเครื่องมือหรือกระบวนการในการทำงานเพื่อใช้ในชีวิตจริง นำความรู้กับความจริงที่พบไปเพื่อหาทางออกจากภาวะปัญหาที่ซับซ้อน มีหลากมิติ จำเป็นต้องมีองค์ความรู้และการทำงานเป็นทีมแบบสหวิทยาลงไปจัดการ

พร้อมกันนั้นก็เป็นการจัดสมดุลระหว่างการพัฒนากับความล้าหลัง ความรู้ใหม่กับภูมิปัญญาเดิม การมีส่วนร่วมระหว่างคนในและคนนอก ปัจจัยภายในและภายนอก การกดทับเชิงอำนาจระหว่างสถาบันวิชาการกับชุมชน ความเปลี่ยนแปลงของโลกและชุมชน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นข้อต่อสำคัญ

ที่แน่ๆสุขภาวะปัจจุบันลงลึกไปถึงคุณภาพชีวิตกันแล้ว

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน