เรื่องเล่าจากสงขลาเมืองสหกรณ์ "ตลาดในมือเรา"
"ตลาดอยู่ในมือเรา"
เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
ร่วมพัฒนาศักยภาพให้กับแกนนำสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา รุ่นที่ ๑ ที่รับการสนับสนุนระบบน้ำไปเพื่อการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน ในด้านแผนการผลิต การตลาด ร่วมกับพี่ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ
ฐานผู้เข้ามาจากอำเภอสทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ สิงหนคร คลองหอยโข่ง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย บวกกับเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตร พืชผลที่กำลังดำเนินการก็มีหลากหลายทั้งยาง ข้าว ปาล์ม ประมง กล้วย สวนสมรม มะนาว พริก ฯลฯ ปัญหาการผลิตที่พบก็คือ ส่วนใหญ่ไม่มีแผนการผลิต ทำให้เกิดผลผลิตล้นตลาด ต่างคนต่างทำ ไม่มีแผนการผลิตร่วม ต้นทุนสูงทั้งปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ ขาดแคลนน้ำ ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ขาดความรู้ในด้านการจัดการโรคพืช ความรู้พื้นฐานเรื่องดิน มีการลักโขมย แต่ก็มีสิ่งดีๆก็คือ เป็นเกษตรกรที่ผลิตเพื่อบริโภค มีกิน มีขาย เป็นอาชีพอิสระ พึ่งตนเองในปัจจัยการผลิตบางอย่าง มีไม่น้อยที่ผลิตแบบไร้สารพิษ
ส่วนปัญหาการตลาดที่พบ ก็คือ ขาดตลาดรองรับ ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลางทำให้ถูกกดราคา ไม่มีการรวบรวมผลผลิต ต่างคนต่างขาย ขาดความรู้ทางการตลาด ไม่มีเงินลงทุน แล้วก็มีสิ่งที่ทำได้ดีก็คือ มีตลาดนัดในชุมชน บางส่วนจำหน่ายเอง สหกรณ์บางแห่งมีจุดรวบรวมผลผลิต มีการสนับสนุนจากหน่วยงาน
ไม่ได้เน้นบรรยาย แต่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้แต่ละคนได้เขียนบอกเล่าปัญหา สิ่งดีๆ แล้วรับฟังข้อเสนอแนะที่มีให้ก็คือ
๑.นำหลักสหกรณ์มาใช้ในการทำงาน เน้นการรวมกลุ่ม การพึ่งตนเอง นำหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการตลาด มองตลาดในมุมกว้างระดับสากลที่เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งโอกาสและข้อจำกัดของโลกที่คุกคาม
๒.เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งตัวเอง บนฐานภูมินิเวศ นำทรัพยากรที่มีอย่างหลากหลายมาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นพืชอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ไม่เลียนแบบความสำเร็จกันและกัน
๓.เน้นคุณค่ามากกว่ามูลค่า ใช้การเรียนรู้มาต่อยอดทรัพยากร ศึกษาให้เห็นคุณค่านำมาเป็นจุดขาย หรือทำให้ครบวงจร ยกตัวอย่าง ทำไอสกรีมสุขภาพจากกล้วยหรือผลไม้สุกงอมซึ่งปกติจะทิ้ง หรือไม้ผลพื้นบ้านหลากชนิดมาต่อยอด เพิ่มจุดขายทางการตลาด บวกกับเรื่องเล่าทางการตลาด
๔.สมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีแนวคิดการผลิตแบบพึ่งตนเอง แบ่งปัน ทำเพื่อกินใช้ในครอบครัว เหลือจึงขาย แนวคิดเหล่านี้ควรเน้นตลาดในชุมชน หรือตลาดที่มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนำ หรือนำผู้บริโภคไปทัวร์ถึงถิ่น เปิดสวน บุฟเฟต์ผลไม้ เน้นทรัพยากรที่หลากหลายในพื้นที่ กับแนวทางที่สหกรณ์หรือกลุ่มรวมตัวกันดำเนินการในลักษณะธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จำเป็นจะต้องมีแผนการผลิตร่วม สามารถต่อรองราคาหรือขอสนับสนุนปัจจัยการผลิต ผลผลิตบางอย่างสามารถสร้างตลาดเฉพาะกลุ่ม บางอย่างมีความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัด กลุ่มเหล่านี้จะต้องต่อยอดเป็นผู้ประกอบการ มีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
๕.ตลาดอยู่ในมือ ไม่ต้องรอหน่วยงานหรือใครมาช่วย เทคโนโลยีเปิดกว้างให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถใช้ประโยชน์ สร้างช่องทางตลาดของเราเอง
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567