กองทุนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน
"กองทุนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน" เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์นี้ ชุมชนแหลมสนอ่อน ทน.สงขลา จะจัดงานจิบน้ำชาระดมทุนปันรักสู่คนยากลำบากในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งยังมีคนอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ ตกหล่นจากระบบหรือช่องทางช่วยเหลือปกติไม่อาจหยิบยื่นให้ได้
พวกเขาเหล่านี้เป็นใครกันบ้าง?
ชาวประมงที่สัญจรเร่ร่อนไปทั่ว วันหนึ่งก็มาใช้ชีวิตเป็นคนเมือง แต่ไร้บัตรประชาชน บัตรหายบ้าง หนีทหารมาบ้าง หรือบางคนเป็นพ่อค้าแม่ค้า หนีความจนมาตายเอาดาบหน้า ครอบครัวแตกแยก ไร้ญาติขาดมิตร มาอาศัยเช่าบ้าน หรือบุกรุกที่สาธารณะของธนารักษ์บ้าง เจ้าท่าบ้าง การรถไฟบ้าง หรืออยู่ในชุมชนแออัด หรือถูกจัดระเบียบ สาระพัดปัญหาที่พบ ไม่นับคนต่างด้าวที่เร่ร่อนมากระทั่งมาได้ลูกได้ภรรยาได้สามี แต่ก็อิงแอบอยู่ในชุมชนในสภาพพลเมืองชั้นสอง ไม่อาจเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน และมีไม่น้อยเป็นคนเปราะบาง กล่าวคือ พิการ ถูกทอดทิ้ง ติดยาเสพติด ไร้บ้าน คนเหล่านี้คือภาระของสังคมที่ไม่มีใครเหลียวแล
ล้วนเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม เมินเฉย มองไม่เห็น หรือเห็นแต่จนปัญญาจะหาทางออก
ดอกผลของความยากลำบากเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อเด็ก ต่อคนรุ่นลูกที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือของเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงจำเป็นจะต้องข่วยเหลือเยียวยา กลไกรัฐปกติที่ยึดระเบียบ ข้อกฏหมาย และพื้นที่ปกครองตายตัวไม่อาจทำอะไรได้
การสร้างระบบของชุมชนที่จะต้องช่วยดูแลกันและกันจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะอุดช่องว่างที่มี หน่วยงานต่างๆจึงร่วมมือกันจัดงานนี้ขึ้น ด้านหนึ่งเพื่อสะท้อนปัญหาที่มีอยู่ให้สังคมได้รับรู้ อีกด้านจะเป็นการระดมทุน สร้างสำนึกการแบ่งปันให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งที่สุดแล้ว พวกเขาก็คือคนที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเรา จากสังคมของเรา การหยิบยื่นไมตรีจิตจากผู้ที่มีเหลือให้กับผู้ที่อดอยากจะมีส่วนทำให้คุณภาพชีวิตพื้นฐานของพวกเขาดีขึ้น และส่งผลต่อสังคมโดยรวมที่ลูกหลานของเราและตัวเราจะดำรงอยู่
อีกด้านหนึ่ง จะเป็นช่องทางในการฟื้นฟูจิตใจ ปลุกชีวิตที่ตกต่ำในฐานะมนุษย์ขึ้นมาใหม่ ให้สามารถลืมตาอ้าปาก สร้างฐานะ สร้างชีวิตใหม่ สามารถดำรงตนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระให้กับสังคมดังที่เป็นอยู่
ร่วมกิจกรรมหรือบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นได้ที่ชุมชน(ติดต่อผ่านคุณบุณย์บังอร ชนะโชติ ๐๘๓ ๕๓๘ ๙๐๘๙)หรือบริจาคผ่านบัญชี กองทุนสตรีแหลมสนอ่อนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบากเมืองสงขลา บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ ๐๒๐๑ ๔๘๔๑ ๙๙๒๗ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสงขลา
ชุมชนแหลมสนอ่อน เป็นชุมชนใหม่ล่าสุดของเทศบาลนครสงขลา สมาชิกมาจากแม่ค้าพ่อค้าต่างถิ่นที่ถูกจัดระเบียบหาดสมิหลาในสมัยจอมพลสฤษดิ๋ ให้มาอยู่ในที่ของธนารักษ์แต่ไม่ได้เช่าที่ให้ถูกต้อง อาศัยเงินตัวเองสร้างบ้าน ต่อไฟ ต่อน้ำจากเพื่อนบ้านใช้มาหลายสิบปี จนกระทั่งต่อสู้ให้ธนารักษ์อนุมัติเช่าที่อย่างถูกกฏหมาย อยู่ระหว่างการทำสัญญา ผู้นำชุมชนที่เป็นสตรีจิตอาสาสำรวจข้อมูลในพื้นที่อำเภอเมือง พบคนยากลำบากที่ประสบปัญหาที่กล่าวมาอีกมาก จึงอาศัยวิกฤตเหล่านี้สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การช่วยเหลือคนอื่นในที่สุดก็คือการช่วยตนเอง สร้างรากฐานที่ดีให้กับชุุมชนนั่นเอง
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567