เรียนรู้จาก "พายุปาบึก"
เรียนรู้จากพายุปาบึก
เขียนโดย ชาคริต โภชะเรือง
พายุ "ปาบึก" มารับขวัญปีใหม่ผ่านไปแล้ว มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ในมุมมองของผมนะครับ
๑.ระบบที่ก้าวหน้าที่สุดในภาพรวมของประเทศก็คือ การสั่งการณ์แบบไม่มั่ว แบ่งหน้าที่กันชัดเจน อุตุฯให้ข่าว รมต.ประชุมสั่งการณ์ทุกจังหวัด เน้นการป้องกันเหตุจึงเห็นการสั่งอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ลดความสูญเสีย มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด อันนี้ต่างไปจากภัยพิบัติที่ผ่านมา อาจเพราะทหารคุ้นชินงานในช่วงสงครามหรือภาวะวิกฤตก็เป็นได้ทำให้วางระบบเผชิญเหตุได้ดี (นี่ล่ะงานถนัดของทหาร-ส่วนการบริหารประเทศอาจจะไม่ใช่? อิอิ) จะรอดูว่ามีการพื้นฟู เยียวยาในส่วนที่เสียหายอย่างไร
๒.บทบาทของ social media บวกกับการเข้าถึงแอพฯหรือแบบจำลองจากสำนักต่างๆที่เป็นข้อมูลเปิด ทำให้เราเห็นการแสดงบทบาทของผู้รู้(หรือทำท่าว่ารู้)เยอะแยะมากมาย ทั้งพยากรณ์ ทั้งแชร์ข้อมูล โดยไม่มีคำอธิบายหรือข้อมูลรองรับทำให้เกิดความสับสน ข้อดีก็คือทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้มาก แต่จะต้องพัฒนาต่อก็คือ ทำความเข้าใจแบบจำลอง เข้าใจข้อจำกัดและศักยภาพของแต่ละแบบจำลองหรือแหล่งข้อมูลโดยไม่ปักใจเชื่อแบบทื่อๆซื่อๆ และควรเรียนรู้ว่าข้อมูลเป็นเพียงแนวโน้มหรือความจริงเพียงบางมุมหาใช่ทั้งหมด เราจะได้เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง หาจุดอ่อนและร่วมกันพัฒนาระบบที่ควรจะเป็นต่อไป
๓.เรื่องพายุเป็นเรื่องใหม่ นานทีเราจะได้สบตากันสักครั้ง เราขาดความรู้พื้นฐานเป็นอย่างมาก มีภาวะสูญญากาศในช่วงวิกฤตหลายครั้งทั้งที่ควรจะมีการสื่อสารจากผู้รู้หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีใึครบอกได้ชัดเจนว่าพายุจะไปไหน อย่างไร เมื่อไร ผลกระทบที่เกิดๆที่ไหน อย่างไร แค่ไหน ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะตึงเครียด กังวล ไม่มั่นคง ตรงนี้ยังมีจุดอ่อน ไม่มีการทำงานเชิงรุกให้เห็น สื่อสารสาธารณะเองก็ปรับตัวไม่ทันได้แต่รายงานตามสถานการณ์ หน่วยงานที่มีข้อมูลก็ไม่เห็นโอกาสให้การเรียนรู้แก่สังคม(หน่วยงานระดับพื้นที่มีข้อมูลที่ดี ลึก ใกล้ชิด แต่อาจเพราะถูกบังคับให้ประชาชนต้องฟังข้อมูลจากหน่วยงานส่วนกลางเป็นหลัก) ไม่รู้ว่าเพราะถูกสั่งห้้ามไม่ให้พูด หรือกลัวผิดพลาด หรือไม่มีโอกาส? หรือเชื่อว่าตนทำหน้าที่แล้วแต่สังคมไม่รู้ด้วยช่องทางสื่อสารมีมาก เดี๋ยวนี้ผู้คนเลือกดูและเชื่อข้อมูลจากสื่อมวลชนที่ตนชื่นชอบ(บังเอิญว่าสื่อที่ว่าก็มีมาก กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ และดันให้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน) แต่ก็มีนักวิชาการหัวใจชาวบ้านให้การเรียนรู้ วิเคราะห์แนวโน้ม ใช้ประสบการณ์ของตนให้เกิดประโยชน์ แนวโน้มเช่นนี้จะมีมากขึ้น หากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ ในที่สุดก็จะมีคนอื่นมาทำหน้าที่แทน
๔.ความเชื่อถือต่อหน่วยงานหลักของสังคมยังมีน้อย ทั้งที่มีศักยภาพที่จะทำงานของตน ด้วยระบบที่เน้นการเซฟตัวเองทำให้เกิดภาวะสังคมรับรู้แต่(ลึกๆ)ไม่เชื่อ แนวทางการทำงานของหน่วยงานหลักจึงควรเน้นสร้างการเรียนรู้สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนให้มากที่สุด สร้างเครือข่ายการทำงานกับพื้นที่ไม่ควรกลัวว่าจะมีใครมาแย่งหน้าที่หรือลดความสำคัญลงไป เพราะสังคมเปลี่ยนไป ระบบราชการเล็กเกินกว่าจะควบคุมโลกที่การสื่อสารทำให้เปิดกว้าง กระจัดกระจาย และเต็มไปด้วยความหลากหลายที่ระบบรวมศูนย์ไม่อาจตอบสนอง
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567