"ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"

by punyha @6 พ.ย. 67 09:25 ( IP : 171...178 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , iMed Care
photo  , 1080x608 pixel , 42,857 bytes.

"ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"

พี่แดง ธนัชพร พรหมอ่อน อดีตเป็นผู้ช่วยคนไข้ ฝ่ายอายุรกรรมหญิงโรงพยาบาลสงขลา มาเกือบ 10 ปี โดยมีหน้าที่ช่วยพยาบาล เช่น ทำแผลสามารถเข้าไปช่วยเตรียมอุปกรณ์แต่ไม่สามารถทำแผลได้

“พี่สมัครเป็นผู้ดูแลที่บ้านของ iMedCare เพราะเพื่อนที่เป็นพยาบาลโรงพยาบาลสทิงพระส่งลิงค์ให้สมัคร  รู้ว่ามีอาจารย์แสงอรุณเปิดอบรม 120 ชั่วโมง ที่คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. จึงเข้าไปสัมภาษณ์ที่มูลนิธิชุมชนสงขลา อาจารย์ถามว่ามีประสบการณ์อะไรมาบ้าง...”

ปัจจุบันพี่แดงยังเป็นอสม.ที่ รพสต นางเหล้า ตำบลชุมพล กิจกรรมหลักก็มีการประชุม อยู่เวร ทำกิจกรรม อสม.

“สัมภาษณ์ผ่านแล้วก็ได้เข้าอบรมจนสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม อบรมแล้วเสร็จ ความที่มีพื้นฐานงาน อาจารย์แสงอรุณก็พาไปลงเคส โดยพี่อบรมเป็นรุ่นล่าสุด มีผู้ดูแลไปดูเคสด้วยประมาณ 4 คน พี่เป็นคนลงเคสคนแรกเลยนะ” พี่แดงเล่าด้วยความภูมิใจ

ขั้นตอนเเรกของการรับคนไข้ให้กับผู้ดูแลที่บ้านของทีม iMedCare จะมีการศึกษาเคสก่อนว่าคนไข้รู้สึกอย่างไรกับผู้ดูแล แล้วต้องนำไปปรับตัวเอง ว่าเคสนี้ต้องทำอย่างไร

“แนะนำตัวกับคนไข้ที่ดูแลและกลับไปเตรียมตัวให้พร้อม...” พี่แดงเล่าขั้นตอนของการทำงาน การพบกันครั้งแรกมีความสำคัญมาก ทุกอย่างที่คนไข้ต้องการรู้พี่แดงสามารถตอบได้ทุกอย่าง เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ว่าผู้ดูแลมีการคุยกับคนไข้โดยตรงเพื่อสร้างความรับรู้และไว้วางใจ ส่วนฝ่ายญาติทางฝ่ายประสานงานกลางของ iMedCare เป็นฝ่ายพูดคุยเจรจาในรายละเอียดงาน การทำสัญญาจ้างงาน

เบื้องต้นทีมกลางดูก่อนว่าคนไข้ป่วยติดบ้านหรือติดเตียงหรือไม่ มีแผลกดทับหรือไม่ “ถ้าหากมีแผลกดทับเราจะได้มีการวางแผนการดูแลให้เหมาะสม”

การทำงานเริ่มจากอาจารย์แสงอรุณกับพี่เอียดที่เป็นฝ่ายประสานงานกลาง พูดคุยกับญาติและคนไข้จนมีข้อมูลของคนไข้คร่าวๆแล้วก็ทำสัญญา วางแผนการดูแล ประสานส่งต่อมายังผู้ดูแลที่บ้านที่ต้องรับหน้าที่ของตน นอกเหนือจากข้อมูลที่อาจารย์แสงอรุณบอกมาแล้ว พี่แดงยังต้องมีการดูด้วยตนเองอีกด้วย

“เคสที่พี่ดูแลเป็นผู้ป่วยติดบ้าน สามารถทานอาหารเองได้ เดินไปอาบน้ำเองได้ แต่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ลื่นล้ม เพราะหากลื่นล้มถือเป็นความรับผิดชอบของพี่ ทั้งยังต้องคอยจัดเตรียมอาหารให้ทั้ง 3 มื้อ พี่ต้องเป็นคนทำอาหารทั้ง 3 มื้อให้คนไข้กินเอง โดยที่พี่กินอยู่กับเจ้าของบ้านเลย เพราะว่าไม่มีรถประจำทางที่สามารถไปกลับได้”

นั้นคือภารกิจเสริมในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทำตามแผนการดูแลที่เป็นงานหลัก ในการเตรียมอาหาร เจ้าของบ้านเป็นคนซื้อวัตถุดิบมาไว้ให้ทำ บางวันก็ทำเผื่อแผ่ไปให้คนในบ้านด้วยถ้าหากตัวพี่แดงทำได้ เป็นเทคนิคส่วนตัวของผู้ดูแลอย่างพี่แดงนำมาใช้

“ที่เราทำงานในตรงนี้ได้ เราต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนภายในบ้านไปด้วย”

โดยในการทำอาหารให้คนไข้ต้องใช้พื้นที่เดียวกับแม่บ้าน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน

“อย่างเคสนี้ที่บ้านมีเด็กอยู่ เราก็ต้องใส่ใจเขาชวนเขาคุย พยายามเชื่อมให้เด็กกับผู้ใหญ่ให้คุยกันได้ เป็นการกระตุ้นให้คุณย่าที่เป็นคนไข้ของเรา เดิน ขยับ เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆไปด้วย เพื่อจะได้ไปพูดคุยกับลูกหลาน ในเรื่องของจิตใจได้มีความรู้สึกที่ดีจิตใจที่ดี ถ้าใส่ใจตรงนี้ผลดีก็จะได้กับคนไข้ไปด้วย”

ที่สำคัญ ไม่ว่าขับถ่ายบ่อยสักแค่ไหน พี่แดงจะบอกคนไข้ว่าไม่ต้องเกรงใจ ในการดูแลไม่เคยรังเกียจ เนื่องจากว่าคนไข้มีความเกรงใจ พี่แดงเข้าใจถึงธรรมชาติของคนไข้ในลักษณะนี้โดยเฉพาะคนไข้ต้องทานยาระบาย มีปัญหาระบบขับถ่าย ถ้าไม่ทานยาระบายก็จะไม่ถ่ายเลย

“เราก็คอยสังเกต ถ้าหากคนไข้ถ่ายมากจนเกินไปเราต้องลดปริมาณยาลง”
พี่แดงใช้ประสบการณ์ตอนเป็นผู้ช่วยพยาบาลมาใช้อีกด้วย เรื่องของความสะอาดต้องใช้หลักการที่ได้อบรมมา การช่วยออกกำลังกายก็เช่นกัน นำแนวทางที่อาจารย์อบรมมาเอามาใช้กับคนไข้ การเคลื่อนย้ายคนไข้ การประคอง การจับ การดูแล ป้องกันไม่ให้ลื่นล้ม ต้องนำหลักวิชามาใช้

“เมื่อเทียบกับตอนเป็นผู้ช่วยกับตอนนี้ ถือว่ายังเบากว่าตอนเป็นผู้ช่วยมาก พี่จะเน้นการให้กำลังใจคนไข้ เหมือนที่บอกว่าคนไข้สภาพร่างกายสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เปอร์เซ็นต์ช่วยเหลือตัวเองตัวเองสูงอยู่แต่ต้องดูสภาพจิตใจด้วย ว่าได้รับการสนใจดูแลจากลูกหลาน มีกำลังใจดีไหม”

พี่แดงต้องทำคัดกรองซึมเศร้าให้คนไข้ไปด้วย โดยภารกิจ 24 ชั่วโมงต่อวัน เริ่มต้นจากเช้ามาต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป ดูความสะอาดก่อนคนไข้อาบน้ำ ดูแลการเเปรงฟัน บ้วนปากล้างหน้า เปลี่ยนผ้าอ้อมและเปิดทีวี.ให้ดูข่าว พี่แดงตื่นเวลาตี 5 คอยถามผู้ป่วยทุกเช้า บอกเวลาว่าตี 5 แล้วนะจะดูทีวีหรือฟังเพลง ก่อนดูเเลก็ทำความสะอาดก่อน ต่อไปก็เตรียมอาหารตอนเช้า ประกอบด้วยไข่ต้ม 1 ฟอง อาหารเสริม หรือขนมเสริมให้ ต่อไปก็ดูแลที่นอนว่าต้องเปลี่ยนผ้าห่มหรือไม่...กวาดขยะถูพื้น ดูดฝุ่น ดูแลหมด ห้องน้ำต้องสะอาด เก็บขยะไปทิ้ง ความสะอาดต้องดูแลตลอดเวลา หากผู้ป่วยกินอาหารทานไปแล้วบ้วนก็ต้องเช็ดให้เรียบร้อย มื้อกลางวันก็ถามว่าผู้ป่วยต้องการทานอะไรเป็นพิเศษไหม พี่แดงจะทำให้ได้หรือออกไปซื้อวัตถุดิบ พยายามทำเพื่อส่งเสริมให้คนไข้กินได้มากขึ้น ชอบอะไรก็พยายามหามาให้ จน 7 โมงทานมื้อเช้า 11 โมงทานมื้อเที่ยง 4 โมงเย็นทานมื้อเย็น พี่แดงยังได้ใช้ความรู้ทางโภชนาการมาช่วยให้กับผู้ป่วยอีกด้วย

“กิจกรรมต้องดูแลเป็นพิเศษคือตอนบ่ายโมง คนไข้มีการอาบน้ำ ต้องเตรียมเสื้อผ้า สบู่ ทุกอย่าง โดยที่ดูแลเป็นหลักคือการกินและความสะอาด แผลกดทับมีเป็นผื่นบ้าง ต้องคอยทายา”

ช่วยหาวิธีการประหยัดค่าใช้จ่าย เสริมด้วยการนวด เปิดเพลง พูดคุย ผ่อนคลายเพื่อช่วยคนไข้ให้มีการเปลี่ยนแปลงมีอารมณ์หงุดหงิดน้อยลง ทานอาหารได้มากขึ้น

ทำงานมาสักระยะ พี่แดงเกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่า “เราต้องมีใจและจิตใจรักการบริการ เราต้องไม่รังเกียจผู้ป่วยเป็นปัจจัยหลัก จากประสบการณ์ที่ทำงานโรงพยาบาล ผู้ป่วยมักกลัวว่าเราจะรังเกียจ”
ที่สำคัญ ห้ามพูดในแง่ลบกับคนไข้ที่เราดูแล เพราะผู้สูงอายุมีอารมณ์น้อยใจง่าย มีความเกรงใจมากในคนไข้ที่รู้สึกตัว แต่ถ้าเป็นคนไข้ที่ไม่รู้สึกตัวก็ต้องใส่ใจมากมากในการดูแล ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการ รายงานญาติ ถึงความเสี่ยงต่างๆ

“หลังได้รับการอบรมมา เราได้เพิ่มความมั่นใจ เมื่อได้ลงเคสเราสามารถช่วยคนไข้ได้มากขึ้นได้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ”

คือหัวจิตหัวใจของการเป็นทีมดูแลผู้ป่วยที่บ้าน iMedCare.


ชาคริต โภชะเรือง  สัมภาษณ์และเรียบเรียง

นางสาวชิดชนก รักษ์ทอง และ นางสาวภัทรวดี ชุ่มโชติ  นักศึกษาฝึกงานถอดความจากเสียงสัมภาษณ์

Relate topics

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน