อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 1
ป้ายชื่อถนนในเมือง oxford ช่างเรียบง่ายจริงๆ
ผมมาอังกฤษเป็นครั้งแรกในชีวิต เป้าหมายแรกมุ่งหน้าสู่เมืองอ๊อกฟอร์ด เพื่อเข้าร่วมงานรับปริญญาลูกชาย เราเดินทางจากสนามบินฮีทโธรว์ กรุงลอนดอน นั่งรถบัส oxford express ไปลงในเมือง เดินลากกระเป๋าต่อ เข้าโรงแรมที่พักชานเมือง
บ้านเมืองสวยงาม อาคารจะเน้นโชว์อิฐก่อ แถวชานเมืองบ้านจะสองชั้นหรือไม่ก็สามชั้น และมีทรงบ้านที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ทรงเดียวกันเกือบทั้งเมือง สงสัยว่าเทศบาลเขาคงจะคุม theme รูปทรงอาคารในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
และที่สำคัญ ป้ายชื่อถนนนั้น ตัวใหญ่ ชัดเจนเห็นแต่ไกล ป้ายเตี้ยๆระดับเอว ตัวหนังสือขาวบนพื้นดำ ไร้การตกแต่ง เน้นการใช้งานในการทำหน้าที่บอกทาง
ถนนสะอาด รถยนต์ก็มีไม่น้อย แต่ไม่มีควันดำ ถนนไม่มีฝุ่น อากาศสดชื่น ทางเท้าชานเมืองไม่ได้ใช้ตัวหนอน ใช้เทยางมะตอย แม้จะไม่ราบเรียบ แต่ก็ไม่มีให้ต้องเดินสะดุด ช่วงนี้อากาศ 15 องศา เย็นทีเดียวสำหรับคนภาคใต้ที่อยู่ 30 องศามาตลอด
ชอบมากครับ ป้ายชื่อถนนตัวใหญ่มาก บ้านเรือนสวยงามอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำป้ายบอกชื่อถนนให้วิลิศมาหราแต่อย่างใด
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 2:
พิธีรับปริญญา มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด
งานรับปริญญาจัดขึ้นที่ Sheldonian Treatre เป็นหอประชุมและโรงละครเก่าแก่ที่สร้างเสร็จในปี 1669 ใช้ในงานพิธีเฉลิมฉลองมากว่า 350 ปี ชุดครุยที่รับปริญญาเขาว่ายังเหมือนกันในศตวรรษที่ 16 โดยมีช่วงพิธีการเป็นรอบๆ เดือนละ 2-3 รอบโดยประมาณ เพราะรอบหนึ่งรับบัณฑิตได้ไม่เกิน 200 คน
พิธีการสั้นๆ เริ่มต้นด้วยผู้ปกครองจะได้สิทธิ์มานั่งชมพิธี 2 คน เดินต่อแถวนั่งมานั่งบนอัฒจันทร์เรียบร้อยสักพัก ก็เริ่มพิธี อธิการบดีหรืออาจารย์มานั่งที่เก้าอี้ข้างหน้าสามสี่คน บัณฑิตใส่สูทเข้ามานั่ง เริ่มอ่านชื่อบัณฑิตไล่จาก ป.เอก จนครบอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น บัณฑิตก็ออกไปแต่งชุดครุย แล้วเดินกลับเข้าใหม่เป็นชุดๆ
อาจารย์จะพูดลาติน แต่ละชุดก็ตอบเป็นคำลาตินสั้นๆ เดินเป็นแถวตอนมาโค้งคำนับแล้วเดินออกไป เป็นอันเสร็จพิธีใน 1 ชั่วโมงครึ่ง บัณฑิตถ่ายรูปยินดีกันเอง ผู้ปกครองทยอยเดินออก ไปถ่ายรูปกันที่ลานด้านข้าง theatre
หลังถ่ายรูปยินดีปรีดาเสร็จก็แยกย้าย บัณฑิตก็ตามสบาย และให้กลับไปที่ college ไปรับใบปริญญาที่ใส่ซองจดหมายน้ำตาลกับเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่มางานรับปริญญาเขาก็ค่อยส่งไปรษณีย์ไปให้ที่บ้าน
ที่นี่ไม่มีไวนิล congratulations ไม่มีป้ายจุดเช็คอิน ทั้งเมืองนี่แหละคือจุดถ่ายรูปเช็คอินที่สวยงาม
ลูกชายจบปริญญาโท Mathematical and Theoretical Physics หลักสูตรตรี-โท เรียน 4 ปี กำลังสมัครที่เรียนต่อ ป.เอก ระบบการศึกษาระดับปริญญาที่อังกฤษเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 3:
ระบบการเรียนการสอนที่ oxford
ประโยคเด็ดที่สุดของลูกชายคือ “เราจ่ายค่าเทอมแพงมาก เพื่อมาอ่านหนังสือเอง”
นักศึกษาทุกคนจะต้องเข้าสังกัด college เลือก college ตั้งแต่ช่วงสอบเข้า มี college ร่วม 30 colleges ลูกชายเลือก Magdalen College ด้วยเหตุผลว่ารุ่นพี่คนไทยที่สนิทแนะนำ ภาพที่เห็นคือ Magdalen College ครับ เก่ามาก สวยงามมาก เป็นทั้งหอพัก ห้องสมุด โรงอาหาร ที่ทำงานอาจารย์ และห้องเรียนติว ใน college จะมีนักศึกษาจากหลายคณะพักด้วยกัน คงเพราะหวังให้คบเพื่อนต่างคณะต่างชาติบ้าง แลกเปลี่ยนวิทยความรู้กันบ้าง ใน College นี้มีนักศึกษาราว 200 คน เรียนฟิสิกส์มีราว 6 คน ซ้ำชั้นไป 1 คน และให้ออกไป 1 คน
แต่ทุกคนก็ต้องออกจาก College ไปเรียนที่คณะ ลูกชายเรียนฟิสิกส์ ก็ต้องเดินไปเรียนที่ภาควิชาฟิสิกส์ ใน 4 ปี เรียนอยู่แค่ 2 วิชา คือ ฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ เรียนลงลึกไปเลย อยู่กับมันทุกวันจนซึมเข้าเนื้อเข้าตัว ป.ตรีเรียน 3 ปี เรียนต่อเนื่อง ป.โท อีก 1 ปี มีนักศึกษา 160 คน จบโทแล้วส่วนหนึ่งไปทำงาน ส่วนใหญ่พยายามหาที่เรียนต่อปริญญาเอกต่อไป
นอกจากเรียนที่คณะ ทุกวิชาก็จะมีนัดติวกลุ่มเล็กสัปดาห์ละครั้งที่ college ของแต่ละคน คืออ่านหนังสือไป discuss ทำการบ้านไปส่ง เอาคำถามที่อ่านเองไม่เข้าใจไปถาม หรือมีการสอนเพิ่มบ้าง
ลูกบอกว่า ”วันหนึ่งเรียนไม่เยอะ ให้อ่านเอง หาความรู้เอง ไม่อ่านไปไม่ได้ เพราะเพื่อนๆอ่านกันจริงจัง นักศึกษาฝรั่งเก่งมาก ไม่อ่านไปก่อนก็เรียนตามไม่ทัน หรือไม่ก็ต้องเรียนไปก่อนแล้วกลับมาอ่านเองให้เข้าใจ จากที่อ่านไม่เข้าใจ ไม่รู้เรี่อง อ่านเองเรียนเองไปนานเข้า ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า ความรู้ที่มี เราอ่านเองเรียนเองได้“
สำหรับผม ผมคิดว่า นี่คือเป้าหมายและความสำเร็จของการศึกษาของเขา คือ ”อ่านเอง ค้นคว้าเอง เรียนรู้ด้วยตนเองเป็น อาจารย์เป็นผู้ช่วยชี้แนะ เช่นนี้วิทยาการจึงจะก้าวไปข้างหน้า“
“เราต้องยอมจ่ายเงินแพงๆเพื่อไปเรียนเองอ่านหนังสือเอง” มันเป็นเช่นนี้จริงๆ
อังกฤษทึ่ผมเห็น ตอน 4:
ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องแลปใต้ดิน
การสอนที่ University of Oxford ในภาควิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ทฤษฎีนั้น ลูกชายบอกว่า อาจารย์สอนโดยเขียนกระดานดำและชอล์คเป็นหลัก เขียนเสร็จก็ชักกระดานขึ้นไปเขียนต่อในกระดานใหม่ ไม่ต้องลบกระดาน เพื่อความเข้าใจแบบเห็นหมด จะได้ตามทัน ส่วนเครื่องฉายโปรเจคเตอร์นั้นก็ใช้ ไว้ฉายรูปฉายวิดิโอเพื่อประกอบเนื้อหาบนกระดานดำ
ผมเคยเรียนปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ที่ Institute of Tropical Medicine เมือง Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี 2011 กระดานดำก็เป็นเช่นนี้แม้จะไม่มากชั้นเท่าที่ Oxford แต่ไม่มีการปิ้งแผ่นใสฉาย powerpoint รัวๆแบบมหาวิทยาลัยเมืองไทย
ส่วนห้องสมุดก็เป็นอีกส่วนสำคัญมากของการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตู้หนังสือจะเป็นแบบรางเลื่อน เพื่อประหยัดพื้นที่เพราะหนังสือเยอะมาก หากรู้ชืีอหนังสือที่ต้องการ ก็ไปบอกบรรณารักษ์ช่วยหาให้ ยืมกลับมาอ่านเอง ไม่ได้ต้องอ่านทั้งเล่ม อ่านเฉพาะบทที่ต้องการรู้ ยืมได้ไม่จำกัดจำนวนเล่ม กำหนดคืนในหนึ่งเดือน ถ้าไม่มีใครจองต่อ เราก็ยืมต่อได้
อาคารเรียนภาควิชาฟิสิกส์ก็น่าสนใจ เป็นอาคารทรงทันสมัย ตัวอาคารบนดินมี 5 ชั้น ที่น่าทึ่งคือมีห้องแลปใต้ดินอีก 5 ชั้น เพื่ิอลดสิ่งรบกวนในการทำการวัดทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการความแม่นยำสูงสุด
ลูกชายบอกว่า เรียน theoretical physics ใช้คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่เจาะทำความเข้าใจจักรวาลหรืออนุภาคระดับควอนตัม ไม่ต้องใช้ห้องแลป ห้องแลปคือสมอง ทำการทดลองในสมอง หรือ brain experiment คือคิดกลับไปกลับมา ตรวจสอบความคิดด้วยตรรกะเหตุผลด้วยคณิตศาสตร์ชั้นสูง ไม่ใช่นั่งมโนเอาเอง ต้องใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ความจริง คณิตศาสตร์จึงสำคัญมากๆ ในการค้นพบความจริงทางฟิสิกส์ทฤษฎี
จบกลับมาใช้ทุนที่เมืองไทย คงเหลืออาชีพเดียวที่เป็นได้ นั่นคืออาจารย์มหาวิทยาลัย!
เครดิต รูปตึกและกราฟฟิกอาคารภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด จาก wikipedia
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 5:
เมื่อนักเรียนสก็อตแลนด์ทัศนศึกษา
ผมอยู่ที่ Edinburgh เมืองหลวงของสก็อตแลนด์ บังเอิญเห็นกลุ่มนักเรียนประถมมาทัศนศึกษา จึงรีบสังเกตทันที
นักเรียนประถมกลุ่มนี้ราว 20 คน มีผู้ใหญ่ซึ่งน่าจะเป็นครูดูแล 5 คน เรียกว่า 1 ต่อ 4 กันเลยทีเดียว นักเรียนใส่เสื้อหนาวเพราะอุณหภูมิราว 10 องศา แต่ทุกคนใส่เสื้อกั๊กทับสีเหลืองสะท้อนแสงแสบตา ทำให้เห็นง่าย ป้องกันอุบัติเหตุรถชน หลงทางก็สังเกตเห็นง่าย
เด็กทุกคนมีแผนที่หรือเอกสารข้อมูลในมือ ครูเล่าครูถามยกมือตอบกันขวักไขว่ เป็นการเรียนนอกห้องเรียนที่ดูมีชีวิตชีวามาก
ส่วนการเดินทางผมไม่รู้ แต่มาตรฐานรถที่เดินทางมาคงเดาได้ว่ามาตรฐานสูงแน่นอน
การทัศนศึกษาคือการเรียนรู้ที่สำคัญของนักเรียนนักศึกษา คือการเห็นโลกแห่งความเป็นจริง ความเสี่ยงย่อมมี แต่ต้องใช้การจัดการที่ดี ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย เพื่ิลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด ซึ่งยังเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย
หวังว่าเหตุการณ์ไฟไหม้รถทัศนศึกษาในครั้งนี้ จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการและความปลอดภัยทางถนนและการทัศนศึกษา การห้ามทัศนศึกษาคงไม่ใช่ทางออก การกำหนดมาตรการจัดการที่เป็นระบบ พอเหมาะ ปฏิบัติได้ คือความหวังของนักเรียนและผู้ปกครอง
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 6:
สนามเด็กเล่น the must of every town
ทุกเมืองในอังกฤษไม่ว่าเล็กใหญ่ เราจะเห็นสนามเด็กเล่นเสมอ มีลานหญ้าสีเขียว กว้างขวางให้วิ่งเล่น กระดานลื่น ชิงช้า เครื่องเล่นให้ปีนป่าย เล็กใหญ่แล้วแต่เมือง เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องจัดให้มี และบำรุงรักษาให้สะอาดและปลอดภัย
สองภาพแรกคือสนามเด็กเล่นที่ Jubilee Park ใกล้หอนาฬิกาบิ๊กเบน ภาพที่ 3,4 อนู่ที่เมือง Edinburgh สก็อตแลนด์ และภาพสุดท้ายคือสนามเด็กเล่นแถบชานเมืองอ๊อกฟอร์ด ทุกแห่งสะอาด เขียวขจี ปลอดภัย และน่าเล่นมากๆ
จริงๆแล้วไม่เฉพาะอังกฤษ เมืองในยุโรปทุกเมืองจะเห็นสนามเด็กเล่นที่ผู้ใหญ่ยังอยากไปเล่น นี่คือรูปธรรมของสิทธิเด็ก ที่ต้องมีพื้นที่กลาง หรือ space ให้กับเด็กในสังคมด้วย และยังเป็นพื้นที่สำหรับสถาบันครอบครัวอีกด้วย
สมัยก่อนที่หาดใหญ่ มีสนามเด็กเล่นกว้างใหญ่ใหญ่น่าจะร่วม 4 ไร่ มีพื้นหญ้าเขียวสวยงามที่หน้าสถานีรถไฟหาดใหญ่ ผมไปวิ่งเล่น โล้ชิงช้า ปีนกระดานลื่นกับเพื่อนๆเกือบทุกวัน พอผมโตมาหน่อย สนามนี้ก็หายไป เปลี่ยนเป็นลานจอดรถ แทบไม่มีพื้นที่สนามเด็กเล่นที่อยู่นอกโรงเรียนอีกเลย จะเล่นต้องไปเข้าห้าง ซึ่งจะอย่างไรก็ไม่เหมือนสนามเด็กเล่นกลางแจ้ง
ผมอยากให้ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างและดูแลสนามเด็กเล่นให้เป็นพื้นที่แห่งการเติบโตของเด็กไทย ให้เติบโตแบบโต้แดดโต้ลมวิ่งเล่นบนสนามหญ้าเขียวให้ใกล้ชิดธรรมชาติมากๆด้วย
อีกกี่ปีหนอ ที่สนามเด็กเล่น จะเป็น the must of every town หรือเป็นสิ่งที่ทุกเมืองในประเทศไืทย ต้องมี และแข่งกันดูแลรักษาให้สวยงาม สะอาด และปลอดภัย??
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 7:
เยี่ยมรัฐสภาสก็อตแลนด์
ผมและครอบครัวเดินเที่ยวในเมืองอะดินบะระ เมืองหลวงสก็อตแลนด์ เดินมาถึงอาคาร Scottish Parliament หรือรัฐสภาสก็อตแลนด์แบบไม่ตั้งใจ เขาให้เข้าไปชมได้ เลยเดินเข้าไป อาคารรูปทรงทันสมัย มีห้องประชุมจำลองให้ดู ขนาดไม่ได้ใหญ่โตแบบสัปปายะสภาสถาน
ที่นี่มี สส.129 คน เป็นสภาเดี่ยว ไม่มีวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งครั้งละ5ปี ตรากฏหมายภายใต้ขอบเขตพื้นที่ แต่รัฐสภาอังกฤษที่เวสมินสเตอร์ก็มีอำนาจยับยั้งหรือปรับแก้ได้
ในนิทรรศการที่แสดง เขาเลือก 6 กฎหมายเด่นที่แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศมาเสนอ ได้แก่
-ในปี 2014 กำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จากเดิมที่มีสิทธิ์เมื่ออายุ 18 ปี เขียนชัดว่า เพื่อให้เสียงของคนอายุ 16,17 ปีถูกได้ยิน
-มีกฏหมายปฏิรูปที่ดิน เขียนชัดว่า เพื่อให้การใช้ที่ดินเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าที่ดินถูกครอบครองโดยขุนนางเก่า landlord ดั้งเดิม จนเป็นอุปสรรคของการสร้างสรรค์สังคม
-นอกนั้นก็เป็นกฎหมายห้ามการสูบบุหรี่ในบางพื้นที่สาธารณะ(ประเทศไทยดีกว่าเยอะ) , ว่าด้วยสิทธิ LBGT+ , ว่าด้วยคนพิการ และ สิทธิพลเมืองในการรับการดูแลจากรัฐจนถึงอายุ 21 ปี
ประเทศเขากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างมาก บทบาทสภาจึงเป็นเรื่องการรับฟังเสียงประชาชนและออกกฏหมาย กรรมาธิการไม่ต้องมาก ไม่วุ่นวาย
ถ้าเรากระจายอำนาจเยอะๆ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ต้องไปให้ถึง สัปปายะสภาสถานจะได้เอามาทำเป็น พิพิธภัณฑ์ หรือโรงพยาบาลให้คน กทม. น่าจะ work กว่า
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 8:
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งลอนดอน
ประเทศโลกที่ 1 ขับเคลื่อนด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำความรู้นั้นมาผลิตทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือแม้แต่การบริการ หนึ่งในการปลูกฝังให้นักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจให้มีความคิดฝันอยากสร้างความรู้ สร้างสิ่งประดิษฐ์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์คือหนึ่งในเครื่ิองมือที่น่าสนใจมาก
ในสหราชอาณาจักร (UK) มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กว่า 200 แห่ง Science Museum ของลอนดอน นับว่าใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เข้าถึงง่ายด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน
นอกจากแสดงจักรกลยุคเก่า ที่น่าสนใจมากๆคือ ว่าด้วยจักรวาลและการสำรวจอวกาศ มีดาวเคราะห์ทรงกลมที่เป็นภาพเคลื่ิอนไหวเปลี่ยนสีได้ที่ดูตระการตามาก หลายส่วนมีกิจกรรมแบบ interactive คือร่วมเล่นร่วมกดร่วมตอบคำถามได้ เข้าชมฟรี เราจะเห็นพ่อแม่หรือครูจะพาเด็กๆมาเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
ความน่าสนใจคือ ใครอุปถัมภ์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์นี้ เอางบมาจากไหน เพราะหลังจากปี 2010 รัฐบาลสนับสนุนงบให้น้อยลงเหลือเพียง 1ใน3 ในปี 2011 พิพิธภัณฑ์ได้ระดมทุนจนได้เงิน 150ล้านปอนด์ มาพัฒนาปรับใหญ่ 5 อาคารพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ในที่เดียวกันให้เป็นพิพิธภัณฑ์ใหญ่เดียวกัน
พิพิธภัณฑ์ต้องหางบมาจัดการเอง จากเวปไซต์ของพิพิธภัณฑ์ระบุว่า รายได้หลักมาจาก เงินบริจาคจากผู้เข้าเยี่ยมชม 15% เงินจากบริษัทยา 15% เงินจากล็อตตารี่(กองสลาก)13% ห้างค้าปลีก9% สถาบันการเงิน8% ภาคพลังงาน8% นี่ก็เป็นความน่าสนใจว่าด้วยความอยู่รอดของพิพิธภัณฑ์
ส่วนของประเทศไทย วิทยาศาสตร์ยังห่างไกล สายมูต่างหากที่มาแรง
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 9:
สถานีรถไฟ King’s Cross และชานชาลาแห่ง Hogwarts school
รถไฟคือการเดินทางหลักของคนอังกฤษ สถานีรถไฟหลักคือสถานีคิงส์คร็อส หรือเทียบเท่าหัวลำโพงบ้านเรา สถานีเก่าแก่แห่งนี้ มีอาคารสถาปัตยกรรมที่สวยเหมือนโบสถ์ ชานชาลากว้างขวางแต่คนเยอะมากจริงๆ
ที่สำคัญมีชานชาลาพิเศษ ชานชาลาที่ 9 เศษ3 ส่วน4 ซึ่งเป็นชานชาลาลับที่แฮรี่ พ๊อตเตอร์ และเพื่อนนักเรียนขึ้นรถไฟไปเข้าโรงเรียนประจำชื่อ โรงเรียนฮ็อกวอร์ท ผู้คนต่อคิวถ่ายรูปกันยาวมากๆๆ
การรถไฟ UK ประชาสัมพันธ์ว่า เขามีพันธกิจที่จะลดการปล่อย CO2 ตามที่สีงคมโลกคาดหวัง โดยการรถไฟสก็อตแลนด์ตั้งเป้าจะให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (net-zero emissions ) ในปี 2045 และส่วนอื่นของสหราชอาณาจักรในปี 2050 ด้วยการยกเลิกการใข้หัวจักรดีเซลทั้งหมด และส่งเสริมให้เกิดการขนส่งสินค้าทางรางแทนรถบรรทุกมากขึ้น รายละเอียดในเวปไซต์บอกถึงขั้นว่า การรถไฟได้สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยหัวรถจักรเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแบตตารี่เพื่ออนาคตด้วย
ทุกองค์กรล้วนตั้งเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน การรถไฟไทยก็คงมีแผนนี้มั้ง เพื่อกอบกู้โลกที่กำลังร้อนขึ้นและภูมิอากาศแปรปรวนขึ้นไปทุกวัน
อังกฤษที่ผมเห็น ตอน 10 :
วัฒนธรรมการอ่าน กับค่าแรงขั้นต่ำ
เด็กสองคนอ่านหนังสือนิยายไซไฟเด็กที่สนามบิน ผู้ใหญ่ฝรั่งหลายคนก็ถือหนังสืออ่าน ส่วนคนเอเชีย คนผิวสี ส่วนใหญ่เล่นมือถือ
ตามท้องถนนมีคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ บางคนนั่งอ่านหนังสือ เพื่อนที่เรียน ป.เอกนิติศาสตร์ที่ลอนดอนบอกว่า เขาเห็นคนไร้บ้านคนหนึ่ง นั่งตรงนั้น อ่านหนังสือทุกวัน น่าจะอ่านมากกว่านักศึกษา ป.เอกเสียอีก
ร้านหนังสือยังมีให้เห็นในเมือง และสถานีการเดินทางต่างๆ หนังสือส่วนใหญ่ราวเล่มละ 10-20 ปอนด์ หรือ 450-900 บาท สำหรับคนไทยก็แพงอยู่ แต่ที่นั่นค่าแรงขั้นต่ำ 12-15 ปอนด์ต่อชั่วโมงครับ (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนี้ 1 ปอนด์และได้ 45 บาท) ทำงาน 1 ขั่วโมงก็ซื้อหนังสือได้ 1 เล่ม หรือกินข้าวได้ 1 จานใหญ่แล้ว
วัฒนธรรมการอ่านสร้างได้ ต้องทำให้หนังสือมีราคาถูกลง การส่งเสริมการเรียนรู้ต้องทำให้ผู้คนมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต หนังสืออ่านแล้วความรู้ซึมยาว ผิดกับวิดิโอโซเชียลที่สั้นเน้นสนุกตื่นเต้นและขายสินค้า
เท่าที่สืบค้น มีทุนสำหรับให้นักเขียนสามารถขอเพื่อการเขียนหนังสือหรือเพื่อการพิมพ์หนังสือได้ แต่ต้องเขียนเป็น proposal ส่งไปให้เขาพิจารณา แต่เมื่อโลกของนักอ่านยังมีเยอะ นักเขียนก็มีโอกาสที่จะเลี้ยงชีพได้ด้วยการเขียนหนังสือขาย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ บันทึกเรื่องราว
เดือนกันยายน 2567
Relate topics
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567
- “พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”
- กิจกรรมตรวจรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SGS PGS ปี 2567
- คณะทำงานเมืองละงูประเมินสถานการณ์รับมือน้ำท่วม กันยายน 67