สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
โดยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมคู่ขนานไปกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๖๗ ประเด็น "พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ" จัดการประชุมสมัชชาจังหวัดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๔.๓๐ น.ณ ห้อง oxford ชั้น ๑ เฟส ๓ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้เข้าร่วม ๑๑๐ คน ประกอบด้วยคณะทำงาน ตัวแทนอปท. องค์กรวิชาชีพ สถาบันวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน รพ.สต.ถ่ายโอน และสนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
กิจกรรมสำคัญ ช่วงเปิดงานเริ่มด้วยการนำเสนอ VTR “บ้านสร้างสุขชุมชน โดยอบจ.สงขลา“ แสดงให้เห็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆในการปรับสภาพบ้านเพื่อคนพิการในพื้นที่จังหวัด เป็นตัวอย่างบริการสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษ “พลิกโฉมกำลังคนสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะจังหวัดสงขลา” โดย นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๒ อดีตผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ นำเสนอตัวอย่างพลเมือง "หน่อคำ" สะท้อนพลังคนตัวเล็กๆที่แม้เป็นคนพิการแต่ไม่ได้เป็นภาระหากเป็นกำลังคนสำคัญในระบบสุขภาพชุมชน และชี้ให้เห็นว่าสุขภาพคือสุขภาวะที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการแก้ปัญหาแบบองค์รวม อาศัยหัวใจความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.จุฑารัตน์ สถิรปัญญา ทีมวิชาการสมัชชาสุขภาพจังหวัด นำเสนอ “ความเป็นมา พัฒนาการ และร่างมติสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา: พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน” ชี้ประเด็นปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความกระจุกตัวของบุคลากรวิชาชีพ และชี้ว่าการดูแลประชากรของวิชาชีพต่างๆที่ควรขยายกรอบคิดรองรับแต่ละกลุ่มประชาชรหรือประชากรเฉพาะอีกด้วย
ทั้งนี้สมัชชาสุขภาพจังหวัดมีกรอบทิศทางเชิงนโยบาย(Policy Statement) ก็คือ ระบบสุขภาพมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานสุขภาวะกาย จิต สังคม ปัญญา และสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต ซึ่งต้องอาศัยการร่วมพลังของพลเมืองและภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนผ่านการจัดการกำลังคนแนวใหม่ ทำงานแบบทีมสหวิชาชีพที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิให้เป็นบริการหลัก ควบคู่กับการเชื่อมโยงระบบบริการให้เข้าถึงปัจจัยและสิทธิพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างครบวงจรไร้รอยต่อ
โดยการเสริมพลังบุคลากรวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพให้เป็นพลเมืองมีสมรรถนะและทัศนคติสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบสุขภาพที่เน้นการประสานเชื่อมโยงไปสู่คุณภาพชีวิต นำภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นสร้างมูลค่าและคุณค่าสนับสนุนการบริการในรูปแบบที่หลากหลาย มีการกระจายตัวของบุคลากรและทีม สร้างการมีส่วนร่วมและร่วมมือกันเสริมสร้างศักยภาพประชาชนให้มีความรอบรู้และทักษะทั้งด้านสุขภาพและทักษะชีวิตที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง โดยมีกลไกสนับสนุนนโยบาย ดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง
โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญ ประกอบด้วย
๑.การยกระดับศักยภาพประชาชนให้เกิดความรอบรู้ กล่าวนำโดย ผศ.พญ.กันยิกา ชำนิประศาสน์ ชี้ประเด็นการเสริมอำนาจประชาชนให้เกิดความรอบรู้ สามารถสร้างเสริมสุขภาพ สร้างรายได้ที่มั่นคง มีความเข้มแข็ง ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน บนฐานของบ้านแห่งสุขภาวะ และใช้พื้นที่ปฏิบัติการร่วมเป็นพื้นที่เรียนรู้ของกำลังคนไปด้วย
๒.การพัฒนาระบบบริการไร้รอยต่อ เกริ่นนำโดย นายชัยยุทธ หลักเมือง ว่าแนวทางหลักควรเป็นไปเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัยให้กับทุกช่วงวัย ด้วยคุณภาพของระบบบริการปฐมภูมิ เน้นเข้าถึงตามสิทธิพื้นฐาน มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีระบบส่งต่อครบวงจร และเสริมบทบาทของสนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีต่อการตอบสนองข้อเสนอทั้งหมด
๓.ยกระดับพลัง และสมรรถนะ ของพลเมือง บุคลากรวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพสุขภาพ เกริ่นนำโดย นพ.เดชา แซ่หลี ผอ.รพ.เทพา โดยเน้นการร่วมสร้างพื้นที่การเรียนรู้บนฐานการมีส่วนร่วมและความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วน สหสาขาความรู้ ที่มีความเข้าใจระบบสุขภาพแบบองค์รวม มีจิตสาธารณะ มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน
๔.การส่งเสริมภูมิปัญญา มูลค่า และคุณค่าทรัพยากรท้องถิ่น โดย ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย ด้วยการนำฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าและคุณค่า สร้างโอกาสเพื่อให้ประชากรมีสุขภาพและผลิตภาพ สนับสนับสนุนกำลังคนด้านสุขภาพและการบริการสุขภาพ ทั้งการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางสุขภาพ พร้อมยกตัวอย่างการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมผ่านการบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน iMedCare
๕.กำหนดนโยบาย แผน แนวทางการปฏิบัติ ที่มีความเป็นไปได้ในปฏิบัติการจริง โดย นางฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ อบจ.สงขลา ที่อาสาเป็นจุดประสานงานกลางระดับจังหวัด เชื่อมโยงภาคีเตรือข่ายที่มาร่วมและตามข้อเสนอจากมติสมัชชาฯ ไปขับเคลื่่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เน้นจัดการความรู้เพื่อนำมาสู่การกำหนดนโยบาย ที่เชื่อมโยงจากระดับตำบลถึงระดับจังหวัด มีกลไกหนุนเสริม ขับเคลื่อน โดยมีระบบสารสนเทศกลางในรูปแบบ Big Data สนับสนุนการขับเคลื่อน พร้อมยกตัวอย่างการทำงานที่เป็นฐานทุนในจังหวัด ได้แก่ การมีการแพทย์ฉุกเฉิน การดูแลการปรับสภาพบ้าน การทำงานแบบ พ.ว.ก.เพื่อดูแลสังคมสูงวัย การทำ center การขนส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ การมี center ดูแลผู้ดูแล และแนวทางการปรับสภาพบ้านให้กับคนพิการติดเตียง สิทธิบัตรทองทุกคน
ผู้เข้าร่วมเติมเต็มข้อเสนอและร่วมเสนอตัวร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาฯดังกล่าว โดยมีนายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. ประมวลภาพรวมของข้อเสนอแนะ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สช. เชื่อมโยงการขับเคลื่อนกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และเสริมพลังการขับเคลื่อนโดย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี ร่วมให้กำลังใจกับเครือข่ายในพื้นที่
ที่ประชุมยังได้ส่งมอบข้อเสนอเชิงนโยบายและให้ข้อเสนอแนะโดยภาคียุทธศาสตร์ ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสงขลา(วิสาหกิจเพื่อสังคม)จำกัด
ช่วงสุดท้าย พิธีปิด มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด นำโดยนายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และผู้แทนภาคีเครือข่าย พร้อมบันทึกภาพร่วมกัน
ชมคลิปย้อนหลัง
Relate topics
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567
- “พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”
- กิจกรรมตรวจรับรองแปลงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ SGS PGS ปี 2567