“พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”

by punyha @2 ต.ค. 67 09:31 ( IP : 124...195 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์ , iMed Care
photo  , 960x540 pixel , 65,686 bytes.

“พูดให้น้อย ทำให้เยอะ : ค่านิยมร่วม HCG ของ iMedCare”

-ก่อนเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน

“พูดให้น้อย ทำให้เยอะ” คือ คำสอนสำคัญของดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย กลายเป็นหลักยึดปฏิบัติเปิดประตูนำทางผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือ Home Care Giver ที่พี่เอ๋ เสาวนีย์ คงประโชติ ผู้ดูแลที่บ้านของ iMedCare ยึดถือ

พี่เอ๋เคยเป็นอสม.มาก่อน มีประสบการณ์ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุติดเตียง อยู่ในพื้นที่ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ภายหลังรู้ข่าวว่ามีการเปิดรับอบรมผู้ดูแลที่บ้าน พี่เอ๋ต้องการความรู้เพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วยจึงเข้ามาสมัครเรียนหลักสูตรการเป็นผู้ดูแลที่บ้าน ที่ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านให้กับประชาชนในพื้นที่

iMedCare คือองค์กรในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย กับมูลนิธิชุมชนสงขลา ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานหลายฝ่าย อาทิ สวทช. อบจ.สงขลา กศส. วช. และศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาศาสตร์ ในการผลิตบุคลาการวิชาชีพใหม่ นั่นคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน(HCG) ดำเนินงานในลักษณะธุรกิจเพื่อสังคม สร้างงานสร้างรายได้ และเสริมระบบบริการในยุครองรับสังคมสูงวัย ให้บริการผู้ป่วยในการดูแลเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น สงขลา

พี่เอ๋ผ่านการสัมภาษณ์จาก ดร.แสงอรุณ อิสระมาลัย จาก 30 คนเหลือ 22 คน เข้าสู่การอบรม 4 สัปดาห์ เรียนรู้ทฤษฎีวิธีการดูแล การพูดคุยกับผู้ป่วย และนำประสบการณ์เดิมมาปรับใช้ จากนั้นมาฝึกปฏิบัติกับหุ่นคนในห้อง lab ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฝึกทำแผลกดทับ การทำความสะอาดร่างกาย การดูดเสมหะ

“เรียนรู้กันก่อนเป็นกลุ่ม แล้วฝึกปฏิบัติด้วยการจับคู่กันแล้วฝึกแยกเป็นรายคน ก่อนที่จะมีการสอบในสัปดาห์สุดท้าย ด้วยการสอบรายคน” พี่เอ๋เล่าย้อนการเพิ่มทักษะการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้านจนได้ใบรับรองจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เรียนทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในห้องแลปไม่พอ ยังจำเป็นจะต้องฝึกภาคสนามอีกด้วย โดยเลือกเคสที่จะดูแล 3-4 รายต่อคน

“อาจารย์สอนให้เราเริ่มด้วยการสร้างมิตรภาพกับผู้ป่วย แล้วค่อยๆไปหา ลงเยี่ยมพูดคุยกับผู้ป่วย หรือญาติ แนะนำตัวเองสร้างความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ พร้อมกับบอกเล่าว่าได้ไปเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยจากคณะพยาบาล ม.อ.เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จากนั้นประเมินผู้ป่วยที่เราต้องดูแลว่าจะต้องมีแผนดูแลอย่างไร สอบถามด้วยว่ามีหน่วยงานไหนมาดูแลบ้าง”

พี่เอ๋เล่าประสบการณ์ฝึกภาคสนาม

“วันนี้หนูมาเยี่ยมก่อน สร้างความคุ้นเคย เพื่อรับรู้ว่าผู้ป่วยต้องการอะไรบ้าง แล้วเราจะทำอะไรให้บ้าง...นี่คือสิ่งที่พี่พูดกับผู้ป่วย”

กลับมาวางแผนงาน และแจ้งไปยังรพ.สต.ต้นสังกัดว่าผู้ป่วยมีอาการจากการประเมินอย่างไร จากนั้นจึงลงเยี่ยมวัดความดัน เจาะน้ำตาล ฝึกออกกำลังกายบนเตียง...ตามแผนการดูแล พร้อมบันทึกการเยี่ยมผู้ป่วยลงในระบบเยี่ยมบ้าน iMed@home เพื่อให้ดร.แสงอรุณ ติดตามผลและเก็บชั่วโมงภาคสนาม

-ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ผู้ป่วยที่พี่เอ๋ดูแล มีการแนะนำผ่านมาจากคนรู้จักในพื้นที่ มายังทีมกลางของ iMedCare ก่อนลงบริการทีมกลางและดร.แสงอรุณ นัดหมายญาติผู้ป่วยลงไปพบผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ประเมินอาการ สอบถามความต้องการ ทำแผนการบริการ พร้อมทำสัญญากับญาติ และหาผู้ดูแลที่บ้านมาดูแล พร้อมพูดคุยวางแผนการดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่อง

“พี่เมื่อพร้อมที่จะเข้ามาอยู่ในองค์กร พี่ดูแลสุขภาพตัวเองพร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา เมื่อพี่เอียดที่เป็นผู้ประสานงานกลางสอบถามมา พี่ยืนยันกับทีมกลางถึงความพร้อมทันที”

ดร.แสงอรุณ ให้คำแนะนำว่าจะต้องมีแผนการดูแลอย่างไร “เคสนี้จะต้องดูดเสมหะ ให้อาหารทางสายยาง” พี่เอ๋เล่าด้วยความภาคภูมิใจ การดูดเสมหะและให้อาหารทางสายยางในแวดวงผู้ดูแลผู้ป่วยหลายคนยังมีความกลัว ไม่กล้ารับงาน และปกติในฐานะอสม.จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อผ่านการเรียนรู้และฝึกมาทำให้พี่เอ๋เกิดความมั่นใจว่าทำได้

“พี่แนะนำตัวเอง สร้างความคุ้นเคยกับผู้ป่วย...ว่าเป็นใคร ต่อไปหนูจะมาดูแลคุณยายนะคะ” พี่เอ๋บอกกับผู้ป่วย ในช่วงที่ผู้ป่วยยังอยู่โรงพยาบาล เตรียมตัวก่อนกลับบ้าน พี่เอ๋จะประกบกับหัวหน้าวอร์ด ซึ่งมีส่วนในการให้คำแนะนำสอนการดูแลผู้ป่วยก่อนส่งกลับบ้าน

ต่อมาผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล กลับไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมสภาพแวดล้อม วางเข้าของให้เป็นระเบียบ จัดเตียง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก

“ทุกวันพี่จะต้องทำหน้าที่ฟีดอาหารให้กับคุณยายผ่านสายยาง กี่มื้อต่อครั้งตามที่นายแพทย์ได้แจ้งไว้...พี่ให้ทานอาหารจะต้องดูดเสมหะเพื่อทำให้ลำคอสว่าง โล่ง”

เช้า...เจาะน้ำตาล วัดไข้ ฉีดยาลดน้ำตาล ให้ยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง ทานอาหาร

เก้าโมง...คุณยายออกกำลังกายบนที่นอน

เที่ยง...อาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย ให้อาหาร ให้ผู้ป่วยนั่งราวครึ่งชั่วโมง พูดคุยเป็นเพื่อน

เย็น...พาผู้ป่วยไปนอกบ้าน ทำกิจกรรมตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับตอนค่ำที่จะต้องทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้ป่วย

“คุณยายชอบฟังเพลงพุ่มพวง พี่ก็เปิดให้ คุยหยอกล้อกันไปเรื่อย” แล้วก็ดูแลในช่วงกลางคืน เปลี่ยนผ้าอ้อม เปิดทีวี.เป็นเพื่อนพูดคุย

“ถ้าเราหลับ คุณยายจะส่งเสียงไอถี่ๆ เราก็ตื่นรู้แล้วว่าคุณยายมีเสมหะ” ดูแลผู้ป่วยอยู่ในสายตาตลอด 24 ชั่วโมง พี่เอ๋ต้องเตรียมเสื้อผ้าไปพักที่บ้านของผู้ป่วย นอนอยู่ในห้องเดียวกัน พร้อมวางแผนการกินอยู่ไปด้วยกับญาติผู้ป่วยไปด้วย ช่วงแรกทานอาหารร่วมกับครอบครัวผู้ป่วย แต่พบว่ากินไม่เหมือนกัน จึงเปลี่ยนมาเป็นอาหารตามสั่ง โดยทุกวันญาติสั่งเป็นอาหารสำเร็จรูปใส่ปิ่นโตมาให้พร้อมทาน

เนื่องจากเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พี่เอ๋เล่าว่าดูแลไปเรื่อยๆ 3-4 เดือนผ่านไป อาการผู้ป่วยดีขึ้นมีการตอบสนองทางจิตใจ และความสัมพันธ์ภายใน “พี่ได้พูดคุยในฐานะลูกสาวคนหนึ่ง ดูแลเหมือนเป็นญาติ เวลาพี่กลับบ้านไป...กลับมาก็หอมแก้มคุณยายทั้งเช้า ทั้งบ่าย ใช้ความสนิท...แทนตัวเองว่าลูก พี่บอกคุณยายว่ามาดูแลคุณยายในวันนี้ในฐานะลูกคนหนึ่ง ให้คุณยายดีขึ้น ยายจะได้อยู่กับลูกหลานนานๆ”

ปัจจุบันดูแลผ่านไป 11 เดือนแล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากอาการเบาหวาน ความดัน ต้องไปฟอกไต เป็นนิ่วในไตระยะสุดท้าย ล่าสุดติดเชื้อในปัสสาวะและกระเพาะอาหาร เข้าห้องไอซียู ที่ห้องไอซียูให้คำแนะนำในการดูแลในแต่ละอาการที่อาจเกิดขึ้นในกรณีโคม่า แต่ปัจจุบัน(เวลาที่สัมภาษณ์ กันยายน 2567)คุณยายออกจากห้องไอซียูโรงพยาบาลมา 3 เดือนแล้ว สุขภาพจิตยังดีเยี่ยม ญาติไม่อยากให้เปลี่ยนคนมาดูแล

10 เดือนแรก พี่เอ๋ไปทำงานดูแลเพียงคนเดียว กระทั่งเดือนที่ 11 ได้มีทีมงานคนอื่นมาสลับ เพื่อให้พี่เอ๋ไม่เครียดกับงานเกินไปและทำหน้าที่อื่นในฐานะภรรยาบ้าง พี่เอ๋ก็ส่งต่อแนวทางดูแลให้กับทีมอย่างใกล้ชิด

-หัวใจของผู้ดูแล

สิ่งที่พี่เอ๋ฝากบอกไปถึงการเข้ามาสู่การเป็นผู้ดูแลที่บ้าน พี่เอ๋อยากให้ทุกคนมีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะเคสดูดเสมหะ ที่มีหลายวิธีในการดูแล ซึ่งผู้ดูแลต้องนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ขณะเดียวกัน ในการดูแลผู้ป่วยให้แยกแยะเรื่องที่บ้าน เรื่องส่วนตัวออกจากงาน หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะหงุดหงิดอารมณ์จากสาเหตุใดก็ตาม ต้องฝึกสังเกต รับรู้อารมณ์ของผู้ป่วยและหาวิธีการรับมือ ใช้ความนิ่ง ความสงบ ทอดเวลาให้ผู้ป่วยเย็นลง

“พูดให้น้อย ทำให้เยอะ” เป็นการดีต่อการเป็นผู้ดูแลที่บ้าน

สำหรับพี่เอ๋แล้ว ภาระหนักหนาที่สุดที่พบก็คือ การกิน “บ้านนี้มีทุเรียนให้กินทุกวัน พี่อยู่มานี่น้ำหนักขึ้น 5 กก.แล้ว” เล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ ใส่ใจ แยกแยะ จัดการอารมณ์ตัวเองให้คงที่ วางแผนการทำงานกับครอบครัวตัวเองให้เข้าใจ

“การอยู่กับผู้ป่วย 24 ชม.กลางคืนนอนบ้าง ไม่ได้นอนบ้าง เราต้องปรับตัวตามผู้ป่วย ผู้ป่วยหลับเราก็หลับ ผู้ป่วยตื่นเราก็ตื่น โดยไม่ติดยึดกับค่าแรงค่าตอบแทนเป็นหลัก ให้ยึดผู้ป่วยเป็นหลัก ทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี”

นี่คือความเชื่อมั่นจากใจของพี่เอ๋ หนึ่งในผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้านของ iMedCare

หมายเหตุ ติดต่อขอใช้บริการ คุณอารี สุวรรณชาตรี 086 2947370


ชาคริต โภชะเรือง  บันทึกเรื่องราว

Relate topics

personมุมสมาชิก

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน

เยือนอเมริกา ดูงานมูลนิธิชุมชน.

เครือข่าย

เครือข่ายมูลนิธิชุมชน