"สุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมือง" กรณีชุมชนแหลมสนอ่อน สงขลา
"สุขภาพปฐมภูมิในชุมชนเมือง"
การเปิดพื้นที่การดูแลสุขภาวะตนเองผ่านระบบสุขภาพปฐมภูมิในระดับชุมชนของเขตเมือง นับเป็นเรื่องใหม่และงานใหม่ที่มูลนิธิชุมชนสงขลาได้ริเริ่มและทดลองทำในช่วงปลายปี 2566 โดยร่วมมือกับชุมชนแหลมสนอ่อน ทน.สงขลา เดินมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว มาถึงวันนี้ จึงถือโอกาสสรุปผลที่ได้รับจากการทำงานร่วมกันระหว่างกับคณะทำงานจัดการความรู้ชุมชน
ชุมชนเมืองมีประชากรต่างถิ่นต่างที่มาอยู่ร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้อาศัยในที่ดินของตัวเองหากเป็นที่ดินรัฐ การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานหลายอย่างมีข้อจำกัด รวมถึงสิทธิด้านสุขภาพ ที่มีเพียงกลไกอสม.ประจำชุมชนดูแล ในส่วนงานปฐมภูมิเชิงรุกยังมีน้อย สมาชิกในชุมชนอาศัยยาจากคลีนิคหรือร้านขายยาแทนที่จะไปศูนย์บริการหรือรพ.ที่ไกลห่างออกไป
ชุมชนก็เริ่มเป็นสังคมสูงวัย มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพิ่มขึ้น การเก็บข้อมูลเริ่มแรกเก็บโดยนักศึกษาวพบ.สงขลา ลงคัดกรองทุกครัวเรือนเน้นกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป เก็บข้อมูลมาได้ 128 คนจากสมาชิก 200 กว่าคน พบปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรังและอีกหลายโรค มีปัญหาด้านหนี้สิน รายได้ที่ไม่เพียงพอ นักศึกษาได้ประสานกลุ่มเสี่ยงมาร่วมให้ความรู้กับกิจกรรมปรับพฤติกรรมไปในเบื้องต้น
จากฐานแบบคัดกรองดังกล่าว มูลนิธิชุมชนสงขลามาพัฒนาให้เข้ากับงานรองรับสังคมสูงวัย และขยายด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเสี่ยง แนวทาง 3 อ.(อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์) 2 ส.(สุรา ยาสูบ) 1 ฟ(สุขภาพช่องปาก) 2 น.(นอนและน้ำหนัก) โดยมีฝ่ายปฐมภูมิ สสจ. ทีมเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.สงขลา คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.มาร่วมให้คำแนะนำ ผนวกกับการรองรับสังคมสูงวัยเพิ่มมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ได้แนวคำถามมาราว 45 ข้อ บวกกับข้อมูลพื้นฐานอีก 12 ข้อ กลายเป็นแบบคัดกรองสุขภาวะรายบุคคล และใช้ระบบกลุ่มของ iMed@home ออกแบบใหม่โดยเฉพาะมารองรับการทำงาน เพิ่มเมนูกลุ่ม ที่มีเมนูย่อย
กลุ่มเสี่ยง/ป่วย ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายดึงรายชื่อทั้งหมดเข้าระบบ มีระบบรายงานผลการคัดกรองในภาพของชุมชน/กลุ่ม มีการทำแผนสุขภาวะรายคน พ่วงกับงานเยี่ยมบ้าน งานสำรวจความต้องการและอื่นๆที่มีอยู่ในระบบแอพพลิเคชั่นเดิม
ที่สำคัญ แบบคัดกรองฯนี้สามารถคัดกรองซ้ำ เพื่อให้เห็นผลการเปลี่ยนแปลง
ชุมชนนำผลการคัดกรองรอบแรกจัดเวทีคืนข้อมูล พร้อมวิเคราะห์สภาพแวดล้อม นำมาสู่การทำแผนสุขภาพและธรรมนูญสุขภาวะเพื่อร่วมแก้ปัญหาที่เกิด พร้อมกับให้ความรู้ถึงสาเหตุแห่งพฤติกรรมเสี่ยง และรับสมัครกลุ่มที่สนใจและตั้งใจปรับพฤติกรรม ได้มา 22 คน นำมาคัดกรองซ้ำผ่านแบบคัดกรองฯดังกล่าว เดือนละครั้ง(โดยเฉลี่ยหรือ 2 เดือนครั้ง) และมีกิจกรรมพบปะเพื่อสร้างการเรียนรู้ พร้อมกับคืนข้อมูลผลการคัดกรองเป็นระยะผ่านห้องเรียนและกลุ่มไลน์
ครึ่งปีผ่านไป สิ่งที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว วัดจากข้อมูลการคัดกรองที่ดำเนินการโดยอสม.ประจำชุมชน พบข้อมูลที่น่าสนใจและบทเรียนหลายประการที่จะนำไปพัฒนาระบบบริการต่อ
ข้อมูลจากการคัดกรองรายครั้ง จากการคัดกรอง 4 ครั้ง(ไม่นับครั้งที่หนึ่งที่มีเพียงกลุ่มทดลองไม่กี่คน) จำนวนกลุ่มที่สมัครใจคัดกรองครั้งที่หนึ่ง 19 คน คัดกรองครั้งที่สอง 22 คน คัดกรองครั้งที่สามมีคนร่วม 13 คน และครั้งล่าสุด มีคนร่วม 17 คน
-โรคประจำตัว พบข้อมูลกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคให้ความสนใจร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคความดัน ไขมันในหลอดเลือด เบาหวาน จะมีมากกว่าโรคอื่น กลุ่มป่วยเหล่านี้มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง
-สุขภาพประจำเดือน BMI พบข้อมูลกระจัดกระจาย(ควรวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงรายคน) ความดันโลหิต (ตัวเลขบางคนแกว่งไม่อยู่ในเงื่อนไขของการแบ่งสี ทำให้ไม่ปรากฏในรายงาน) สีขาว สีเขียวอ่อนมีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น เป็นผลมาจากการเข้าถึงระบบบริการและมีการใช้ยาควบคุม กรณีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเพียงเล็กน้อย อุจจาระร่วงก็เช่นกัน ในส่วนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อพบว่าช่วงแรกมีคนป่วยจำนวนมาก แต่คัดกรองสองครั้งหลังมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนอุบัติเหตุ/สัตว์มีพิษกัดไม่พบเกิดขึ้นในช่วงสองครั้งหลัง ทว่าในส่วนของสุขภาพช่องปากพบมีปัญหามากขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด
-ด้านอาหาร ทั้งหมดมีภาวะโภชนาการสมวัย แหล่งอาหารมีการจัดทำเอง ซื้ออาหารสำเร็จรูปและจากตลาดนัดตามลำดับ มีช่วงครั้งสุดท้ายที่พบไปรับประทานอาหารในร้านอาหารเพิ่มขึ้น รสชาติอาหารที่ควบคุมจะเท่ากันคือ หวาน มัน เค็ม เฉพาะรสเผ็ดที่ควบคุมน้อยที่สุด การกินส่วนใหญ่ไม่กินจุหรือกินจุกจิก ในส่วนน้อยที่กินจุกจิกจะเป็นขนมกรุบกรอบ การกินผักผลไม้ส่วนใหญ่จะกินทุกวัน และมีเพิ่มขึ้นในส่วนการกิน 1-3 วัน การดื่มน้ำพบว่าที่เคยดื่มมากกว่า 8 แก้วมีจำนวนลดลงแต่ที่ดื่ม 5-8 แก้วมีจำนวนเพิ่มขึ้น
-การออกกำลังกาย พบว่ามีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ โดยมีความถี่ออกกำลังกายทุกวันลดลง แต่มีเพิ่มขึ้น 2-3 วันและ 3-5 วันต่อสัปดาห์ และมีระยะเวลาในการออกกำลังกายมากกว่า 30 นาทีเพิ่มมากขึ้น
-ด้านอารมณ์ มีความกังวล ความเครียดน้อยลง เช่นเดียวกับการนอนหลับพักผ่อนที่มีเพียงพอมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
-ด้านปัจจัยเสี่ยง คัดกรองล่าสุดไม่พบผู้สูบบุหรี่ ส่วนดื่มสุราพบเพียง 1 คน
-การใช้ยาชุด ยาลูกกลอน ไม่พบมีการใช้ในการคัดกรองสามครั้งล่าสุด
-มีปัญหาการมองเห็นมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนการได้ยินมีปัญหาคงตัวเช่นเดียวกับการมีปัสสาวะเล็ดเรี่ยราด
-ระดับความตื่นตัวในความต้องการปรับพฤติกรรมพบที่ตอบว่ามากที่สุดเพิ่มขึ้น รองลงมาคือมาก
-ด้านเศรษฐกิจ ยังคงใช้จ่ายอย่างประหยัดและอดออม ไม่ได้แตกต่างจากเดิม โดยมีค่าใช้จ่ายหลักเป็นเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก มีการจัดการกับหนี้สินได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม แต่อาชีพเสริมหรือสำรองยังไม่มีเพิ่มขึ้นรวมถึงการออมที่ยังคงไม่มีเป็นส่วนใหญ่
-ด้านสังคม ทั้งหมดไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่ม การทำประชาคม
-สภาพบ้าน ต้องการปรับปรุง โดยเฉพาะหลังคา ห้องนอน ห้องน้ำ
-การคัดแยกขยะ มีการดำเนินการบางครั้งเพิ่มมากขึ้น
ได้ขยายผลไปทำในชุมชนอื่นอีก 5 แห่ง คือ ชุมชนย่านเมืองเก่า ทน.สงขลา ชุมชนเขตเศรษฐกิจ ทม.ปาดังเบซาร์ ชุมชนบ้านทุ่ง ทม.สะเดา ชุมชนบ้านคลองผ่าน ทต.คลองแงะ ชุมชนบ้านเพนียด อบต.แค และร่วมกับรพ.สต.ถ่ายโอน อำเภอสิงหนคร /ควนเนียง ในตำบลควนโสและตำบลป่าขาด
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567