"ธรรมนูญชุมชนรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านทุ่ง" เทศบาลเมืองสะเดา สงขลา
"ธรรมนูญชุมชนรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านทุ่ง"
วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 กิจกรรมย่อยที่ 3 การจัดเวทีประชาคมจัดทำแผนสุขภาวะและธรรมนูญชุมชน ณ ที่ทำการชุมชนบ้านทุ่ง ทม.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา
มีผู้เข้าร่วมจำนวน 140 คน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพอนามัยของประชาชนแบบบูรณาการ ปีงบประมาณ 2567 รับผิดชอบโดยกองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และโครงการ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2567 ดำเนินโดย สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา/มูลนิธิชุมชนสงขลา ภายใต้แนวทางการรองรับสังคมสูงวัยของพื้นที่ ดำเนินการร่วมกับเทศบาลเมืองสะเดา และท้องถิ่นจังหวัดสงขลา
การจัดทำธรรมนูญฯ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยได้คัดกรองสุขภาวะรายบุคคล 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม ผ่านแอพพลิเคชั่น iMed@home ดำเนินการกับกลุ่มเสี่ยง/ป่วย อายุ 35 ปี ขึ้นไปจำนวน 100 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ มาเป็นฐานในการวิเคราะห์ โดยมี นายอับดลรอหมาน กาเหย็ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดกิจกรรมพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
ชุมชนบ้านทุ่งเป็น 1 ใน 19 ชุมชนอยู่ในพื้นที่เทศบาลเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีประชากรทั้งสิ้น 1,330 คน ชาย 638 คน หญิง 692 คน 329 ครัวเรือน เป็นชุมชนดั้งเดิมในอดีตมีการทำนาเป็นอาชีพหลัก สภาพพื้นที่โดยรอบเป็นท้องทุ่ง ปัจจุบันมีการขยายตัวของเมือง มีประชากรเพิ่มขึ้น
สภาพปัญหาโดยรวม ด้านสุขภาพพบมีโรคประจำตัว ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง อ้วน ไม่ออกกำลังกาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฟันผุ มีปัญหาการมองเห็น การได้ยิน ด้านเศรษฐกิจต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดและอดออม มีหนี้ ด้านสังคมเริ่มมีสมาชิกรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
สาระสำคัญ "ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยชุมชนบ้านทุ่ง"
ข้อตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านทุ่ง ใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในชุมชน อยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ และใช้เป็นแนวทางการส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาพื้นที่ และสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชนสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ
วิสัยทัศน์ ชุมชนมีสุขภาพที่ดี ลดขยะ ลดโรคเรื้อรัง ลดหนี้ มีรายได้ มีความรักเกื้อกูลสามัคคี
ระยะเวลาดำเนินการ ปีพ.ศ.2567-2671
โดยมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้
1.ด้านสุขภาพ
เป้าหมาย ส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย เอาชนะโรคเรื้อรัง สามารถรวมกลุ่มในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพ
ข้อตกลงร่วม
1.ทต.บ้านทุ่ง อสม. และชุมชนบ้านทุ่ง ร่วมดำเนินการ 1.1 รวมกลุ่ม 20-30 คน จัดให้มี Health station คัดกรองสุขภาวะรายคน คืนข้อมูลสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารที่ถูกต้อง(กินให้เป็น กินให้ถูกกับโรค กินทดแทน ลดอาหารแปรรูป อ่านฉลากเครื่องปรุงได้) รวมถึงโทษของยาชุด การออกกำลังกายที่เหมาะสม การผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด การดูแลสุขภาพในช่องปาก การลดน้ำหนัก การพักผ่อนและนอนหลับ การนำของเหลือใช้ในครัวเรือนมาใช้ประโยชน์ การปลูกผักในครัวเรือน
1.2 ครัวเรือนทำอาหารกันเอง ให้ถูกหลักอนามัย เน้นการนึ่ง ลวก ต้ม มากกว่าทอด ลดเครื่องปรุง กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยลดหวาน มัน เค็ม
1.3 ส่งเสริมการใช้น้ำสมุนไพรงดน้ำอัดลมในงานบุญ
1.4 ส่งเสริมการรวมกลุ่มออกกำลังกาย มีรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย อาทิ รำกระบอง โยคะ ปั่นจักรยาน แอร์โรบิค ตะกร้อ
1.5 ให้มีเครื่องออกกำลังกายและลานสุขภาพในชุมชน
1.6 ครัวเรือนมีการปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย เช่น ผักตำลึง ชะอม มะเขือ แตงกวา ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว พริก ตะไคร้
1.7 สมาชิกงดการใช้ยาชุด ลดไขมัน ลดความเครียด ลดการปวดและสร้างสมดุลในร่างกาย ด้วยมณีเวช 5 ท่า
1.8 มีทีมสหวิชาชีพ CM,CG ลงเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงเดือนละครั้ง
1.9 ส่งเสริมตลาดอาหารปลอดภัย ร้านค้าต้นแบบที่ส่งเสริมเมนูชูสุขภาพ
1.10 จัดระบบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ผ่านช่องทางเสียงตามสาย รถแห่ กลุ่มไลน์ เฟชบุ๊ค และปากต่อปาก
1.11 ร่วมกันใช้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์สร้างสุขชุมชน และนำอุปกรณ์การแพทย์ที่ชำรุดมาซ่อมยังศูนย์ซ่อมสร้างสุข
2.ด้านเศษฐกิจ
เป้าหมาย สร้างความรอบรู้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แก้หนี้ พึ่งตนเองบนฐานวิถีชุมชน
ข้อตกลงร่วม
1.ทม.สะเดา ร่วมสร้างความรอบรู้ การจัดการเงิน การจัดการหนี้ในครัวเรือน การลดรายจ่ายในครัวเรือน
2.รวมกลุ่มแม่บ้านลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาเอนกประสงค์ ฯลฯ
3.ส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชน ขยายผลทักษะฝีมือ งานช่างในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ เช่น การจัดขันหมากงานแต่ง ดอกไม้จันทน์ น้ำพริก เครื่องแกง ชาสุขภาพ สเปรย์ โลชั่นกันยุง แปรรูปผักตบชวา
4.ส่งเสริมส้มโอ 100 ปีบ้านทุ่ง กาแฟชะมด ภูมิปัญญาการจักสาน กรือโป๊ะ โกโก้
5.ส่งเสริมการตลาด จัดตลาดริมน้ำ รวมกลุ่มจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ได้แก่ ข้าวยำ ส้มโอ ข้าวเกรียบเห็ดนางฟ้าดำ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มไลน์
3.ด้านสังคม
เป้าหมาย สร้างความสัมพันธ์ในครัวเรือนและชุมชน เพิ่มความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกัน
ข้อตกลงร่วม
1.สมาชิกในชุมชนช่วยเหลือกันและกัน เข้าเป็นสมาชิก ดูแลชุมชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสตั้งแต่เกิด เจ็บป่วย เสียชีวิต ด้วยกองทุนซะกาต กองทุนฌาปนกิจ กองทุนสัจจะวันละบาท
2.ร่วมกับกองทุนแม่ของแผ่นดิน และ CBTX ชุมชนยั่งยืน ดูแลเยาวชนจากปัญหายาเสพติด
3.จัดตั้งกลุ่มเพื่อนดูแลเพื่อน ไต่ถามสาระทุกข์สุกดิบ เป็นที่ปรึกษากันและกัน
4.โรงเรียนผู้สูงอายุขยายกิจกรรมคน 3 วัย ส่งเสริมกิจกรรมสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างผู้สูงอายุและคนต่างวัย
5.ส่งเสริมความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ สมาชิกในครอบครัวช่วยทำอาหารในงานบุญ
6.สมาชิกในครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ ร่วมทำพินัยกรรมชีวิต เตรียมพร้อมการจากไปอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข
4.ด้านสภาพแวดล้อม
เป้าหมาย ป้องกันการพลัดตกหกล้ม ของสมาชิกในครัวเรือนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และใช้ประโยชน์จากขยะ
ข้อตกลงร่วม
1.ทุกครัวเรือนปรับสภาพบ้าน เพิ่มราวจับในห้องน้ำ มีแผ่นกันลื่น เพิ่มทางลาด ลดทางต่างระดับ
2.ทม.สะเดา ร่วมกับชุมชนปรับสภาพบ้าน คัดกรองและจำแนกประเภท
1)กรณีบ้านคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง...ประสานของบจากพมจ. อบจ. ปรับภาพบ้าน
2)บ้านใหม่ ก่อนสร้างบ้านควรมีแบบแปลนบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุในอนาคตและกองช่างทม.สะเดาระบุเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขในการสร้างบ้านแต่ละหลัง แต่ละโครงการ
3)กรณีบ้านที่สร้างมานานแล้ว แต่ละบ้านสำรวจและวางแผนปรับสภาพบ้านรวบรวมข้อมูลจุดที่ต้องการเพิ่มราวจับ สิ่งอำนวยความสะดวก ทม.สะเดาช่วยประสานหาช่างหรือสนับสนุนให้มีช่างชุมชนมาดำเนินการ
3.มีเบอร์โทรฉุกเฉินในชุมชน เพื่อช่วยดูแลผู้สูงอายุและสร้างความปลอดภัย
4.จัดการขยะเพื่อนำไปสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ
4.1 ทม.สะเดาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะที่สามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ การแปรรูปรูปขยะจากมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน การนำขยะรีไซเคิลมาแปรรูปหรือใช้ประโยชน์ซ้ำ เช่น ล้อยาง ขวดน้ำ ลังโฟม โครงสร้างเตนท์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว
4.2.ส่งเสริมให้มีกองทุนจากขยะ ทั้งขยะเปียกและขยะรีไซเคิล
4.3.ทม.สะเดาและชุมชน ร่วมกันจัดการขยะในที่สาธารณะ
4.4.ชุมชนงดใช้โฟมบรรจุอาหาร
5.ด้านการบริหารจัดการ
เป้าหมาย มีกลไกขับเคลื่อนธรรมนูญหรือข้อตกลงในชุมชน มีการติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ
ข้อตกลงร่วม การจัดทำธรรมนูญฯนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำแผนรองรับสังคมสูงวัย ทม.สะเดา และอาศัยกลไกคณะทำงานที่มีการประกาศคำสั่งร่วมดำเนินการ ขยายผลไปยังชุมชนอื่น และมีการติดตามประเมินผลสม่ำเสมอ
Relate topics
- "ประชุมกลุ่มย่อยผู้รับบริการ" พื้นที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง
- "ประชุมกลุ่มย่อยผู้รับบริการ" พื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย
- ประชุมทีมบ้านสร้างสุข ครั้งที่ 4
- ซิงกอร่า ซีเคร็ท สบู่อาบน้ำผสมพร๊อพเพอรีส สินค้าเด่นบริษัทประชารัฐฯสงขลา
- มาลองสู้กับความเจ็บป่วยทางสังคมสักตั้ง!!
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"