13 วัน 66 คน พอไหวนะ
13 วัน 66 คน พอไหวนะ
รถตู้ลดเหลื่อมล้ำ เปิดบริการไปแล้ว 13 วันทำการ มีผู้รับบริการแล้ว 66 คน สัปเาห์แรกก็ใจหายนิดหน่อย คนมาใช้บริการน้อยเพราะส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ผ่านไป 2 สัปดาห์ คนขับรถบอกว่า “ไม่เหงาแล้ว”
สำหรับคนรับบริการ 66 คน โรงพยาบาลเก็บค่ารถไปกลับคนละ 150 บาท ก็ได้เงินเข้าระบบมา 9,900 บาท ต้นทุนเฉลี่ยวันละ 1,000 บาท ก็เป็นเงิน 13,000 บาท โรงพยาบาลยังขาดทุนนิดหน่อย
ถ้า 66 คนนี้เหมารถไปเอง ราคามิตรภาพ คิดคร่าวๆขั้นต่ำคนละ 1,000 บาท ก็เป็นเงินที่เขาต้องจ่าย 66,000 บาท แปลว่า ลดรายจ่ายของผู้ป่วยและญาติโดยรวมลงได้ 56,100 บาท ผมคำนวณเล่นๆ ในอัตรานี้ ทั้งปีเราจะลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติได้อย่างน้อยเดือนละแสนบาท หรือปีละ 1.2 ล้านบาท ไม่น้อยเลยครับ
ในทางทฤษฎี indirect cost (ค่าใช้จ่ายทางอ้อม) คือหนึ่งในอุปสรรคสำคัญสำหรับการเข้าถึงบริการ รถตู้ลดเหลื่อมล้ำช่วยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้พอสมควร
เปิดบริการมา 13 วัน มีหลายคำถาม ที่น่าสนใจ
คนไข้ที่นอนโรงพยาบาลสงขลาแล้วหมอให้กลับบ้าน จะติดรถกลับมาได้ไหม คำตอบก็ชัดเจนว่า ได้ ถ้ารถยังว่าง มีที่นั่ง ยินดีมาก
ช่วงแรกยังมีผู้มารับบริการน้อย มีคนเดียวเราจะออกรถไหม ขาดทุนเห็นๆ คำตอบคือ ออกรถแน่นอน มิเช่นนั้นเขาก็จะเสียโอกาสในการตรวจตามนัด เราให้บริการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร
มีคนไข้จากลำไพล อำเภอเทพาที่อยู่ข้างเคียง ขอใข้บริการด้วยได้ไหม คำตอบก็ชัดว่า ถ้ารถไม่เต็มก็ได้แน่นอน คนลำไพลก็ควรได้ไปหาหมอตามนัดโดยไม่มีภาระค่าเดินทางจนเกินควรเช่นกัน
สิ่งสำคัญสองประการคือ ผมต้องขอขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสงขลาแทนผู้ป่วย ที่ช่วยบริการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างเข้าใจและอบอุ่น คนไข้ชื่นชมมาจริงจังครับ และต้องชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของทีมโรงพยาบาลสะบ้าย้อยด้วยเช่นกัน
ตอนแรกว่าจะรอครบเดือนแล้วค่อยรายงาน แต่อดไม่ได้ที่จะบอกกล่าวสิ่งดีๆเล็กๆในอำเภอไกลสุดกู่ “สะบ้าย้อย” ครับ
หมายเหตุ
ศ. 5 มกราคม 2567 : 8 คน (เปิดบริการวันแรก)
จ. 8 มกราคม : 2 คน
อ. 9 มกราคม : 1 คน + รับผู้ป่วย discharge กลับบ้าน 2 คน
พ. 10 มกราคม : 0 คน
พฤ. 11 มกราคม : 2 คน + ส่ง จนท. ประชุม 1 คน
ศ. 12 มกราคม : 6 คน
จ. 15 มกราคม : 6 คน
อ. 16 มกราคม : 2 คน + ส่ง จนท.ประชุม 2 คน
พ. 17 มกราคม : 9 คน + ส่ง จนท.ประชุม 4 คน
พฤ. 18 มกราคม : 4 คน
ศ. 19 มกราคม : 7 คน
จ. 22 มกราคม : 11 คน
อ. 23 มกราคม : 6 คน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ บันทึก 26 มกราคม 2567
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567