"การปรับตัวของชุมชน"
"การปรับตัวของชุมชน"
ภายใต้โครงการถอดบทเรียนชุมชนรับมือโควิด-19 มีโอกาสได้นำเครื่องมือ 7 ชิ้นของนพ.โกมาตรบางส่วนมาปรับใช้ในการทำงานกับชุมชนแหลมสนอ่อน ทน.สงขลา
มีบทเรียนที่อยากมาแลกเปลี่ยนครับ
เครื่องมือเหล่านี้อดีตเป็นส่วนที่ข้าราชการไปทำให้ แต่เมื่อเปลี่ยนมาให้ชุมชนดำเนินการเอง เท่ากับเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ชุมชนรู้จักตนเองทั้งในด้านปัญหาและศักยภาพ ทั้งในเชิงกายภาพ ตัวบุคคล สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ความคิดความเชื่อ หลากมิติที่ดำรงอยู่ในชุมชนมิได้อยู่โดดเดี่ยวจากกัน หากสัมพันธ์ยึดเกี่ยว ส่งต่อพลังทั้งบวกและลบเข้าหากัน
พร้อมเดินเข้าสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็ง
1)แผนที่ชุมชน...ทำให้มองเห็นเชิงกายภาพ เชิงครัวเรือน ลงลึกได้ถึงระดับบุคคล/หัวหน้าครัว ลักษณะเชิงกายภาพ จุดเสี่ยง หรือแหล่งมั่วสุม วิถีของชุมชน มีข้อมูลหลากหลายให้เก็บ ชั้นแรกที่นี่มีปัญหาร่วมด้านที่อยู่อาศัย จึงนำเรื่องหลักมาดำเนินการก่อน...เก็บข้อมูลบ้านเลขที่ ไม่มีเลขที่ บ้านที่มีเจ้าบ้าน ไม่มีเจ้าบ้าน บ้านเช่า หรือบ้านที่ต้องการขอเช่าจากธนารักษ์ หรือยังรีรอไม่มั่นใจ ด้วยชุมชนยังแยกออกเป็น 2 กลุ่ม อันเกิดจากพัฒนาการชุมชนที่ถูกรัฐจัดระเบียบให้มาอยู่ในสถานที่ของธนารักษ์หากไม่ได้ดำเนินการเช่าให้ถูกต้อง ด้วยเงื่อนไขและปัญหานานาที่มีพัฒนาการมากว่า 30 ปี
แผนที่ทำให้ชุมชนลงลึกไปถึงสมาชิกในแต่ละครัวเรือนว่ามีกี่คน ชาย หญิง อายุ ความเจ็บป่วย ประชากรแฝง ข้อมูลเหล่านี้ทีมงานค่อยๆดึงออกมาทีละเรื่อง
2)ผังองค์กรชุมชน วิเคราะห์ในเชิงความสัมพันธ์ และทุนขององค์กรว่ามีกี่กลุ่ม กี่พวก มีใครเป็นผู้นำ สมาชิกชาย หญิง หรือเพศที่สาม ใครอยู่ในกลุ่มใด หรืออยู่ในหลายกลุ่ม ผังองค์กรและสมาชิกในชุมชนจะทำให้สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ใครไม่ถูกกับใคร หากจะทำงานด้วยกัน จะมีใครสามารถไปสื่อสารแทนได้ การมองแบบวิเคราะห์รายกรณีจะช่วยให้ชุมชนสามารถจัดขุมกำลัง จัดระบบการทำงานได้อย่างมีศิลปะ คลี่คลายความข้ดแย้งและทำให้เดินหน้าไปได้
รวมไปถึงองค์กร เครือข่ายภายนอกที่มาเสริมหนุนชุมชน
3)ประวัติศาสตร์ชุมชน การค้นลึกผ่านอดีต ย้อนมองที่มา การก่อตัวของชุมชน การเข้าออกของผู้คน รวมถึงเหตุการณ์สำคัญๆที่มีผลต่อชุมชน ช่วยให้ตระหนักถึงความเป็นมา กรณีแหลมสนอ่อน ถูกรัฐจัดระเบียบถึง 2 ครั้ง ชุมชนดั้งเดิมในทน.สงขลาจำนวนหนึ่งถูกย้ายไปจากที่นี่ โดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน
4)ต้นไม้ระบบสุขภาพชุมชน เรื่องนี้ปรับเพิ่มจากต้นไม้ปัญหา ซึ่งทางสสส.ดำเนินการอยู่ นำวิธีการและมุมมองทางระบบบริการสาธารณสุขมาเสริม บวกกับการวิเคราะห์ปัจจัยสุขภาพ โดยเฉพาะปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ทำให้สามารถมองเห็นรากความคิด/ความรู้/ภูมิปัญญา ที่หยั่งลึกอยู่ในชุมชน เห็นผู้นำหรือกติกาที่เปรียบประดุจลำต้น เห็นกิ่งก้าน ใบ คือคน วัสดุ มาตรการ พฤติกรรม สภาพแวดล้อม กฏหมาย/นโยบาย-สิทธิพื้นฐานที่มีในส่วนปัจจัยสำคัญๆส่งผลให้เกิดผล...ที่มีได้ทั้งผลไม้พิษ หรือผลไม้สุกพร้อมทาน
ในตัวของมันก็มีหลากมิติ ทั้งในส่วนของการจัดการร่วม หรือต่างคนต่างทำ หรือชุมชนจัดการเอง ช่วยตัวเอง มีทั้งระดับพื้นที่ ระดับเทศบาล ระดับจังหวัด ระดับชาติ
แล้วก็มีสถานการณ์ที่แตกต่างไปก็ส่งผลที่แตกต่างไปด้วยระหว่างช่วงปกติ กับสถานการณ์วิกฤต เห็นได้ชัดว่าทุนทางสังคมที่สะสมในระดับราก ต้น กิ่งก้าน ใบ ปัจจัยเอื้อต่างๆเหล่านี้ส่งผลเป็นอย่างยิ่งต่อการรับมือและเผชิญกับความเสี่ยงที่ลงมากระทบกับชุมชน
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567