"ร่างยุทธศาสตร์เมืองโครงการ SUCCESSภาคใต้"
"ร่างยุทธศาสตร์เมืองโครงการ SUCCESSภาคใต้"
วันที่ 3-4 กันยายน 2565 ประชุมเชิงปฏิบัติการกิจกรรม 2.1-2.3 และ 3.1ร่างแผนยุทธศาสตร์เมืองภายใต้โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง(SUCCESS) พื้นที่ภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป โดยมีดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา นายชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา ดำเนินการ ณ ห้องประชุมโรงแรมโกลว์รัตนาเพลส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
โดยมีองค์กรประชาสังคม ได้แก่ สมาคมอาสาสร้างสุข สมาคมผู้บริโภคจังหวัดสตูล แกนนำ 6 เมืองในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้แก่ เมืองบ่อยาง เมื่องพะตง เมืองควนลัง และเมืองปาดังเบซาร์ เมืองในจังหวัดสตูลได้แก่ เมืองละงู เมืองในจังหวัดพัทลุงได้แก่ เมืองโตนดด้วน นำผลการประเมินความเปราะบางของเมืองเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมายกร่างแผนยุทธศาสตร์ เพื่อนำแนวทางดำเนินการไปเสนอแนะผลักดันเข้าสู่แผนงานหรือนโยบายขององค์กรที่รับผิดชอบ และนำมาจัดทำโครงการนำร่องที่จะดำเนินการด้วยตนเอง
ตัวอย่างยุทธศาสตร์ของเมือง อาทิ เมืองพะตง มีวิสัยทัศน์ของตนว่า "พะตงบ้านฉัน ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมพัฒนา มวลประชาเป็นหนึ่งเดียว" เป็นแผน 3 ปี เชื่อมประสานสมาชิกในเมืองที่มีทั้งคนดั้งเดิม แรงงานต่างด้าว ต่างถิ่น ผู้บุกรุกที่ดินรถไฟ มาเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของชุมชนในฐานะบ้านเดียวกัน มียุทธศาสตร์หลัก พัฒนากลไกบูรณาการการแก้ปัญหาร่วมกัน ในด้านการบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
เมืองละงู มีวิสัยทัศน์ว่า "ละงูเมืองแห่งการร่วมมือร่วมใจ อนุรักษ์สายน้ำมีชีวิต บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและพหุวัฒนธรรม" ดำเนินการ 5 ปี เน้นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง การฟื้นฟูระบบนิเวศสร้างสมดุลฐานทรัพยากร และการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่คลองละงู เปลี่ยนมุมมองต่อสายน้ำที่จะมิใช่ทรัพยากร แต่เป็น "สายน้ำมีชีวิต" ที่จะอยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างเท่าเทียม และยกระดับเครือข่ายมาเป็นองค์กรภาคประชาชน/นิติบุคคลในการร่วมบริหารจัดการ บนฐานธรรมนูญสายคลอง
เมืองบ่อยาง มีวิสัยทัศน์ "เมืองบ่อยางมีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมสร้างชุมชนสีเขียว มีที่อยู่อาศัยมั่นคง มีอาชีพและรายได้เพียงพอ" ภายใน 3 ปี เน้นยุทธศาสตร์ การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ยกระดับเครือข่ายเป็นองค์กรนิติบุคคล พัฒนาศักยภาพสมาชิกให้เข้มแข็ง พึ่งตนเอง ช่วยเหลือกันเอง และร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการชุมชนตนเองในด้านสิ่งแวดล้อม การรับมือภัยพิบัติ และการพัฒนาเมือง
ข้อเสนอแนะสำคัญจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย คือ การปรับแนวคิดการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรมองไปถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น เตรียมมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน รวมถึงทบทวนมาตรการที่ผ่านมา เช่น การใช้มาตรการสิ่งก่อสร้าง แนวคิดโครงการที่แยกส่วน ไม่ได้มองเชื่อมโยงกับโครงสร้่างเมืองหรือความเป็นธรรมสำหรับทุกคน หันมาใช้ระบบนิเวศในการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเมืองที่จะต้องรองรับสิ่งใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามามากกว่าแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้การทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของเมืองตนเอง เพื่อเป็นตัวร่าง ก่อนที่จะนำไปให้คณะทำงานและเครือข่าย หรือภาคียุทธศาสตร์ร่วมให้ข้อเสนอแนะและสร้างการมีส่วนร่วมต่อไป
หมายเหตุ การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นการมีส่วนร่วมระดับสูงสุดคือ เกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงข้างล่างผลักดันไปสู่โครงสร้างด้านบน
Relate topics
- "kickoff รถรับส่งผู้ปวยตำบลควนโส"
- "รถเติมสุขอำเภอนาทวี"
- "รถเติมสุขอำเภอสะบ้าย้อย"
- "พัฒนาระบบรถรับส่งผู้ป่วยพบแพทย์ตำบลคูหา"
- "ประชุมทีมเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา"
- "พัฒนาระบบบริการรถรับส่งผู้ป่วยพบแพทย์ อบต.บาโหย"
- พัฒนาPlatform รองรับบริการรถรับส่งสาธารณะจ.สงขลา
- กลางเดือนมีนาคม 2568 ดีเดย์เริ่มทดลองวิ่งรถบริการ
- การเก็บข้อมูลเพื่อปรับสภาพบ้านคนพิการติดเตียง
- "เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา" ประชุมแกนคณะทำงานครั้งที่ 1/2568