"อีกด้านหนึ่งของเมืองสงขลา"
"อีกด้านหนึ่งของเมืองสงขลา"
กว่าครึ่งของ 55 ชุมชนเมือง ทน.สงขลา เป็นคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ มีตั้งแต่ 1000 กว่าครัวเรือนจนถึงระดับไม่ถึงร้อยครัวต่อชุมชน กลุ่มประชากรเหล่านี้มาอาศัยที่ดินของราชพัสดุบ้าง การรถไฟบ้าง เจ้าท่าบ้าง วัดก็มี เอกชนก็มี
เมื่อประสบเหตุภัยพิบัติ ความที่ไม่มีโฉนดที่ดินของตนเอง หน่วยงานเช่น ท้องถิ่น หรือส่วนงานอื่นไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือดูแลได้ตามสิทธิ์ที่พึงมี
ชุมชนบาลาเซาะห์ แยกตัวมาจากชุมชนเก้าเส้ง วิถีประมงทำให้ต้องอยู่ติดริมฝั่ง สภาพความเป็นอยู่แออัดยัดเยียด บางครัวอาศัยกันกว่าสิบชีวิต ด้านหน้าติดทะเล ด้านข้างติดคลองสำโรง การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาหนัก ทุกปีต้องเปิดช่องให้น้ำจากคลองสำโรงไหลออกสู่ทะเล
คลองสำโรง ณ วันนี้คือคลองตาย กลิ่นเหม็นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อย้อนเส้นทางไปยังต้นน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือนก็มีแผนจะสร้างเป็นระยะ
เมื่อคลองกลายเป็นคู เบื้องหน้าริมถนนคือความสวยงาม แต่เบื้องหลังคือความเน่าเหม็นสกปรก
ชุมชนสนามบิน อาศัยอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุให้เช่าชั่วคราว ต่อสัญญา 3 ปีบ้าง 1 ปีบ้าง มีอยู่หย่อมหนึ่งที่กำลังเผชิญความไม่แน่นอน ที่นี่ถูกราชการหรือท้องถิ่นบางชุดมองว่าเป็นจุดรับแขกเมืองทางสายตา แต่มีทัศนะอุจาดคือ ร้านซ่อมรถริมถนน "ร้านที่มีล้อบนหลังคา" ควรจะต้องไม่ต่อสัญญาเช่า พัฒนาพื้นที่เป็นส่วนหย่อมหรือให้เอกชนใช้ ประโยชน์
แล้วใครหนอจะมีสิทธิ์ในการใช้ที่ดินเหล่านี้ ใครตัดสินใจ...ชุมชนตัวเล็กๆมีสิทธิ์มีเสียงหรือไม่ หรือถูกมองเป็นผู้บุกรุก
ชุมชนศาลาเหลืองเหนือ บางซอยอยู่ในที่ดินของอดีตประธานชุมชน เช่าที่ดินพร้อมสร้างบ้านแบบตามมีตามเกิด อยู่กันมายาวนาน เจ้าที่ขึ้นค่าเช่าเป็นเดือนละ 1 พันบาท ฝนตกทีไรน้ำท่วมขังในบ้านทุกที แต่ก็ต้องจำยอม แลกกับการได้มีงานรับจ้างเล็กๆน้อยๆประทังชีวิต
ชุมชนแหลมสนอ่อน กำลังถูกสั่งไล่รื้อยกชุมชน อาศัยที่ดินราชพัสดุที่คาราคาซังกับการขอเช่า ถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อย ต้องย้ายออกไปเพื่อให้ราชการพัฒนาเป็นสวนหย่อม แหล่งท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
ไม่พักพูดถึงปัญหายาเสพติด และอื่นๆ ประชาชนเหล่านี้พวกเขามีสิทธิ์มีเสียงเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหรือไม่ ลำพังปัญหาภายในก็เหนื่อยหนัก ผู้คนมาจากต่างถิ่นต่างที่ อาศัยร่วมกัน บางคนมาก็ไป บางหลังส่งต่อขายสิทธิ์ทั้งที่ไม่มีโฉนด แต่ความเป็นเมืองก็ยังมีโอกาสได้หาเงิน หางาน จึงต้องก้มหน้าก้มตาสู้ต่อ
เหล่านี้คือภาพสะท้อนที่คณะทำงาน SUCCESS เมืองบ่อยาง มูลนิธิชุมชนสงขลา ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พบเห็นด้วยสายตาเมื่อลงพื้นที่ชุมชนซึ่งเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาประเมินความเปราะบางของเมือง ประกอบด้วยชุมชนบาลาเซาะห์ สนามบิน ศาลาเหลืองเหนือ และแหลมสนอ่อนดังกล่าว เป็นเสมือนตัวแทนชุมชนที่สะท้อนความจริงอีกด้านของเมือง
บันทึก ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567