"SUCCESS 12 เมือง"
"SUCCESS 12 เมือง"
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เครือข่ายเมืองทั้งอิสานและภาคใต้ 12 เมือง ภายใต้โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง(SUCCESS) โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ได้ร่วมนำเสนอผลการประเมินความเปราะบางของเมือง
เมืองที่เข้าร่วมมีทั้งเมืองหลัก เมืองบริวาร เมืองระดับอำเภอ ตำบล และมีลักษณะเป็นเมืองหลักที่เติบโตเต็มที่มีทั้งความเจริญทางวัตถุ การบริโภคแต่ก็เต็มไปด้วยประชากรแฝง คนจนเมืองที่มีปัญหาความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย การเข้าถึงสิทธิ์พื้นฐาน เมืองบริวารที่กำลังขยายตัวจากชุมชนเกษตรมาเป็นเชิงท่องเที่ยว เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย และเมืองชายแดนที่ประสบปัญหาจากประเทศเพื่อนบ้านหรือการค้าชายแดน
พบปัญหาร่วมจากการใช้ประโยชน์ที่ดินขาดความสมดุล เมืองกำลังขยายตัวเพื่อที่อยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์มากขึ้น หากป้องกันไม่ดีต่อไปจะมีประชากรแฝง/คนจนจำนวนมากเข้ามาอยู่อาศัย ดังเช่นหัวเมืองหลักในแต่ละภูมิภาคเป็นอยู่ การขยายตัวเช่นนี้ส่งผลให้พื้นที่สีเขียวลดลง ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง มีการถมที่ขวางทางน้ำ เปลี่ยนทางน้ำ ผังเมืองเองเปลี่ยนไปทั้งเกิดจากนโยบายให้แก้สี หรือไม่สามารถควบคุม อีกทั้งกระบวนการทำผังเมืองยังขาดการมีส่วนร่วม และยังพบโครงการขนาดใหญ่ หน่วยงานส่วนกลางที่ลงมาใช้ประโยชน์แต่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบให้กับเมือง
ขณะที่ชุมชนอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้น มีชุมชนรูปแบบใหม่ที่มีคนหลากหลายมาอยู่ด้วยกัน ทั้งคนใน คนต่างถิ่น ต่างด้าว ซึ่งไม่ได้อยู่ในสาระบบของการจัดการของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ทุนสำคัญที่ชุมชนใช้ในการรับมือและปรับตัวกับภาวะความเสี่ยงจากพิบัติภัยคือ ทุนมนุษย์(ความรู้ เงินออม) และทุนทางสังคม(ญาติพี่น้อง เครือข่าย) หน่วยงานช่วยเหลือได้น้อยมาก แถมไม่ตรงจุด ยกเว้นสิทธิพื้นฐาน และแนวทางแก้ปัญหาของหน่วยงาน เน้นแก้ปัญหาตามสภาพปัญหาที่เคยเกิด ซึ่งเมื่อได้โครงการลงมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของปัญหาไปแล้ว ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความผันผวน ไม่แน่นอน ไม่เกิดซ้ำอยู่กับที่ ทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณ ไม่ได้ผล หรือแก้ปัญหาหนึ่งแต่สร้างปัญหาอื่นตามมา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ให้ความสำคัญ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นภาวะปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงน้ำแล้ง และภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น
แนวทางแก้ปัญหา อาทิ
1.กลไกกัลยาณมิตรในการปรึกษาหารือ สอดคล้องกับภูมินิเวศ เป็นพหุภาคี มีความต่อเนื่อง สามารถประสานความร่วมมือ กำหนดทิศทาง แผน/ข้อตกลง จัดการความรู้ และประเมินติดตามผล
2.ร่วมสร้างชุมชนใหม่ เพิ่มทุนสำคัญที่ชุมชนใช้ในการรับมือและปรับตัวคือ ทุนมนุษย์(ความรู้/การสื่อสาร/การเข้าถึงระบบเตือนภัย) ทุนทางสังคม(เครือข่าย) และการเงิน(ธุรกิจเพื่อชุมชน) และความหลากหลายของระบบนิเวศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ
3.การสื่อสารสาธารณะให้เกิดความรู้ร่วม ถึงปัญหาอุปสรรคการพัฒนา การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะ ให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารจัดการจากส่วนกลางให้ท้องถิ่น ชุมชนมากขึ้น
หมายเหตุ 12 เมืองประกอบด้วย เมืองบ้านไผ่ เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เมืองสามพร้าว เมืองหนองสำโรง จ.อุดรธานี เมืองสระใคร เมืองหนองคาย จ.หนองคาย และภาคใต้ เมืองละงู จ.สตูล เมืองโตนดด้วน จ.พัทลุง เมืองบ่อยาง เมืองควนลัง เมืองพะตง เมืองปาดังเบซาร์ จ.สงขลา
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567