"การสร้างคนตามแนวทางของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน"
"การสร้างคนตามแนวทางของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน"
มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้กับน้องๆ 6 คนที่มาจากสกล พิษณุโลก นครราชสีมา ซึ่งเข้าร่วมโครงการสร้างคน สร้างผู้ประกอบการของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน ณ บริษัทแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำจำกัด ตามแนวทาง Active Learning หลักสูตรนี้ผู้เข้าเรียนจะต้องจบมัธยมต้น เรียนจบจะได้วุฒิการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรสกลนคร หรือไม่ก็มัธยมปลายเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่มอ.สงขลา
เด็กๆเหล่านี้อายุเพียง 16-18 ปี อาศัยแรงจูงใจทั้งจากตัวเองสมัครเข้าเรียนด้วยต้องการเรียนรู้การเกษตรแบบผสมผสาน ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว บางส่วนต้องการแบ่งเบาภาระที่บ้าน ด้วยหลักสูตรนี้กินฟรีอยู่ฟรี ในลักษณะโรงเรียนประจำ บางคนพ่อแม่ต้องการให้ปรับพฤติกรรม
เริ่มด้วย 4 เดือนแรก ทุกคนที่สมัครเข้ามาและผ่านการสอบสัมภาษณ์จะต้องเข้าไปอยู่ ณ ศูนย์เรียนรู้ที่วิทยาลัยเกษตรสกลนคร ที่นี่เด็กๆจะต้องช่วยตัวเอง เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเองและการทำงานเป็นกลุ่มโดยมีพี่เลี้ยงทำหน้าที่เพียงตั้งโจทย์ให้เด็กๆได้ค้นหาคำตอบจากการลงมือทำ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเรียนรู้ใหม่นี้ ทุกคนจะตื่นตั้งแต่ตี 4 ออกกำลังกาย/ทำสมาธิ จากนั้นลงแปลงฝึกจนถึงเช้า พักรับประทานอาหารเช้า(จะมีเวรช่วยทำ คิดเมนูเอง หาวัตถุดิบเอง) จากนั้นลงแปลงตามความสนใจเป็นกลุ่ม ซึ่งแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน จนถึงเที่ยง พักอีกนิดหน่อย จากนั้นลงแปลง จนเย็นจึงพัก รับประทานอาหาร สรุปผลการเรียนรู้ในแต่ละวัน จากนั้นอาบน้ำ หลับนอน กิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะมีช่วงการผ่อนคลาย นันทนาการ
เด็กๆเล่าว่า รูปแบบการเรียนรู้เช่นนี้ ต่างจากห้องเรียนปกติเป็นอย่างมาก และต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากัน โดยมีกฏระเบียบ และพี่เลี่้ยงคอยดูแล หากมีการทำผิดก็จะมีการลงโทษร่วมกัน วินัยที่เข้มงวดบวกกับการลงแปลงพืชผสมผสาน ทั้งเหนื่อยและหนักทำให้มีเด็กจำนวนหนึ่งลาออกไป หรือผิดไปจากความคาดหวัง
เด็กที่ฝ่าด่านแรกไปได้ จะถูกส่งไปอยู่กับสถานประกอบการ(ภาคเอกชนเครือข่ายหอการค้าในแต่ละจังหวัดซึ่งผ่านหลักสูตร BCL จากดร.นิกร วัฒนพนม) เพื่อเป็นจุดเรียนรู้จากการลงมือทำในฐานะผู้ประกอบการ สร้างงานและรายได้เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูตัวเอง โดยมีพี่เลี้ยงจากสถานประกอบการนั้นและพี่เลี้ยงที่เป็นเกษตรกรทำหน้าที่เป็นครู คอยกระตุ้น ตั้งคำถาม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ เด็กๆจะต้องลงมือทำทุกอย่างตั้งแต่ค้นหาพืชผสมผสานที่จะปลูก การจัดการปัจจัยการผลิต การตลาด
ณ เวลานี้เด็กๆทั้ง 6 คนที่มาจากรุ่นที่ 1 และ 2 มาอยู่ที่บริษัทแปซิฟิคฯนี้แล้ว 7 เดือน ได้ลงมือปลูกมะละกอ ชะอม ฯลฯ ด้วยตนเอง จนเกิดผลผลิตรุ่นแรกแล้ว
การเรียนรู้ตามความสนใจและผ่านการลงมือปฎิบัตินี้ บวกกับได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาคน ผนวกกับช่วงอายุที่กำลังเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การมีวินัย และมีความรับผิดชอบ พร้อมทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เด็กๆได้รับการพัฒนา จนเกิดความมั่นใจ และใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา
นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเด็กๆหรือผู้ปกครองที่สนใจ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนรู้ในระบบอยู่มาก โครงการต้องการเปิดรับผู้เรียนอีกมาก ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟชบุ๊คยุวชนคนเกษตร
https://www.facebook.com/Empirical.learning.Essence.of.life/
จากที่ถามเด็กๆ ช่วงเรียนรู้พื้นฐานที่สกล มีหลายอย่างที่เด็กๆไม่เข้าใจหรือยังต้องการความรู้เพิ่มเติม...ผลผลิตที่ได้ที่บริษัทฯนี้ ดินไม่สมบูรณ์ ต้องปรับสภาพดินก่อนปลูก ซึ่งต้องใช้เวลา การออกแบบการทำงานล่วงหน้าจะช่วยลดอุปสรรคเหล่านี้ลงได้ครับ หรือปลูกพืชชนิดอื่นที่สามารถทดแทนไม้ผลที่ต้องการเวลาเติบโต
มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากมุมมองของผู้เขียน(ชาคริต โภชะเรือง)
1.การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์มีความลึกซึ้งและหลากหลาย ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะต้องใช้เวลาในการเติบโต กว่าจะเข้าใจได้จะต้องผ่านเวลา ฤดูกาล เหล่านี้คืออุปสรรคการเรียนรู้ที่ไม่อาจเร่งรัด ให้เด็กๆสามารถนำความรู้ไปลงมือทำด้วยตนเองได้ แม้จะเป็นการลองผิดลองถูกได้ก็ตาม ควรเพิ่มหลักสูตรพื้นฐานเรื่องดิน ระบบนิเวศ มาตรฐาน ความรู้พื้นฐานจะช่วยให้เด็กสามารถเติมเต็มประสบการณ์ก่อนที่จะส่งมาให้ลองทำในฐานะผู้ประกอบการ จะช่วยลดความเสี่ยงและเด็กๆจะได้รับความรู้ที่ถูกต้องไปด้วย
2.การขยายผล สามารถปรับแนวคิดนี้ไปใช้กับเด็กทั่วไป หรือสร้างความหลากหลายของหลักสูตรตามสภาพเด็กด้วยครับ มิเช่นนั้น เราจะได้แค่เด็กที่ยากจน ผู้ปกครองต้องการลดภาระ หรือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เข้าใจว่าผู้ออกแบบหลักสูตรก็คงไม่ได้ต้องการเช่นนั้น แต่สภาพความเข้าใจหรือเจตคติทางสังคมจะทำให้เด็กทั่วไปไม่สมัครเข้ามา ควรจะมีหลักสูตรสำหรับผู้ปกครองที่เข้าใจและต้องการให้ลูกหลานเข้ามาลองเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของผู้เรียนและนำไปขยายผลเชิงนโยบาย เพราะหากนำเด็กๆในรุ่น 1 รุ่น 2 มาขยายผล จะไม่อาจทำลายเจตคติทางสังคมลงได้
หมายเหตุ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน(The Foundation for Business and Community-BCL) เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร มีเป้าหมายในการสร้างคน ที่เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ อันจะนำไปประยุกต์ใช้ในโลกปัจจุบันและอนาคตให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคม นำโดย รศ.ดร.นิกร วัฒนพนม
ชมคลิป
Relate topics
- จดหมายข่าวโครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง (SUCCESS) ฉบับที่ 1 - 10
- ก้าวที่ 1 ของ iMedCare ธุรกิจเพื่อสังคมของสงขลา"
- "แผนผังภูมินิเวศ"
- เครือข่าย SUCCESS เมืองควนลังร่วมงานส้มโอเมืองควนลังปี 2567
- "ทีม iMedCare วิถีผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน"
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 11 - 21
- อังกฤษที่ผมเห็น ตอนที่ 1 - 10
- "iMed@home ระบบกลุ่ม"
- สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลาชูวาระ "พลิกโฉมพลังพลเมืองสงขลาเพื่อสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน"
- กิจกรรมรับบริจาคโลหิตประชารัฐสงขลาประจำเดือนตุลาคม 2567