คนจนเมืองสงขลา ผันตัวเป็นผู้ประกอบการ ดีขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ แต่ชุมชนเช่า – บุกรุกที่ดินยังสูง
คนจนเมืองสงขลา ผันตัวเป็นผู้ประกอบการ ดีขึ้นในเชิงเศรษฐกิจ แต่ชุมชนเช่า – บุกรุกที่ดินยังสูง
เปิดงานวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” กรณีคนจนเมืองสงขลา นักวิชาการเสนอ เปิดพื้นที่ทำมาหากิน – เข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก “ตั้งสภาเมือง” สร้างการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม
'รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์' คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งศึกษาในพื้นที่ชุมชนคนจนเมืองในเขตเทศบาลเมืองสงขลา เปิดเผยข้อมูลการศึกษาว่า ด้วยกายภาพการตั้งอยู่ของเมืองที่สามารถเชื่อมต่อได้หลายประเทศ จึงถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักและเมืองศูนย์กลางของการเป็นเมืองท่าส่งออกสินค้า การคมนาคมขนส่ง การค้า และการบริการ
จากการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเมืองพบว่า การพัฒนาที่เชื่อมโยงฐานการผลิตที่เป็นแหล่งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทำให้พื้นที่กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเป็นประตูการค้า (gateway) เป็นเมืองแห่งการค้าชายแดน รวมถึงการกำหนดให้เป็นเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยผังที่ตั้งที่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึกของสงขลา ท่าเรือปีนัง ท่าเรือมาเลเซีย สนามบินหาดใหญ่ที่เชื่อมต่อไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อธุรกิจประมงเชิงพาณิชย์ และการขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนดึงดูดแรงงานทั้งจากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาทำงานในเมืองสงขลามากขึ้น
ซึ่งการขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ซึ่งเป็นแผนฉบับแรกที่ได้ระบุสาระสำคัญของการพัฒนาเมืองเอาไว้อย่างชัดเจน ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ตามการขยายตัวและการเพิ่มขึ้นของประชากรเมือง เมื่อแผนพัฒนาเมืองเทศบาลสงขลาเน้นไปที่การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองหลัก เพื่อกระจายความเจริญลดความเหลือมล้ำ แต่ผลจากการวิจัยกลับชี้ไปในทางตรงกันข้าม คือ ในขณะที่เมืองพัฒนา การอพยพของคนเข้ามาในพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมคงเท่าเดิม หรือไปในทิศทางที่เลวร้ายลง
นอกจากนโยบายระดับชาติแล้ว รศ.ณฐพงศ์ ระบุว่า เทศบาลนครสงขลายังมีนโยบายพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาระดับชาติ เช่น การศึกษาใหม่รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีการพัฒนาโครงการพื้นฐานใหม่ เพิ่มไฟฟ้าให้สว่างทั่วเมืองสร้างทาง จักรยาน ปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ สร้างป่าในเมือง พลิกโฉมเมือง ด้วยวิสัยทัศน์ ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้เกิดการไล่รื้อ เรียกคืนพื้นที่ทำมาหากิน การเปลี่ยนมือการถือครองที่ดิน ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น
นโยบายการพัฒนาและผลกระทบ
เมื่อการพัฒนาเมืองมุ่งไปที่การส่งเสริมการพัฒนาเมืองเพื่อการค้า การขนส่ง หรือการทำให้เมืองเป็นสินค้า การส่งเสริมให้สงขลาเป็นเมือง “มรดกโลก” เมืองสีเขียวที่ทันสมัย (Green and Smart) การเข้าถึงพื้นที่การพัฒนา ทรัพยากร และความสะดวกสะบายที่ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้นด้วยการปรับเมืองที่ไม่ได้ตระหนักถึงความทรงจำของผู้คนร่วมเมือง คนจนเมืองไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารศ.ณฐพงศ์ และทีมนักวิจัยจึงมองว่า นี่เป็นการ ขับ ผลัก พวกเขาให้หลุดออกไปจากการพัฒนา
“คนจนไม่ได้ถูกให้อยู่ในขบวนการของการพัฒนาเมืองอยู่แล้ว เพราะนโยบายพัฒนาเมืองเขามักออกแบบเชิงเทคนิค มองที่ผังเมือง มองการพัฒนาแบบกายภาพ”
เขาบอกอีกว่า นักวางแผนและผู้กำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง ฝังผู้คน ชุมชนและคนจนเมืองด้วยภาพจำอันเลวร้าย ขณะที่พวกเขามีภาพฝัน ภาพอนาคตถึงการมีชีวิตที่ดีกว่าและหวังจะมีสิทธิร่วมกำหนดเมือง ซึ่งในงานวิจัย ระบุ ถึงข้อเสนอ 4 ด้าน
1) เปิด – คืนพื้นที่ทำมาหากิน การประกอบการ รวมถึงการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม ที่ทำให้คนจนหรือชุมชน สามารถเข้าถึงได้เหมาะสม สอดคล้องกับวิธีการดำรงชีพหรือประกอบการ
2) สร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และทำให้ผู้คนเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก ในรูปแบบของการแบ่งปัน จัดสรรใช้ประโยชน์ที่ดิน การทำบ้านเช่าในราคาที่เหมาะสมกับคนจนเมือง
3) สร้างเวทีสนทนาและพื้นที่อำนาจให้คนจนเมืองและคนร่วมเมือง มีส่วนต่อรองกันได้ ทั้งในเรื่องวิสัยทัศน์ นโยบาย ทิศทางการพัฒนาเมือง เพื่อการพัฒนาที่หลากหลาย
4) การกระจายอำนาจการบริหาร และตัดสินใจในการกำหนดอนาคตเมือง สู่ท้องถิ่น ประชาสังคม และภาคีร่วมเมือง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://theactive.net/news/20220126/
ขอบคุณข้อมูลจากเพจ The Active
Relate topics
- "kickoff รถรับส่งผู้ปวยตำบลควนโส"
- "รถเติมสุขอำเภอนาทวี"
- "รถเติมสุขอำเภอสะบ้าย้อย"
- "พัฒนาระบบรถรับส่งผู้ป่วยพบแพทย์ตำบลคูหา"
- "ประชุมทีมเครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา"
- "พัฒนาระบบบริการรถรับส่งผู้ป่วยพบแพทย์ อบต.บาโหย"
- พัฒนาPlatform รองรับบริการรถรับส่งสาธารณะจ.สงขลา
- กลางเดือนมีนาคม 2568 ดีเดย์เริ่มทดลองวิ่งรถบริการ
- การเก็บข้อมูลเพื่อปรับสภาพบ้านคนพิการติดเตียง
- "เครือข่ายเกษตรสุขภาพจังหวัดสงขลา" ประชุมแกนคณะทำงานครั้งที่ 1/2568